กรมการปกครองสืบจับบ่อน ผับบาร์ ยาเสพติดแทนตำรวจยุบตำรวจภาคเถอะ – พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
กรมการปกครองสืบจับบ่อน ผับบาร์ ยาเสพติดแทนตำรวจยุบตำรวจภาคเถอะ
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
สถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมไทยในปัจจุบัน กลุ่มคนรวยและผู้มีอำนาจรวมทั้งข้าราชการตำรวจ ทหารผู้ใหญ่ ที่ได้ประโยชน์จากระบบและโครงสร้างที่เป็นอยู่ต่างพูดว่า ทุกอย่างกำลังดีขึ้นทุกวัน?
ในขณะที่คนจนกลับพูดตรงกันข้ามว่า พวกเขากำลังเดือดร้อนเลือดตาแทบกระเด็น
แต่ละคนมองไม่เห็นอนาคต หรือความหวังจากรัฐบาลชุดใด!
โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” ต่าง “เบื่อพรรคการเมืองเก่า” ที่ไม่พูดถึงปัญหาโครงสร้างสังคมและแนวทางปฏิรูป เช่น การกระจายอำนาจเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง
พืชผลการเกษตรแทบทุกชนิดราคาตกต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน การค้าขายฝืดเคืองอย่างยิ่ง
เงินทองที่แต่ละคนเคยเก็บหอมรอมริบไว้ ขณะนี้แทบไม่มีเหลือ
อาชญากรรมสารพัดรูปแบบเพิ่มมากขึ้น ทั้งลักทรัพย์ ฉกชิงวิ่งราว ฉ้อโกง ไปจนถึงปล้นจี้ การทำร้ายร่างกาย เพราะประชาชนพึ่งรัฐและกฎหมายไม่ได้!
มีคนตายจากการถูกฆ่ารวมทั้งอุบัติเหตุจราจรมากมายในแต่ละปี
แต่ตำรวจไทยหลายสถานีมีวิธีแก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการ รับแจ้งความลงบันทึกประจำวันแบบไม่มีเลขคดี
เพื่อที่จะไม่ต้องรายงานเป็นสถิติในแต่ละเดือนแต่ละปีตามที่ผู้บังคับบัญชาระดับต่างๆ สั่งกำชับไว้ว่า ให้ช่วยกันลดตัวเลขอาชญากรรม!
ทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากปัญหาการแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีแล้วการสอบสวนไม่มีความคืบหน้าอะไรมากมาย
หลายรายต้องใช้วิธีประท้วงทวงถามผ่านสื่อออนไลน์ไปจนกระทั่งออกรายการโทรทัศน์ต่างๆ สารพัดช่อง
บางคนต้อง แห่ศพ หรือเก็บศพเก็บกระดูกพ่อแม่ญาติพี่น้องห่อผ้าไว้ ไม่ยอมทำพิธีทางศาสนาหรือฌาปนกิจ เพื่อสร้างแรงกดดันให้ตำรวจผู้รับผิดชอบทำหน้าที่ของตนจนกว่าจะจับคนร้ายได้
รายสุดท้ายก็กรณี นางสาวขวัญตา ใจทัด “อุ้มหัวกะโหลกพ่อ” คือนายชุน ใจทัด ที่หายตัวไปและต่อมาพบเป็นศพถูกเผาไหม้ในไร่อ้อย อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร
เหตุเกิดมา กว่า 8 เดือน แต่ จนกระทั่งบัดนี้ ตำรวจก็ยังสรุปไม่ได้ว่านายชุนตายเพราะอะไร?
ในขณะที่นางสาวขวัญตาผู้เป็นบุตรสาวสืบจากพยานหลักฐานแวดล้อม เชื่อมานานแล้วว่าพ่อ ถูกฆาตกรรม อย่างแน่นอน
ผู้ว่าราชการจังหวัดและศูนย์ดำรงธรรมก็ช่วยอะไรเธอไม่ได้ ต้องหอบหลักฐานเข้ากรุงเทพฯ ร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อให้ช่วยคลี่คลาย!
