ตร.ผู้น้อย“ยัดยา”ตร.ผู้ใหญ่“ค้าตำแหน่ง” “รับส่วย” ใครจะช่วยประชาชนให้พ้นทุกข์ – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

               กรณีเมื่อวันที่ 13 พ.ย.62 เวลา 02.00 น. นายโสภณ วงษ์สวัสดิ์ ได้ขับรถบรรทุกยางพาราจะไปส่งที่จังหวัดระยอง ขณะมาถึงอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ได้ถูกด่านตำรวจ ที่ปิดกั้นถนน เรียกให้หยุดรถ ขอตรวจค้น

ตำรวจคนหนึ่งบอกว่า ไฟท้ายไม่ติด ทำให้ต้องลงจากรถมาดู แต่ก็ไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไร?

ขณะนั้นก็ได้มีตำรวจสองคนผลัดกันปีนขึ้นไปบนรถด้านคนขับ

โดยไม่ได้แจ้งหรือบอกกล่าวอะไรให้นายโสภณรู้ เพื่อตามไปดูว่าจะตรวจค้นหรือทำอะไร!

ตำรวจคนแรกใช้ไฟฉายส่องไปในที่ต่างๆ ใช้มือรื้อค้นตรงนั้นตรงนี้

โดยเน้นที่ ช่องเก็บของข้างคนขับ แต่ก็ไม่พบอะไร   จึงได้ลงจากรถไป

ผลัดให้ตำรวจอีกคนหนึ่งขึ้นมา ใช้ไฟส่องค้นหา ในจุดเดียวกัน!

สักพักก็บอกว่า พบยาบ้า บรรจุอยู่ในหลอดกาแฟขนาดเล็กปิดผนึกหัวท้ายอยู่ 1 เม็ด

จึงเรียกให้นายโสภณปีนรถขึ้นมาดู

นายโสภณ ร้องเสียงหลง บอกว่า ไม่ใช่ของตนอย่างแน่นอน และไม่รู้ว่าเป็นของใคร มาจากไหน?

รวมทั้งตนก็ไม่เคยเสพหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอะไรด้วย

แต่ตำรวจยืนยันว่าตรวจพบของกลาง ได้ควบคุมตัวไปไว้ในห้องพักตรงด่านนั้น

โดยยังไม่ได้ทำบันทึกจับกุมเป็นหลักฐานแต่อย่างใด

ระหว่างนั่งรออยู่นานนับชั่วโมง นายโสภณก็ ไม่ได้เอ่ยปากขอร้องหรือพูดจาให้ตำรวจช่วยอะไรเหมือนที่คนทั่วไปปฏิบัติ?

เนื่องจากมั่นใจว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาบ้า 1 เม็ดนั้นไม่ว่าในลักษณะใด พร้อมต่อสู้คดี

เวลาได้ล่วงเลยไปหลายชั่วโมง จนกระทั่งใกล้รุ่ง จึงได้ยินตำรวจคนหนึ่งพูดโทรศัพท์กับผู้บังคับบัญชาซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร ได้ยินเสียงปลายสายลอดมาว่า

“ปล่อยไปไม่ได้นะ ไม่งั้นจะโดนข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่”

ทำให้มีการทำบันทึกจับกุมและควบคุมตัวขึ้นรถไปส่งพนักงานสอบสวนที่สถานีเพื่อดำเนินคดี

นายโสภณได้ขอพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ให้เก็บตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจผลที่โรงพยาบาล

ปรากฏว่าไม่พบสารเสพติดแต่อย่างใด

เมื่อหยิบยืมเงิน หนึ่งหมื่นบาท จากญาติพี่น้องประกันตัวออกมาได้ จึงกลับไปตรวจกล้องวงจรปิดที่บันทึกเหตุการณ์ในรถวันเกิดเหตุ

ก็พบข้อสังเกตระหว่างตรวจค้นของตำรวจ คนที่สอง!

