นายกฯ ควบคุมตำรวจและการปฏิรูปเอง กับบางเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ทันที-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร 

ยุติธรรมวิวัฒน์

     นายกฯ ควบคุมตำรวจและการปฏิรูปเอง กับบางเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ทันที

 

                                                          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประชาชนทั้งประเทศได้ยิน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อสภาเมื่อคืนวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม หลังการอภิปรายเรื่องการปฏิรูปตำรวจของ คุณคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภาว่า

จากนี้เป็นต้นไป ผมจะเป็นผู้รับผิดชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และจะดำเนินการปฏิรูปตำรวจให้มีความชัดเจนมากขึ้น แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนด้วย ทั้งการปฏิรูปในส่วนขององค์กร  บุคลากร วิธีการปฏิบัติงาน ที่มาของเจ้าหน้าที่ตำรวจและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะตำรวจเป็นต้นทางของกระบวนการยุติธรรม แต่จะปฏิรูปตำรวจอย่างเดียวคงไม่พอ จึงต้องทำให้ตำรวจ อัยการ ศาล ทั้งหมดสอดคล้องกัน ซึ่งจะต้องมีการหารือกันเพื่อให้สามารถดำเนินการตรงได้โดยเร็ว  

ทั้งนี้ ผมยืนยันว่าจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด และทำให้ตำรวจได้รับความไว้ใจจากประชาชนมากที่สุด  ขณะเดียวกันต้องทำให้ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ เพราะในปัจจุบันเกิดความขัดแย้งสูงขึ้น ไม่ว่าจะทำผิดหรือถูก  เจ้าหน้าที่ตำรวจมักตกเป็นจำเลยเสมอ จึงต้องให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

หลายคนได้ยินว่านายกฯ จะมาคุมงานตำรวจแล้ว รู้สึกตื่นเต้น!อยากเห็นการปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

นอกจากการชี้แจงดังกล่าวแล้ว ยังได้แถลงนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมตามเอกสาร หัวข้อที่ 12.2   มีใจความสำคัญว่า

“….กำหนดมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใดๆ พร้อมทั้งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้ดำเนินงานสอดประสานกันอย่างเป็นองคาพยพ เพื่อให้สามารถจัดการกับข้อขัดแย้งและกรณีพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการทำงานเชิงรุกรวมทั้งพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส รวดเร็ว ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ  สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมได้ และสร้างสังคมที่พัฒนาอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความเสมอภาคและเท่าเทียม พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมาย พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ….”

สำหรับนโยบายดังกล่าว คนส่วนใหญ่ได้ฟังแล้วต่างรู้สึก เวิ้งว้างดั่งทะเล ขาดรูปธรรมและตัวชี้วัดว่า รัฐบาลจะปฏิบัติอะไรในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะปัญหาตำรวจ จะปฏิรูปอย่างไร และเมื่อใด?

นอกจากนั้น ก็ยังไม่แน่ใจว่าท่านจะทำจริงหรือไม่อีกด้วย!?

เนื่องจากทุกคนต่างเข็ดขยาดเพราะเคยผิดหวัง  หลังจากเฝ้ามองและให้เวลาท่านมา กว่าห้าปี ที่มีอำนาจบริหารทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ในฐานะหัวหน้า คสช.

แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญก็ยังบัญญัติ บังคับไว้ ในมาตรา 258 และ 260 ให้รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปตำรวจให้แล้วเสร็จ ในหนึ่งปี 

แต่จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรมแม้แต่เรื่องเดียว!

ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวน 3 ฉบับ ที่คณะกรรมการสองคณะเสนอไปและอยู่ในมือท่านมาตั้งแต่ปลายปี 2561 จนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่มีใครได้ยินว่า จะนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาตราเป็นกฎหมายเมื่อใด?

ซ้ำการปฏิบัติหลายเรื่องที่ผ่านมา ก็ยังเป็นการพาองค์กรตำรวจและกระบวนการยุติธรรมถอยหลังเข้าคลองอีกด้วย เช่น

1.การออกคำสั่ง คสช.ที่ 115/57 แก้ไข ป.วิ อาญา มาตรา 145 เปลี่ยนหน้าที่พิจารณาคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการจังหวัดจากผู้ว่าฯ ให้ไปเป็นของผู้บัญชาการตำรวจภาคที่อยู่ห่างไกลและไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานอะไรในจังหวัดเลย นอกจากจะเกิดความล่าช้า ประชาชนผู้ถูกกล่าวหาได้รับความเดือดร้อนกันแสนสาหัสในปัจจุบัน เนื่องจาก ผบช.ตำรวจภาค (แท้จริงคือ ผกก.สอบสวน) มักพยายามเขียนแย้งอัยการจังหวัดส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา ทำให้เสียเวลายุติคดีโดยไม่จำเป็น

และที่สำคัญ ยังเป็นเหตุให้อัยการส่วนใหญ่ ต้องฝืนใจสั่งฟ้องคดีไปทั้งที่พยานหลักฐานไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้ศาลลงโทษได้” ขัดกับหลักกระบวนการยุติธรรมสากล เพราะไม่ต้องการให้ตำรวจมีความเห็นแย้งส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณา ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหากับตนเองตามมา!  

