ความตายบนถนนติดอันดับโลกของไทยแก้ไม่ได้ด้วยเป้าจับกุมช่วงเทศกาล – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

                     

รัฐบาลทุกยุคสมัยได้กำหนดนโยบายในการลดอุบัติเหตุจราจรที่ทำให้ประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติล้มตายในแต่ละปีมากมายเฉลี่ยถึง 22,000 คน

มีผู้บาดเจ็บธรรมดาไปจนถึงสาหัสและถึงขั้นทุพพลภาพอีก หลายแสน!

โดยเฉพาะในเทศกาลต่างๆ ทั้งปีใหม่ ตรุษจีน และสงกรานต์ ช่วง 7 วันอันตราย

ได้กำหนดให้มีการดำเนินมาตรการเข้มข้นหลายรูปแบบอย่าง ต่อเนื่องกันมากว่าสิบห้าปี

แต่ในความเป็นจริง ต้องยอมรับกันว่าไม่ได้ประสบความสำเร็จแต่อย่างใด?

ไทยยังคงเป็นประเทศที่มีผู้คนถึงแก่ความตายจากอุบัติเหตุจราจรสูงอันดับหนึ่งของโลกตลอดมา

สาเหตุสำคัญซึ่ง กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  มูลนิธิเมาไม่ขับ แถลงอยู่ทุกปี ทั้งที่ รัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการ  “ไม่มีอำนาจ”  ควบคุมหรือสั่งการหน่วยงานตำรวจอะไรแม้แต่หน่วยเดียวก็คือ การมีพฤติกรรมเมาแล้วขับ การใช้ความเร็วเกินกำหนด และฝ่าฝืนกฎจราจรต่างๆ

ทั้งๆ ที่ไทยเป็นประเทศที่มีตำรวจตั้งด่านตามถนนหนทางอยู่แทบทุกสาย โดยข้ออ้างว่าเพื่อสกัดคนเมาและผู้ขับรถเร็ว รวมทั้งเพื่อป้องกันโจรผู้ร้าย

ในขณะที่ประเทศเจริญทั่วโลก ซึ่งมีปัญหาอาชญากรรมและอุบัติเหตุจราจรต่ำ ไม่ได้มีการตั้งด่านตรวจจับและตรวจค้นประชาชนบนถนนหนทางต่างๆ เลย!

คำถามก็คือ แล้วเหตุใดประเทศไทยจึงยังปรากฏผู้ฝ่าฝืนกฎจราจรอยู่มากมาย?

คำตอบแบบตรงไปตรงมาก็คือ ระบบงานรักษากฎหมายของชาติไร้ประสิทธิภาพอย่างแท้จริง นั่นเองและ การตั้งด่าน ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาอาชญากรรมและอุบัติเหตุจราจรที่ถูกต้องแต่อย่างใด?

เพราะนอกจากจะเป็นการกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ทางหลวง มาตรา 39  ที่บัญญัติว่า

“ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อยานพาหนะหรือบุคคล”

ก่อให้เกิดอันตรายเสียเอง ผู้ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกถึงสามปี แล้ว

ยังเป็นการละเมิด เสรีภาพในการเดินทาง  ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 38 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เป็น คนยากจน เนื่องจากจะถูกเรียกให้หยุดรถขอตรวจค้นมากกว่าคนรวย

รวมทั้งเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตฉ้อฉล “จับผู้ต้องหาเรียกค่าไถ่” แล้วปล่อยตัวไปได้ง่ายอีกด้วย

องค์ประกอบของความปลอดภัยในการสัญจรบนถนนที่สำคัญมี3ประการก็คือ
1.ถนนดี

2.มีสภาพรถและการบรรทุกตามมาตรฐานสากล

3.คนขับรถมีความสามารถได้รับอนุญาต ร่างกายและจิตใจพร้อมตลอดเวลา

การก่อสร้างและการรักษาถนนให้อยู่ในสภาพดี เป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท รวมทั้งถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ

  ความตายบนถนน

มี พ.ร.บ.ทางหลวงเป็นเครื่องมือตรวจตราป้องกันมิให้ผู้ใดทำให้ทางหลวงเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการทำวัสดุตกหล่น การบรรทุกน้ำหนักเกินทำให้ผิวทางชำรุด อุปกรณ์แสงสว่างและเครื่องหมายต่างๆ ถูกลักขโมย