บางคนไปแจ้งความแล้วต้องกลับมาฆ่าตัวตาย เช่นกรณีนายไพรวัลย์ แซ่ลี้ ที่จุดเตาถ่านรมควันตายในห้องพักย่านสมุทรปราการ เขียนจดหมายระบายความคับแค้นใจถึงนายกรัฐมนตรีกรณีไปแจ้งความ สน.โชคชัย ว่ารถปิกอัพถูกยักยอก กลับถูกตำรวจขอค่าสืบสอบ 5,000 ซึ่งก็ได้กัดฟันให้ไป หวังได้รถคืน แต่ผ่านไป 8 เดือน แต่คดีกลับไม่มีความคืบหน้าอะไร
ส่วนยาเสพติดทุกชนิดราคาถูกลงอย่างน่าใจหาย ปัจจุบันยาบ้าย่านชานเมืองขายกัน ห้าเม็ดร้อย เท่านั้น!
เม็ดละเพียง 20 บาท เด็กเล็กสามารถซื้อมาเสพกันแสนง่าย ติดงอมแงมไปตามๆ กัน
สะท้อนว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลแก้ปัญหายาเสพติดไม่ได้ ไม่ว่านายพลตำรวจผู้รับผิดชอบคนใดจะบอกว่า จับผู้ต้องหาได้ในแต่ละปีและมีปริมาณของกลางมากมหาศาลเท่าใดก็ตาม
เพราะตัวชี้วัดความสำเร็จในการแก้ปัญหายาเสพติดที่แท้จริงคือ “ราคายาแต่ละชนิด” แต่ละพื้นที่ มีราคาถูกหรือแพงกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด
ในการแก้ปัญหายาเสพติดนั้น นอกจากการจับกุมผู้ขายรายใหญ่และรายย่อยต่างๆ ที่ตำรวจสร้างผลงานเป็นสถิติการจับกุมรายงานต่อนายกรัฐมนตรีแต่ละเดือนแต่ละปีแล้ว
แหล่งอบายมุขทุกชนิดตั้งแต่บ่อนการพนันไปจนสถานบันเทิงผิดกฎหมายสารพัด ล้วนเป็นเหตุและปัจจัยในการเสพและค้ายาเสพติดด้วยกันทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นโดยพนักงานเองที่ต้องอดนอนกันยันสว่าง ไปจนกระทั่งนักเที่ยวทุกวัยที่เสพกันเพื่อความรื่นเริงบันเทิงใจ
เป็นสถานที่ฟูมฟักเกิดนักดื่มสุราและเสพยาหน้าใหม่ขึ้นตลอดเวลา
การตรวจตรามิให้มีบ่อนพนันและแหล่งอบายมุขผิดกฎหมาย จึงเป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ปัญหายาเสพติดที่แท้จริง
โดยรัฐได้จัดตั้งหน่วยงานพร้อมเงินงบประมาณมหาศาลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบ
ประกอบด้วยกองบัญชาการตำรวจสารพัดไปจนถึงกองบังคับการตำรวจจังหวัดและสถานี ทำหน้าที่ตรวจตราว่ามีประชาชนคนใดฝ่าฝืนกฎหมายเปิดบ่อนพนันและสถานบริการที่เป็นการสร้าง สิ่งแวดล้อมยาเสพติด ขึ้นในสังคมบ้าง
แต่ที่ผ่านมาในระยะเวลาห้าปี บทบาทนี้กลับกลายเป็นของฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ไปอย่างประหลาด!
ทั้งที่รัฐไม่ได้จัดงบประมาณและอำนาจให้ในการสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมายสองฉบับนี้กับผู้กระทำผิด อย่างสมบูรณ์ แต่อย่างใด!
