ยัดข้อหาอนาคตใหม่กู้เงินเป็นหนี้ ไม่มีกฎหมายห้าม ทำผิดอะไร ต้องอธิบาย -พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
กรณี กกต.มีมติ 5 : 2 เห็นควรยุบพรรคอนาคตใหม่ เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยด้วยเหตุผลว่า ฝ่าฝืน พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 72 ในเรื่อง
“ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรครับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยมิชอบ”
ก่อให้เกิดปฏิกิริยาทั้งจากกรรมการบริหารและสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ และประชาชนผู้ออกเสียงลงคะแนน กว่า 6 ล้านคน รวมไปถึงแนวร่วมผู้สนับสนุนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในโลกโซเชียล
ทุกคนต่าง คับแค้นใจ รู้สึกว่าสังคมไทยไร้ความยุติธรรม สุดเลวร้าย
ไม่มีความเป็นนิติรัฐหรือรัฐประชาธิปไตยที่ “ปกครองโดยกฎหมาย” ตามที่ผู้มีอำนาจหลายคน “พร่ำบอก” ต่อประชาชนแต่อย่างใด
แม้กระทั่งองค์กรที่เรียกว่าอิสระ ไม่ว่าหน่วยใด ประชาชนก็ไม่สามารถพึ่งพาแสวงหาความยุติธรรมได้ อนาคตของประเทศในวันข้างหน้า ยิ่งถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบพรรค ตามที่ กกต.ยื่นคำร้องจริง จะเป็นอย่างไร จะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายเหมือนฮ่องกงหรือไม่ ไม่มีใครสามารถคาดเดาหรือยืนยันได้
แต่การวินิจฉัยของ กกต.ที่มีเงื่อนงำน่าสงสัยและไม่ได้ชัดเจนตามตัวบทกฎหมายและหลักนิติธรรมเช่นนี้ ประเทศคงมีความสงบสุขและความสามัคคีอย่างแท้จริงยาก!
เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้มีการชุมนุมของประชาชนจำนวนหลายพันคนหรืออาจนับหมื่นที่สี่แยกปทุมวันบริเวณสกายวอล์ก เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจและการวินิจฉัยที่ไม่เป็นธรรมของ กกต.ดังกล่าว
บางคนก็พูดอย่างคับแค้นใจว่า เป็นเจตนาของผู้มีอำนาจที่ต้องการสกัดกั้นการเติบโตหรือ แม้กระทั่งการดำรงอยู่ ของพรรคอนาคตใหม่
เพื่อไม่ให้มีโอกาสเข้าสภาไปผลักดันนโยบายในการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ตามเสียงเรียกร้องต้องการของประชาชน
เมื่อพิจารณาเอกสารแถลงข่าว 8 บรรทัด ของ กกต. ก็ไม่ได้มีการอธิบายในประเด็นสำคัญของความผิดตามที่ประชาชนสงสัยแต่อย่างใด
เช่น เงินกู้ถือเป็นทรัพย์สินหรือ หนี้สิน กันแน่?
เพราะถ้าถือเป็นหนี้สินตามหลักบัญชีทั่วไป ก็ไม่ได้ผิดกฎหมายมาตราใด
แต่ถ้าอธิบายแบบมั่วๆ ว่า แม้ไม่ใช่ทรัพย์สิน แต่ถือเป็นประโยชน์อื่นใด เพราะพรรคได้เงินกู้มาใช้จ่าย ได้ประโยชน์แล้ว ก็อาจพอรับฟังได้กล้อมแกล้มเถลือกไถลไปแบบน้ำขุ่นๆ ได้!
แต่ที่สำคัญองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายมาตรานี้ ไม่ใช่แค่นั้น
อีกข้อหนึ่งที่ต้องมีอย่างสำคัญก็คือ เงินจำนวน 191 ล้านบาทเศษที่พรรคอนาคตใหม่กู้มาจากนายธนาธรนี้
กกต.มีพยานหลักฐานใดบ่งชี้ว่า นายธนาธรได้มา หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้จากแหล่งที่มิชอบด้วยกฎหมายจากที่ใด อย่างไร?