เมื่อคนแรกส่องไฟรื้อค้นแล้วไม่พบสิ่งผิดกฎหมายอะไร ก็ไม่เห็นว่ามีความจำเป็นอะไรที่ ตำรวจคนที่สองต้องขึ้นไปตรวจค้นอีก โดยเน้นในจุดเดียวกัน ซ้ำกลับพบหลอดกาแฟบรรจุยาบ้าอย่างง่ายดาย?

บุตรสาวและนายโสภณช่วยกันดูคลิปนี้หลายครั้ง 

จนสังเกตเห็น “พฤติกรรมผิดปกติ” ระหว่างตำรวจคนที่สองใช้มือซ้ายส่องไฟฉาย แล้วได้ยกมือขวาไปลูบคลำบริเวณปากอยู่ระยะหนึ่ง! 

ซึ่งบางคนก็บอกว่า ถ้าดูให้ดีจะพบว่ามี สีขาว คล้ายปลายหลอดกาแฟโผล่ออกมาเล็กน้อยจากมือที่กำระหว่างลดลงมาและยื่นเข้าไปในช่องเก็บของ!

จะเป็นพฤติกรรมการยัดยาหรือไม่ ก็ไม่มีใครสามารถสรุปได้อย่างมั่นใจ?

อย่างไรก็ตาม นายโสภณยืนยันว่า ยาบ้า 1 เม็ดนั้น ไม่ใช่ของตนแน่นอน และพร้อมสู้คดีจนถึงที่สุด  และบุตรสาวได้นำคลิปโพสต์ในเฟซบุ๊กให้ผู้คนเห็นกันทั่วไป

รวมทั้งได้ร้องขอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ตรวจดีเอ็นเอที่หลอดกาแฟใส่ยาบ้าของกลาง

ถ้าตรงกับนายโสภณ ก็คงปฏิเสธยากว่าไม่เคยจับและครอบครองมาก่อน

แต่ถ้าไม่ตรง ก็ถือว่าน่าสงสัย ไม่น่าเชื่อว่านายโสภณรู้เห็นเป็นผู้ครอบครอง เพราะควรจะต้องมีดีเอ็นเอปรากฏ

ซึ่ง ตามหลักสากล อัยการต้องสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากโอกาสที่ศาลจะลงโทษแทบไม่มี

กรณีนี้การตรวจดีเอ็นเอบนหลอดกาแฟจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

แต่ผลการตรวจ ประชาชนต้องเชื่อถือได้อย่างมั่นใจ  

จำเป็นต้องให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ตรวจ

ไม่ใช่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ

นอกจากนั้น นายโสภณก็ควรร้องต่อนายอำเภอสามร้อยยอด ให้ใช้อำนาจตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยในการเรียกสำนวนการสอบสวนจากตำรวจมาตรวจสอบ

หรือหากเห็นว่าจำเป็น จะออกคำสั่งตั้งพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครองร่วมสอบสวน หรือเข้าควบคุมในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนเองก็ได้

หากแจ้งไปแล้ว หัวหน้าสถานีไม่ยอมส่งสำนวนให้ตรวจสอบ อ้างว่า ผบ.ตร.ได้เคยมีคำสั่งที่ 419/56 ห้ามไว้ 

นายอำเภอก็ต้องทำหนังสือแจ้งให้อัยการจังหวัดทราบ พร้อมส่งสำเนาเอกสารทั้งสองฉบับไปล่วงหน้าว่า 

“คดีนี้มีปัญหา การสอบสวนมิชอบตามกฎหมาย เนื่องจากประชาชนร้องขอความเป็นธรรมแล้วฝ่ายปกครองไม่สามารถเข้าตรวจสอบการสอบสวนตามที่ข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยบัญญัติไว้ได้

ถ้าตำรวจสรุปสำนวนเสนอมาไม่ว่าจะมีความเห็นทางคดีอย่างไร อัยการก็ไม่สามารถสั่งคดีฟ้องหรือไม่ฟ้องได้

ต้องส่งคืนหัวหน้าสถานีกลับไปดำเนินการให้ถูกต้องโดยเร็ว     

เกี่ยวกับปัญหาตำรวจตั้งด่านปิดกั้นถนน เรียกให้รถนับพันนับหมื่นคันในแต่ละวันหยุดและขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลอันควรสงสัยว่าได้กระทำผิดกฎหมายอะไร  นั้น

ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญเสียเวลาของประชาชน โดยเฉพาะคนขับรถบรรทุกทั้งเล็กและใหญ่ทั่วไทยมาหลายสิบปี

สิ่งที่ผู้คนหวาดกลัวอย่างยิ่งก็คือ การถูกยัดยา โดยเฉพาะในเวลากลางคืน ถูกเรียกตรวจค้นกันดึกๆ ดื่นๆ

สำหรับบุคคลผู้มีประวัติเคยครอบครองหรือเสพยา  ถ้าตำรวจบอกว่า พบยาบ้าหนึ่งเม็ดในลักษณะเดียวกับนายโสภณ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ของตน แต่ก็คงพูดหรือต่อสู้คดีอะไรให้ใครเห็นด้วยได้ยาก

เมื่อถูกควบคุมตัวไปไว้ในห้องหรือที่ใดในบริเวณด่านตรวจ โดยยังไม่ได้นำตัวไปที่สถานีเพื่อให้พนักงานสอบสวนลงบันทึกประจำวันดำเนินคดีทันที

การเจรจาต่อรองระหว่างผู้ถูกจับกับตำรวจย่อมมีเกิดขึ้นตามมา

หากมีการเสนอและสนองกัน ตามกำลังทรัพย์ ของญาติพี่น้อง ตกลงกันได้

การปล่อยตัวผู้ถูกจับให้หายไปในความมืด ก็ไม่มีใครรู้แต่อย่างใด!

หนทางแก้ปัญหาตำรวจยัดยาหรือสิ่งผิดกฎหมายให้ประชาชนดีที่สุดก็คือ ต้องแก้ไข ป.วิ อาญา ว่าด้วยการตรวจค้น ให้บันทึกภาพเสียงเป็นหลักฐานการปฏิบัติงานทุกครั้ง เว้นมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอะไร ก็ให้บันทึกเหตุนั้นไว้

ซึ่งในประเด็นนี้ ก็ได้มีการกำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา และผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้วแต่ปลายปี 2561 แต่ได้ยินว่าตำรวจผู้ใหญ่หลายคนไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น?         

รวมถึงต้องออกระเบียบตำรวจให้ “ตำรวจผู้ตรวจค้นทุกคน” มีหน้าที่รายงานเข้าศูนย์วิทยุ “ทันทีที่ทำได้  เมื่อแน่ใจว่าพบสิ่งผิดกฎหมายและได้ควบคุมตัวประชาชนคนหนึ่งคนใดไว้”

ผู้ไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืน ถือว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง มีโทษไล่ออก ปลดออกราชการ

สำหรับหนทางแก้ปัญหา “ตำรวจผู้ใหญ่ขายตำแหน่ง” และ “รับส่วย” นั้น

เรื่องนี้ พล.ต.ท.วิษณุ ม่วงแพรศรี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย ได้นำมาอภิปรายในสภาเมื่อไม่กี่วันยืนยันว่ายังมีอยู่กระทั่งปัจจุบัน

แม้นายกรัฐมนตรีจะพูดคาดโทษไว้ ก็ไม่มีใครหวาดหวั่นหรือสนใจ! 

การอภิปรายได้บอกว่า แต่ละตำแหน่งมีราคา  “คิดเป็นกิโล” ตั้งแต่สองสามกิโลไปจนถึงนับสิบกิโล!            

เรื่องการซื้อขายตำแหน่งตำรวจนี้ อันที่จริง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จัดการได้ง่ายๆ ในเวลาเพียงชั่วข้ามวันเท่านั้น โดยไม่ต้องรอกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปจากคณะกรรมการชุดใด?

แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีในอันดับแรกก็คือ “ความจริงใจและจริงจัง” ที่จะแก้ทุกข์ให้ตำรวจผู้น้อยและประชาชนอย่างแท้จริงต่างหาก.   

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 25 พ.ย. 2562

About The Author