แทบไม่มีใครจำได้ว่า หลังการยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557 ฝ่ายปกครองได้นำกำลัง อส.และทหารไปจับบ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ แม้กระทั่งในเขตกรุงเทพมหานคร ส่งสถานีตำรวจท้องที่สอบสวนดำเนินคดี รวมทั้งหมดกี่แห่ง?
ตามมาด้วยคำสั่งของผู้บัญชาการและผู้บังคับการตำรวจ เด้ง หัวหน้าสถานีตำรวจ รอง ผกก. และ สว.ผู้รับผิดชอบไปปฏิบัติงานที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภาคและจังหวัดทั่วประเทศไปแล้วรวม กี่ร้อยคน?
แต่ผลการสอบสวนยังไม่เคยได้ยินใครบอกว่า “พบใครรับส่วยสินบน” หรือแม้กระทั่ง “บกพร่องต่อหน้าที่” ได้มีการลงโทษทางวินัย ไล่ออก ปลดออก หัวหน้าสถานีตำรวจและผู้รับผิดชอบกันไปแล้วกี่ราย? เมื่อคืนวันศุกร์ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง ก็ได้ไปจับสถานบันเทิงเปิดเกินเวลา ปล่อยให้มีการค้าและเสพยาเสพติดในพื้นที่ อ.เมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา และ อ.สัตหีบ จังหวัดชลบุรี ที่ตั้งกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2
(ใต้ภาพ) (ชุดปฏิบัติการพิเศษ กรมการปกครอง ตรวจจับสถานบันเทิงผิดกฎหมาย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อคืนวันที่ 14 มิ.ย.62 01.45 น.)
พบวัยรุ่นหนุ่มสาวดื่มกินและเต้นรำกันอย่างเมามันจนตี่สามตีสี่กว่า 600 คน!
หลังเปิดไฟได้พบยาเสพติดสารพัดชนิดเกลื่อนพื้นและบนโต๊ะมากมาย ตรวจปัสสาวะพบสารเสพติด 103 คน ตามข่าวสายลับรายงานว่านักเที่ยวเข้าคิวเสพกันในห้องน้ำสถานบันเทิงแห่งนั้นเอง
นับเป็นเรื่องประหลาดที่รัฐบาลจัดตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นทำหน้าที่รักษากฎหมาย จัดคนพร้อมงบประมาณและสถานที่มีอำนาจมากมายในตรวจจับผู้กระทำผิดซึ่งหน้าและกล่าวหาสอบสวนดำเนินคดีอาญา
แต่กลับไม่ได้ทำหน้าที่ของตนให้คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชนแต่อย่างใด
อย่างเช่น กองบัญชาการตำรวจภาค ซึ่งในอดีตเป็นแค่กองบังคับการเขตมีตำรวจทำงานเพียง 30-40 คน แต่ปัจจุบันได้ถูกยกฐานะเป็นกองบัญชาการมีตำรวจทำงานอยู่ 300-400 คน หลายแห่งมีการก่อสร้างอาคารสำนักงานกันอย่างใหญ่โตโอ่อ่ามูลค่าหลายร้อยหรืออาจรวมนับพันล้านนั้น!
ประชาชนแทบไม่เคยได้ยินกันว่า แห่งใดมีบทบาทในการจับบ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมายที่ทำลายเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นงานในหน้าที่รับผิดชอบของตนเลย
ภารกิจสำคัญนี้กลับกลายเป็นหน้าที่ของข้าราชการสำนักงานกฎหมายและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการนำกำลัง อส.เงินเดือนไม่กี่บาท ออกตรวจจับกันทั่วประเทศด้วยอย่างขยันขันแข็งได้ผลดีอย่างยิ่ง
ตำรวจหน่วยใดที่รัฐจัดตั้งขึ้นมาแล้วไม่ทำหน้าที่หรือไม่มีความจำเป็น ก็ยุบเสียดีกว่า
ไม่ควรปล่อยไว้ให้เป็นภาระแก่งบประมาณแผ่นดินที่เก็บจากเงินภาษีของประชาชนต่อไป.
ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, June 17, 2019