‘หมอพรทิพย์’สิ้นหวังปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่มีสาระสำคัญเหมือนซื้อเวลาซัดหน่วยงานรัฐไม่ใส่ใจนายไม่สั่งก็ไม่ขับเคลื่อน

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.2562 แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์     สมาชิกวุฒิสภา    ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และการตำรวจ วุฒิสภา  ,  กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม  , อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)  และผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว #เรื่องเล่าจากห้องประชุมกรรมาธิการ ระบุว่า

วันนี้มีประชุมติดตามการปฏิรูปประเทศที่มีการเรียกร้องหลังจากเกิดความวุ่นวายทางการเมืองที่ผ่านมา หลังจากนั้นมีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือสปช. รวบรวมประเด็นแยกตามหัวข้อการปฏิรูป จากนั้นรัฐบาลก็ตั้งสภาปฏิรูปประเทศหรือสปท. ประเด็นการปฏิรูปถูกปรับตามที่สมาชิกสปท.สนใจปรับตามนโยบายรัฐบาลที่ไม่ให้เสนอประเด็นใหม่แต่ให้เอาประเด็นเดิมมาเลือก หลังจากสปท.หมดวาระก็มีการตั้งกรรมการปฏิรูป ซึ่งรัฐบาลสั่งให้เอาQuick winซึ่งก็กลายเป็นประเด็นง่ายๆแทนประเด็นที่สำคัญ ประเด็นจำเป็น หลังเลือกตั้งรัฐธรรมนูญกำหนดบทบาทให้สว.ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบเร่งรัดการปฏิรูปซึ่งรัฐบาลมอบสภาพัฒน์ดูแล ทุกครั้งที่สภาพัฒน์มารายงานต่อสภา ก็จะมีข้อมูลว่า”กำลังดำเนินการ”ซึ่งความจริงคือยังไม่ได้ทำอะไรหรือยังไม่มีอะไรคืบหน้าจากหน่วยงาน

มาวันนี้นโยบายรัฐบาลเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อต้นเดือนธันวาคม มองไปมองมาเหมือนการซื้อเวลา หน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ นายไม่สั่งก็ไม่ขับเคลื่อน ไม่มีงบไม่ให้งบก็ไม่ต้องทำอะไร บางหน่วยเสนอโครงการแผนงานตามแนวทางการปฏิรูปก็ถูกลดและตัดงบประมาณโดยสส.สภาพการเมืองที่มีแต่การประลองกำลัง เพลี้ยงพล้ำไปมา ประชาชนจึงไม่ได้รับประโยชน์จากเรื่องราวดีๆเช่นนี้ วันนี้ได้เล่มใหม่มา รีบเปิดดูด้านกระบวนการยุติธรรมไม่พบสาระสำคัญดีๆแต่อย่างใด

บทเรียนกรณีฆาตกรต่อเนื่องสมคิด พุ่มพวงที่สะท้อนปัญหาทั้งเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดและปัญหาสังคมจะไม่สามารถปฏิรูปใดๆได้เลย น่าสนใจว่าการดำเนินคดีที่ผ่านมาใช้หลักฐานอะไร ทำไมการรับสารภาพจึงเป็นประโยชน์ส่งผลให้ลดโทษ ทำอย่างไรภารกิจของราชทัณฑ์จะมีโอกาสวินิจฉัย รักษา บำบัด ฟื้นฟู วิเคราะห์ปัญหาเพื่อหาทางควบคุมและป้องกันการกลับมากระทำผิดซ้ำซึ่งปัจจุบันไม่สามารถทำอะไรได้เลย นักโทษยาเสพติดล้นคุกจนทำได้เพียงการระบายนักโทษออกจากเรือนจำ การขาดระบบฐานข้อมูลกลางที่ไม่ได้ขาดข้อมูลแต่เป็นเพราะการหวงข้อมูล การไม่ยอมบูรณาการกัน นำไปสู่ความผิดพลาดในการลดโทษ รวมถึงการปล่อยตัว เล่ามาก็ด้วยความรู้สึกห่วงไย ไม่รู้ว่าจะทำอะไรได้หรือไม่

พรทิพย์ โรจนสุนันท์
พรทิพย์ โรจนสุนันท์

About The Author