ตำรวจขโมยปืนหลวงรุ่นใหม่ ไปจำนำได้อย่างไร?-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ตำรวจขโมยปืนหลวงรุ่นใหม่ ไปจำนำได้อย่างไร?
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
กรณี ด.ต.ชรินทร์ บุตรดี ตำรวจ สภ.ท่าหิน จ.ลพบุรี นำปืนพกในราชการตำรวจยี่ห้อต่างๆ ทั้งรุ่นเก่าและใหม่แม้กระทั่งยี่ห้อ กล็อก และ ซิกซาวเออร์ สุดทันสมัยที่ตนเองมีหน้าที่ดูแลรักษาไว้ในคลังจำนวน 49 กระบอก ไป จำนำ ได้เงินกระบอกละ 4,000–5,000 บาท
เนื่องจากเดือดร้อนเรื่องการเงิน เพราะ ติดการพนัน ซึ่งไม่มีตำรวจผู้ใหญ่คนใดให้ข่าวว่าเขา ไปเล่นที่ใด จนหมดตัว ในหรือนอกจังหวัด
ขณะนี้ติดตามปืนคืนจากผู้รับจำนำไว้ได้มาเพียง 18 กระบอกเท่านั้น
ประชาชนต่างสงสัยกันว่า ปัญหาตำรวจนำปืนหลวงจำนวนมากไปจำนำเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เนื่องจากมักได้ยินตำรวจผู้ใหญ่พูดอยู่เสมอว่าตำรวจมีปัญหาขาดแคลนอาวุธปืน มีไม่พอใช้?
แต่เหตุใดจึงมีอาวุธปืนพกเหลือไว้ในคลังมากมาย จนถูกคนร้ายซึ่งเป็นตำรวจด้วยกันขโมยเอาไปจำนำได้เช่นนี้?
ซ้ำเหตุยังเกิดที่ สภ.ท่าหิน สถานีที่ได้รับรางวัล โรงพักเพื่อประชาชนดีเด่น ของตำรวจภูธรภาค 1 ติดต่อกันหลายปีอีกด้วย!
ตำรวจผู้ใหญ่มักบอกกับรัฐบาลทุกยุคสมัยรวมทั้งโฆษณาต่อประชาชนว่า ที่ตำรวจไทยมีปัญหามากมาย เพราะขาดแคลนงบประมาณและอุปกรณ์ที่จำเป็นสารพัด?
ที่อ้างกันเป็นประจำสม่ำเสมอก็เรื่องรถยนต์ จักรยานยนต์ น้ำมันเชื้อเพลิง และอาวุธปืน หรือแม้กระทั่งกุญแจมือที่จะใช้พันธนาการคนร้าย ก็บอกว่าตำรวจแต่ละคนก็ต้องซื้อหามาใช้กันเอง เพราะราชการไม่ได้จัดให้แต่อย่างใด
ขนาด พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยังพูดถึงปัญหาความขาดแคลนเช่นนี้อยู่หลายครั้งหลังยึดอำนาจ เมื่อต้องตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องการปฏิรูปตำรวจ
ทำให้การแก้ปัญหาของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคใด ต่างเน้นไปที่การเพิ่มงบประมาณและการจัดซื้อสิ่งอุปกรณ์ต่างๆ ให้ตำรวจแห่งชาติมากมาย ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์สารพัด รวมไปถึงอาวุธปืนนานาชนิด
ปัญหาความขาดแคลนเหล่านี้ แท้ที่จริง เป็นเรื่องโกหกหลอกลวงรัฐบาลและประชาชนทั้งสิ้น!
เอาเฉพาะเรื่องอาวุธปืน ตำรวจทั่วประเทศมีจำนวน 220,000 คน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า รัฐจะต้องจัดหาปืนพกให้ตำรวจทุกคน 220,000 กระบอก เพื่อให้ไว้ใช้ในการปฏิบัติราชการแต่อย่างใด
เนื่องจากในจำนวนนั้นมีผู้ทำหน้าที่ตรวจป้องกันอาชญากรรมทั้ง ในเครื่องแบบ (สายตรวจ) และนอกเครื่องแบบ (ฝ่ายสืบสวน) ไม่เกิน 100,000 คน
ส่วนตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพลและฝ่ายอำนวยการหรือสนับสนุนอีกมากมาย หน่วยงานสารพัดในตำรวจแห่งชาติ หรือแม้กระทั่งกองบัญชาการและกองบังคับการพื้นที่
ล้วนแต่ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ในการ “เข้าเวร” ตรวจป้องกันอาชญากรรมแต่อย่างใด
หรือในสถานีตำรวจเอง ก็มีตำรวจประมาณครึ่งหนึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการป้องกันอาชญากรรมโดยตรง เช่น ตำรวจฝ่ายธุรการ การเงิน พนักงานวิทยุ ประชาสัมพันธ์ เสมียนบันทึกประจำวัน จราจร ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน และเสมียนคดี หรือผู้ที่ไม่ได้เข้าเวร ความจำเป็นที่ต้องพกอาวุธปืนไว้ใช้ป้องกันตัว เพื่อการเข้าจับกุมหรือระงับเหตุร้าย ก็ไม่มี
เพราะปืนทุกชนิดและทุกขนาดที่รัฐอนุญาตให้ประชาชนหรือตำรวจซื้อหามาใช้หรือให้พกพาได้ ล้วนแต่เพื่อให้ใช้ ป้องกันชีวิตและทรัพย์สินจากภยันตรายใกล้จะถึงและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยวิธีอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นในการปฏิบัติราชการหรือการดำรงชีวิตประจำวัน
ไม่ได้อนุญาตให้ตำรวจหรือใครใช้กันเป็น เครื่องมือทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นการ จับผู้ต้องหามาเรียกค่าไถ่ หรือนำไปจี้ปล้นประชาชนรูปแบบใด!