รถบรรทุกน้ำหนักเกินและมีสภาพการบรรทุกที่ผิดกฎหมาย หินดินตกหล่นต้องแล่นไม่ได้

เพราะนอกจากก่อให้เกิดอันตรายทั้งจากปัญหา การแล่นช้า การเบรกและการแซง แล้ว  จะทำให้ถนนเสียหายเป็นลูกคลื่นในเวลาอันรวดเร็วเกินกว่าความสามารถและงบประมาณในการซ่อมแซมอีกด้วย

แต่ปัญหาคือ ตำรวจทางหลวงยังคงเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แทนที่จะเป็นกรมทางหลวงตามหลักสากล และมติสภาปฏิรูปและมติคณะรัฐมนตรีที่มีไว้เมื่อห้าปีที่แล้ว?

สำหรับสภาพรถ เป็นหน้าที่หลักของกรมการขนส่งทางบกในการตรวจสภาพประจำปี รวมทั้งอาจมีการตรวจตราตามถนนหนทางต่างๆ ให้ผู้ขับรถปฏิบัติตาม พ.ร.บ.รถยนต์ และ พ.ร.บ.ขนส่งได้

แต่ในส่วน  พฤติกรรมการขับรถ มี พ.ร.บ.จราจรทางบก เป็นเครื่องมือกำกับอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจแห่งชาติแต่เพียงหน่วยเดียว

ในช่วง 7 วันอันตราย ได้มีการกำหนดเป้าให้กองบังคับการและสถานีตำรวจจับกุมแต่ละข้อหาตามที่ได้รับคำสั่งเป็นทอดๆ มา

ที่เน้นกันทุกปีก็คือ ข้อหาเมาแล้วขับ

ตำรวจแทบทุกสถานีก็จะใช้วิธีไป “ตั้งด่าน” ดักจับคนที่กลับจากงานเลี้ยง หรืองานฉลองต่างๆ ที่ขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์กลับบ้านในหมู่บ้านหรือตำบลของตน

เนื่องจากถนนสายหลักระหว่างจังหวัด จะหาคนเมาขับรถได้ยาก เพราะคนเดินทางไกลส่วนใหญ่ไม่มีคนปกติคนใดดื่มเหล้าแน่นอน

ผลคือ 1,460 สถานี ได้ผู้ต้องหาเมาขับตามเป้าแทบทุกแห่ง

ท่ามกลาง “เสียงสาปแช่ง” ของประชาชนโดยเฉพาะคนยากจนในหมู่บ้าน

เมื่อบรรลุเป้าในช่วงเจ็ดวันแล้ว ก็หยุดจับ

เนื่องจาก ที่เหลืออีก 358 วัน รัฐบาลไม่ได้กำหนดเป้าอะไร ว่ากันตามสบาย!

ที่ต้องสนใจก็คือ ยอดและเป้าของ “เจ้านาย” ในแต่ละเดือนเท่านั้น?

สาเหตุสำคัญที่ทำให้การแก้ปัญหาอุบัติเหตุในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงก็คือ

          1.การขาดเอกภาพในการบังคับบัญชาของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ โดยเฉพาะระดับจังหวัด

          2.ปัญหาการสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือมีการทุจริตล้มคดี เนื่องจากไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก โดยเฉพาะพนักงานอัยการตามหลักสากล

การขาดเอกภาพในการบังคับบัญชาก็เช่น มีการแต่งตั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันอุบัติเหตุทางถนนระดับชาติ และระดับจังหวัดก็ให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้รับผิดชอบ โดยที่รัฐมนตรีไม่มีอำนาจควบคุมสั่งการ ผบ.ตร. และผู้ว่าฯ ก็ไม่มีอำนาจสั่ง ผบก.ตำรวจซึ่งเป็นหน่วยงานรักษากฎหมายสำคัญในจังหวัดแต่อย่างใด

การประชุมเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่กระทรวงมหาดไทย ผบ.ตร.ก็ไม่ได้เข้าประชุมด้วยตนเอง

และปัจจุบัน ผู้บังคับการตำรวจส่วนใหญ่ก็ไม่เคยเข้าประชุมจังหวัดประจำเดือนเช่นกัน

เนื่องจากไม่ต้องการตอบคำถามผู้ว่าฯ หรือหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดเกี่ยวกับปัญหาแหล่งอบายมุข รถบรรทุกหนัก หรือทำดินตกหล่น รวมทั้งปัญหาอุบัติเหตุและการฝ่าฝืนกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น!.

ความตายบนถนน

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 6 ม.ค. 2563

About The Author