เครือข่ายต้านน้ำเมาจี้รมว.ท่องเที่ยวฯทบทวนเปิดสถานบันเทิงตี4อัดอย่าหน้ามืดมุ่งหาเงินจนลืมผลกระทบทางสังคม ย้อนถามอุบัติเหตุเจ็บ ตาย พิการ จากน้ำเมายังไม่พอหรือ

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562 ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายชูวิทย์  จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ พร้อมด้วย นายคำรณ  ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา นำกลุ่มเหยื่อเมาแล้วขับ  เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่  เครือข่ายลดอุบัติเหตุ  มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล  มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา  เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชนและนักศึกษากว่า 40 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  ผ่านทางนายอารัญ  บุญชัย  ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ เพื่อคัดค้านการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงผับบาร์เป็น ตี 4

 

ทั้งนี้เครือข่ายได้เปิดปราศรัยในประเด็นผลกระทบ ทั้งในมิติอุบัติเหตุ  ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาต่อเด็กและเยาวชน อาชญากรรม มิติทางเศรษฐกิจที่ได้ไม่คุ้มเสีย พร้อมทั้งแต่งกายล้อเลียนเป็นผีเหยื่อเมาแล้วขับ ผีทะเลาะวิวาท ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชื่อ “หยุดขยายเวลาปิดผับ  หยุดทำสังคมเสื่อม”

 

นายชูวิทย์  กล่าวว่า จากดำริของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  ที่เสนอให้ขยายเวลาปิดสถานบันเทิงผับบาร์เป็นเวลา 04.00 น.จากเดิม 02.00น. เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ โดยจะไปทำการศึกษาก่อนว่าพื้นที่ไหน ควรจะทำ เพื่อขอหารือกับนายกฯในการประชุม ครม. ต่อมานายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จะดำเนินการทั่วประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติและเตรียมลงพื้นที่พบปะกับผู้ประกอบการสถานบันเทิงใน พัทยา จังหวัดชลบุรี คาดว่า จะช่วยเพิ่มค่าใช้จ่ายกินดื่มอีก 25% จากปัจจุบันที่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เฉลี่ย 5,000-6,000 บาท อย่างไรก็ตามแม้ว่าล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้ความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นแค่เพียงแนวคิดเท่านั้น ต้องไปทำการศึกษาให้รอบคอบก่อน ก็มิได้หมายความว่าเรื่องดังกล่าวจะยุติ

 

เครือข่ายฯต้องการมาแสดงจุดยืนและคัดค้าน มาตรการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงจากเดิมตี 2 เป็น ตี 4 และจะสานพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อต่อต้านเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ไม่รอบคอบ อ้างเพิ่มการท่องเที่ยว การจับจ่าย เอาข้อมูลหรืองานวิชาการที่ไหนมารองรับ ตัวเลข 25 % มาได้อย่างไร  ต้องเอาความจริงมาตีแผ่กัน อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์จากข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จะพบว่าทั้งอุบัติเหตุ  การทะเลาะวิวาท  ฆ่ากันตาย ตลอดจนความรุนแรงในครอบครัว ปล้นจี้  ผู้ก่อเหตุมักจะกินดื่มมาจากสถานบันเทิง  และมีจำนวนไม่น้อยที่ก่อเหตุในสถานบันเทิงด้วยจากการเมาขาดสติ

 

“เราขอตั้งคำถามกับกระทรวงท่องเที่ยวว่า วันที่ทุกฝ่ายทุ่มเทในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบติเหตุเมาแล้วขับ ปัญหาทะเลาะวิวาท ความรุนแรงและอาชญากรรม ที่มีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมสำคัญ กระทรวงไม่รู้ร้อนหนาวถึงความยากลำบากในการทำงาน  และความสูญเสียที่เกิดขึ้นเลยหรือ คิดเป็นแต่จำนวนนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินเพียงอย่างเดียวกระนั้นหรือ เป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก งานวิจัยพบว่าเงิน 1 บาท ที่เราได้จากวงจรน้ำเมา ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายในการดูแลรักษา ค่าเสียโอกาสในการทำงานและอื่นๆรัฐต้องจ่ายไปถึง 2 บาท มันได้ไม่คุ้มเสียอยู่แล้ว ยังจะมีการขยายเวลาเสี่ยงขึ้นไปอีก”นายชูวิทย์ กล่าว

เครือข่ายต้านน้ำเมา

ด้านนายคำรณ กล่าวว่า ตกลงประเทศไทยจะเอาจุดขายในการเพิ่มเวลาเมากันแล้วหรือ แต่ละประเทศเขามีแต่จะจำกัด  ควบคุม เหตุใดจึงไม่สนใจผลกระทบอันตราย อุบัติเหตุเจ็บตายพิการ ทะเลาะวิวาท และสร้างความรำคาญให้ประชาชนคนในชุมชนมากขึ้น แค่ปิดตามเวลาปกติเจ้าหน้าที่ยังเอาไม่อยู่ ควบคุมปัญหาไม่ได้ ดังนั้นในเรื่องนี้เครือข่ายฯขอคัดค้านจนถึงที่สุด ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.ไม่มีหลักฐานในเชิงประจักษ์ ว่าการขยายเวลาจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ หรือเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจริง ที่สำคัญยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่ออกมาตรการนี้เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ

2.ในการดำเนินการตามแนวคิดนี้ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ซึ่งจะเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของกฎหมายเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่จำกัดเวลาขายไว้แค่เที่ยงคืน และการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้บุคคลที่มึนเมาครองสติไม่ได้ รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2558,46/2559 ว่าด้วยเรื่องการควบคุมร้านเหล้าผับบาร์รอบสถานศึกษาที่กำหนดพื้นที่ควบคุมเอาไว้  ก็ต้องถูกแก้ไขลดทอนพื้นที่ควบคุมลงไป เพียงเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยว รวมไปถึง พ.ร.บ.สถานบริการ และกฎหมายอีกหลายฉบับ

3.การขยายเวลาดังกล่าวจะเกิดผลกระทบตามมาในทุกมิติทั้งอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ความรุนแรงทางเพศ ความไม่สงบสุขในชุมชน คดีความและอาชญากรรมย่อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจน ว่าผลกระทบทางสังคมในแทบทุกเรื่องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมสำคัญ การป้องกันแก้ไขปัญหาที่ภาครัฐ และทุกภาคส่วนได้ทุ่มเทสรรพกำลังลงไป  จะไม่มีความหมายและถอยหลังลงคลอง

4.เม็ดเงินที่คาดการว่าอาจจะเกิดขึ้น จะกระจุกตัวอยู่กับร้านเหล้าผับบาร์ กับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น มิได้เป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ เจ้าของพื้นที่ตัวจริง  เหมือนกับการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่น ที่ประชาชน ชุมชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ มีความยั่งยืน ไม่เสี่ยง

5.กระทรวงควรตระหนักว่า ประเทศไทยมีดีมากกว่า  การให้ร้านเหล้าผับบาร์เป็นจุดขาย เราคงไม่ภาคภูมิใจการสร้างจุดขายที่ผิดเพี้ยนแบบนี้ สิ่งที่กระทรวงควรทำคือเร่งพัฒนาสร้างความปลอดภัยในการท่องเที่ยว ให้กับนักท่องเที่ยวมากกว่าสร้างความเสี่ยงให้เกิดขึ้นเพียงเพราะหวังเม็ดเงิน

 

About The Author