2.การให้ ผบ.ตร.มีอำนาจสั่งแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจทุกตำแหน่งทั่วประเทศ แทนการกระจายอำนาจให้ ผบช.และ ผบก.รับผิดชอบเช่นเดิม จนก่อให้เกิดปัญหามากมาย  ตำรวจทุกสายทุกระดับแม้กระทั่งจ่าดาบวิ่งเข้าส่วนกลางกันจนลิ้นห้อย มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคนตายหรือซ้ำซ้อน  ต้องถอนรายชื่อกันชุลมุน!

3.คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2559 ให้ยุบตำแหน่งพนักงานสอบสวนที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นวิชาชีพเฉพาะระดับหนึ่ง ซึ่งทุกตำแหน่งสามารถเลื่อนได้ด้วยการสอบตามระบบคุณธรรม ทำให้ระบบงานสอบสวนถอยหลังกลายเป็นงานตำรวจทั่วไปที่ผู้บังคับบัญชาสามารถสั่งย้ายสับเปลี่ยนหน้าที่กับสายงานอื่นทั้งเข้าและออกได้ ทำให้งานสอบสวนไร้อนาคตยิ่งกว่าเดิม พงส.ทั่วประเทศประมาณ 10,600 คน เสียขวัญและกำลังใจอย่างร้ายแรง  ขอเรียนว่า ปัญหาตำรวจเวลานี้ที่สำคัญตามลำดับก็คือ

1.ปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดที่ร้ายแรงอย่างยิ่งในความเป็นจริง สวนทางกับสถิติตัวเลขราชการที่หน่วยงานต่างๆ รายงานต่อรัฐบาลว่า สามารถป้องกันอาชญากรรมและแก้ปัญหายาเสพติดประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ต้องตรวจสอบการรายงานผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดรับรองมาอีกทางหนึ่ง

2.ปัญหาพนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์ ดำเนินคดีตามกฎหมายให้ประชาชนที่เป็นคนยากจน

หรือไร้เส้นสาย บางคนทำนานเข้าจนเป็นนิสัย เนื่องจากถูกผู้บังคับบัญชาสั่ง ในทางพฤตินัย ให้ช่วยกันลดสถิติคดี  โดยใช้วิธีลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานคล้าย สมุดข่อย แบบโบราณ ไม่มีการออกเลขคดีทันทีที่รับแจ้งความ

ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดสถิติคดีที่ได้ผลดียิ่งแล้ว ยังเป็นช่องทางในการ ล้มคดี ช่วยผู้กระทำผิดผู้มีอำนาจและอิทธิพลคนมีเงินของผู้บังคับบัญชาไม่ให้ต้องรับโทษอาญาได้อย่างง่ายดาย ทำลายความเป็นนิติรัฐ ลงอย่างย่อยยับอีกด้วย

ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการสั่งให้เร่งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูลการร้องทุกข์ของประชาชนลงในคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบใหญ่ให้สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด    

แพะ
     

3.ปัญหาการสอบสวนยัดข้อหาประชาชน มีผู้คนตกเป็น แพะ ถูกดำเนินคดีหรือถูกศาลออกหมายจับ

โดยไม่ได้กระทำผิดมากมาย สามารถแก้ได้ด้วยการสั่ง ให้มีการติดกล้องอัตโนมัติในห้องสอบสวนบันทึก ภาพ เสียง และทุกเหตุการณ์เป็นหลักฐานให้อัยการและศาลตรวจสอบได้เมื่อจำเป็น

4.ปัญหาการเปิดบ่อนพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมายโดยการรู้เห็นเป็นใจหรือ รับส่วยสินบน

ของตำรวจผู้ใหญ่ ที่ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมขึ้นในสังคมสารพัด ซึ่งหัวหน้า คสช.ได้เคยมีคำสั่งที่ 24/2557   หลังการยึดอำนาจเพียง 5 วัน ให้ผู้รับผิดชอบทุกหน่วยกวดขันจับกุม และคาดโทษไว้ในข้อ 2 “กรณีที่มีการปล่อยปละละเลย ผู้รับผิดชอบจะต้องลงโทษทางวินัยและดำเนินคดีอาญาอย่างถึงที่สุด”

แต่นับจากออกคำสั่งฉบับนี้มากว่าห้าปี ก็ยังไม่เคยมีใครได้ยินว่ามีตำรวจผู้รับผิดชอบระดับใดถูกดำเนินคดีอาญาหรือลงโทษทางวินัยตามที่ท่านคาดโทษไว้แม้แต่คนเดียว

จับบ่อน

ปัญหาเฉพาะหน้าเหล่านี้และที่ยังมีอีกมาก เมื่อนายกรัฐมนตรีมาควบคุมงานตำรวจด้วยตัวเอง ก็สามารถสั่งให้ ผบ.ตร.แก้ไขจัดการโดยทำหนังสือสั่งการเป็นหลักฐานส่งไป ให้รายงานผลการปฏิบัติกลับมาตามระยะเวลาที่กำหนดได้

หรือถ้าจะมีการประชุมติดตามการบริหารหรือปฏิรูปตำรวจ ก็ควรใช้ “ทำเนียบรัฐบาล” แทนการไปประชุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเหมือนที่ผ่านมา

โดยให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบจัดการประชุม แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปร่วมประชุมแก้ปัญหาและขับเคลื่อนการปฏิรูปพร้อมกัน.   

นายกฯคุมตำรวจ

ที่มา:ไทยโพสต์ คอลัมน์ : เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : Monday, July 29, 2019

About The Author