เช่น ได้จากการปล้นฆ่า ขนค้ายาเสพติดหรือของเถื่อนประเภทใด หรืออาจประกอบธุรกิจบ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมายเปิดเกินเวลา หรือ “อาบอบนวดค้ามนุษย์” ที่ตำรวจผู้ใหญ่หลายคนก็เคยไปกู้ หรือรับส่วยอยู่ทุกเดือน
โดยกรรมการบริหารพรรคแต่ละคน ต้องรู้ หรือ ควรจะรู้ ถึงการได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมายของนายธนาธร ที่ทำให้ได้เงินจำนวน 191 ล้านมานั้นด้วย
แต่ทั้งสองประเด็นที่สำคัญอย่างยิ่งนี้ กกต.ไม่ได้มีการอธิบายหรือแม้แต่พยายามกล่าวถึงในเอกสารการแถลงข่าว 8 บรรทัดนั้นเลย!
กกต.อาจจะอ้างแบบตำรวจและอัยการไทยว่า นี่เปรียบเสมือนขั้นตอนการสอบสวนที่สรุปสำนวนโดยอาศัย หลักฐานอันควรเชื่อ เพียงเพื่อนำไปสู่การยื่นคำร้องให้ยุบพรรคตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 92 (3)
คือ สงสัยก็เสนอให้ฟ้องและสั่งฟ้อง เพื่อไม่ให้ต้องถูกครหาว่าล้มคดี
ส่วนผลสุดท้ายจะมีความผิดถูกยุบพรรคจริงหรือไม่ อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย!
อย่างไรก็ตาม ความผิดกรณีพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์ หรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล ซึ่งได้มาจากอาชญากรรมการทำผิดกฎหมาย ถือเป็นเรื่องใหญ่!
บทลงโทษไม่ใช่มีแค่เฉพาะเรื่องการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคตามมาตรา 92 วรรคท้ายเท่านั้น
แต่ยังมีโทษอาญาตาม มาตรา 126 จำคุกคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ฝ่าฝืนทุกคน ถึงสามปี อีกด้วย
หลักความยุติธรรมสากลในการลงโทษทางอาญาต่อบุคคลทุกชาติทุกภาษาในปัจจุบันก็คือ ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ
นอกจากนั้น การที่ศาลจะลงโทษบุคคลใดในทางอาญาได้ ก็ต้องยึดหลัก “การพิสูจน์จนสิ้นสงสัย” Proof beyond reasonable doubt
ต่างไปจากศาลรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ให้พิจารณาเพียง “มีหลักฐานอันควรเชื่อ” เท่านั้น
การกู้เงินจากบุคคลซึ่งไม่ได้มีที่มาหรือการอธิบายว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายอะไรมาใช้ในการบริหารพรรค เป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ซึ่งมีโทษจำคุกถึงสามปีอย่างไร?
อัยการมีหน้าที่ต้องแสดงพยานหลักฐาน โดยนำพยานบุคคลคือกรรมการ กกต.ทุกคนขึ้นเบิกความให้ศาลอาญารับฟังได้ อย่างปราศจากข้อสงสัย
ศาลจึงจะพิพากษาลงโทษจำคุกกรรมการบริหารพรรคทุกคนได้
อันที่จริง กกต.ต้องกล่าวหาดำเนินคดีอาญาก่อน เมื่อสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานได้ชัดเจนจนอัยการ สั่งฟ้อง รวมทั้งศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษแล้ว
จึงค่อยนำคำพิพากษานั้นไปสู่การยื่นให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ต่อไป
แต่เหตุใดกรณีนี้ กกต.จึงมุ่งไปที่การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนรู้ผลคดีอาญา
จะไม่ให้ประชาชนสงสัยในเจตนาได้อย่างไร?.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 16 ธ.ค. 2562