ในสถานีหนึ่งๆ รัฐจึงได้จัดซื้อปืนพกไว้ให้ตำรวจใช้เท่ากับจำนวนผู้มีหน้าที่ตรวจป้องกันอาชญากรรมเท่านั้น
เช่น สถานีที่มีตำรวจ 100 คน ก็จะมีปืนพกราชการยี่ห้อต่างๆ โดยเฉพาะปืนพกมาตรฐานขนาด .38 อยู่ประมาณ 40-50 กระบอก หรือ 50 เปอร์เซ็นต์
เพื่อให้ตำรวจผู้มีหน้าที่เข้าเวรป้องกันอาชญากรรมเบิกไปใช้เป็นอาวุธประจำกายระหว่างปฏิบัติหน้าที่
ไม่ได้หมายความว่า รัฐจะต้องจัดหาให้ครบ 100 คนหรือ 100 เปอร์เซ็นต์แต่อย่างใด
ซึ่งถ้าการเบิกไปใช้ให้กระทำเฉพาะตำรวจผู้มีหน้าที่ ปืนก็จะมีพอสำหรับตำรวจที่จำเป็นทุกคน
ที่ตำรวจผู้ใหญ่ชอบพูดกันว่า ตำรวจขาดแคลนอาวุธปืน ทำให้ส่วนใหญ่ต้องใช้เงินส่วนตัวซื้อหรือแม้กระทั่งกู้ยืมเป็นหนี้สินตั้งแต่เริ่มรับราชการนั้น
ก็เพราะได้นำเรื่องที่ตำรวจส่วนใหญ่ต้องการจะมีอาวุธปืนที่ทันสมัยไว้ใช้เป็นทรัพย์สมบัติของตนเองมาพูด ประกอบกับปัญหาเรื่องการเบิกปืนราชการไปไช้ หากเกิดชำรุดหรือสูญหาย จะถูกลงโทษทางวินัยตามมา
ตำรวจส่วนใหญ่จึงนิยมแก้ปัญหาด้วยการซื้อปืนเป็นของตนเอง
โดยเฉพาะปืนตามโครงการสวัสดิการต่างๆ สารพัด
นอกจากจะถูกจูงใจด้วยราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดมากมาย ซื้อแล้วกำไรเห็นๆ เพราะได้รับการยกเว้นภาษีโดยมติคณะรัฐมนตรี เนื่องจากได้มีการอ้างว่า เพื่อนำมาให้ตำรวจใช้ในการปฏิบัติราชการ ไม่ได้ถือเป็นสมบัติส่วนตัวแล้ว
ตำรวจไทยยังได้พกปืนอัตโนมัติรุ่นใหม่ที่ทันสมัยกว่าประเทศใดในโลก แม้กระทั่งฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ประเทศร่ำรวย ที่ตำรวจพกกันแต่ .38 ร้อยโซ่เหล็กติดเอวเท่านั้น!
เช่น โครงการจัดหาปืนซิกซาวเออร์ที่ทันสมัยซึ่งเกิดขึ้นหลังการยึดอำนาจประมาณหนึ่งปี มีการโฆษณากันอย่างเอิกเกริกว่าราคาถูกกว่าท้องตลาดมากมาย
ทำให้ตำรวจส่วนใหญ่ตาลุกวาว เข้าชื่อจองกันกว่าแสนห้าหมื่นกระบอก
แต่พอตรวจสอบแล้ว ปืนที่ได้รับการยกเว้นภาษีล็อตนี้ เมื่อซื้อแล้วทะเบียนจะถูกสลักหลัง ห้ามโอนตลอดชีวิต
ต่างจากโครงการเดิมที่อนุญาตให้โอนได้หลังจากซื้อแล้วเพียงห้าปี
จึงทำให้มีผู้ยืนยันการจอง เหลือเพียง 60,000–70,000 กระบอก
นอกจากนั้น ก็ยังได้มีการซื้อปืนรุ่นใหม่ในนามราชการอีกจำนวนมากแจกจ่ายไปยังสถานีในเวลาต่อมา
นั่นหมายความว่า ตำรวจไทยมีทั้งปืนพกที่ซื้อเป็นทรัพย์สินส่วนตัว รวมทั้งที่ราชการจัดหาให้ทั้งรุ่นเก่าและใหม่กองอยู่ในคลังสถานีตำรวจมากมาย
ปืนรุ่นเก่า .38 นั้น ปัจจุบันตำรวจหนุ่มๆ ไม่เบิกไปใช้อยู่แล้ว เพราะพกแล้วอายตำรวจด้วยกันและประชาชฯ ส่วนปืนอัตโนมัติที่ทันสมัยยี่ห้อกล้อกและซิกซาวเออร์รุ่นใหม่ที่กองเหลืออยู่จำนวนมาก
นายดาบตำรวจคนนี้คงเห็นว่าเมื่อไม่มีใครเบิกไปใช้ จึงได้นำออกจำนำได้เงินมาจำนวนหนึ่งหวังแก้ปัญหาชีวิตที่ “ติดการพนัน” เป็นการชั่วคราว.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 28 ต.ค. 2562