ยุติธรรมไทยล้าหลัง ศาลออกหมายจับคนไป ‘ขัง’ แล้วอัยการสั่งไม่ฟ้อง ศาลยกฟ้อง

ยุติธรรมไทยล้าหลัง ศาลออกหมายจับคนไป ‘ขัง’ แล้วอัยการสั่งไม่ฟ้อง ศาลยกฟ้อง

 

                                                                       พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ประเทศไทยถ้าใครบอกว่าขณะนี้เป็น รัฐล้มเหลว ก็คงไม่ผิดไปจากความจริงเท่าใดนัก

ตัวชี้วัดที่สำคัญเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกก็คือ ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม

ปัจจุบันผู้คนส่วนใหญ่ทั้งชาวไทยและต่างชาติล้วนขาดความเชื่อถือเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานยุติธรรมในทุกขั้นตอนและทุกระดับ

แม้กระทั่งศาล!

การออกหมายจับ ดร.พอล แชมเบอร์ส ชาวอเมริกันที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก เนื่องจาก กอ.รมน.ภาค 3 ได้มอบอำนาจให้ทหารไปแจ้งความว่าเขากระทำความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112

ทำให้ถูกตำรวจจับกุมตามหมายนำตัวไปควบคุมไว้ที่สถานีตำรวจ รวมทั้งบุกเข้าตรวจค้นห้องทำงานที่มหาวิทยาลัยและไม่ให้ประกันตัว

เมื่อได้มีการนำไปฝากขังต่อศาล ตำรวจก็ยังคัดค้านการประกันด้วยเหตุผลมั่วๆ ว่า น่าจะหลบหนี

ทำให้ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต จนต้องยื่นอุทธรณ์และได้ประกันในเวลาต่อมา

แต่ยังมีเงื่อนไขให้ติดกำไลอีเอ็มที่ข้อเท้าไว้ไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

หลักความยุติธรรมสมัยใหม่ซึ่งรัฐไทยได้บัญญัติและประกาศไว้ในรัฐธรรมนูญที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์

ไม่มีใครสนใจแต่อย่างใด!

เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่พอใจและมีปฏิกิริยาต่อรัฐบาลไทยอย่างรุนแรง

ถือเป็นเรื่องพลเมืองชาวอเมริกันถูกกลั่นแกล้งรังแก ถูกจับกุมและคุมขังอย่างไม่มีเหตุผลตามหลักความยุติธรรมสากล

เป็นเรื่องใหญ่ที่ยอมไม่ได้

มาตรการต่างๆ เกี่ยวกับบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปจนถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกระดับ จะเริ่มตั้งแต่การระงับวีซ่าเข้าประเทศ รวมไปถึงการปฏิเสธการเจรจาเรื่องภาษีการค้ากับรัฐบาลไทย

ทำให้ในที่สุด อธิบดีอัยการภาค 6 ได้รีบมีคำสั่งไม่ฟ้อง ดร.พอล ท่ามความงุนงงของผู้คนว่า

ถ้าพยานหลักฐานการกระทำผิดไม่เพียงพอแม้แต่จะทำให้อัยการสั่งฟ้องได้

แล้วออกหมายจับให้ตำรวจจับตัวเขาไปขังไว้ทำไม?

ข้อเท็จจริง ดร.พอลได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหามาตรา 112 หรือไม่ ไม่มีใครทราบรายละเอียดแน่ชัด

แต่เมื่อตำรวจขอศาลให้ออกหมายจับได้ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามีพยานหลักฐานการกระทำผิด

และการที่ตำรวจสรุปสำนวนการสอบสวนเสนอให้อัยการสั่งฟ้อง ยิ่งต้องแน่ชัดว่าเขาน่าจะกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา

แต่ภายในเวลาไม่กี่วันนับแต่จับกุมคุมขัง อัยการกลับมี คำสั่งไม่ฟ้อง ท่ามกลางความงุนงงของผู้คนทั้งประเทศ

เพราะในเอกสารข่าวของอัยการ ไม่ได้ระบุเหตุผลในการสั่งไม่ฟ้องไว้แต่อย่างใด

กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยในชั้นสอบสวนนั้นมีปัญหามาช้านาน โดยเฉพาะการออกหมายจับของศาล

ทุกฝ่ายอ้างว่าเป็นการใช้อำนาจตาม ป.วิ อาญา มาตรา 66 (1)

คือคดีที่มีโทษจำคุกเกินสามปีขึ้นไป ศาลสามารถออกหมายจับผู้ต้องหาทุกคนได้ทันทีไม่จำเป็นต้องมีหมายเรียกก่อนแต่อย่างใด ไม่ว่าบุคคลนั้นจะหลบหนีจริงหรือไม่?

หรือแม้กระทั่งใครแสดงเจตนาว่าพร้อมไปพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก หรือแม้บอกว่าแค่โทรแจ้งให้ไปพบตามนัดหมายได้ ก็ไม่มีผลทำให้ตำรวจไม่ไปขอหมายจับ

ข้อความตาม ป.วิ อาญา มาตรา 66 ก่อให้เกิดปัญหา ตำรวจผู้ใหญ่จะเลือกใช้กันอย่างไรก็ได้

“หมายจับ” ส่วนใหญ่จะใช้กับคนจน หรือผู้คนที่ไร้เส้นสาย

ส่วน “หมายเรียก” มักใช้กับคนรวย คนมีอำนาจ โดยเฉพาะตำรวจพวกเดียวกัน!

แม้กระทั่งอาจใช้วิธีแจ้งให้ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อหาเงียบๆ โดยไม่ต้องมีหมายเรียกก็ได้ มีให้เห็นมากมาย

การสอบสวนดำเนินคดีของตำรวจไทยที่ไร้มาตรฐานและไม่เป็นไปตามหลักความยุติธรรมสากลเช่นนี้

ส่งผลทำให้กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติ

การจับ ดร.พอล แชมเบอร์ส ชาวอเมริกันไปคุมขังทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่ากระทำผิด ถือเป็นเรื่องใหญ่ในสายตาคนอเมริกันที่รัฐบาลเขายอมไม่ได้

แม้ใครจะบอกว่าประเทศไทยมีเอกราชและอธิปไตย จึงไม่ควรสนใจความรู้สึกประเทศใดไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน

แต่ ในที่สุดรัฐไทยกลับต้องใช้วิธีให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง เพื่อจะได้ไม่ต้องมีปัญหากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

คดีนี้แม้มีผู้แจ้งความกล่าวหาไม่ว่าจะเป็นใคร แต่ตามกฎหมายตำรวจสามารถออกหมายเรียกเขาให้มารับทราบข้อหาและพยานหลักฐานเพื่อจะได้นำไปประกอบการต่อสู้คดีอย่างยุติธรรมตาม มาตรา 134 ได้

แต่เมื่อบันทึกปากคำแล้ว จะไม่มีอำนาจควบคุมตัวไว้ ต้องปล่อยให้กลับไปโดยไม่ต้องมีการประกันอะไรที่ทำให้เขาได้รับความเดือดร้อนวุ่นวาย

มีเสรีภาพในการหาพยานหลักฐานมาหักล้างประกอบการต่อสู้คดีอย่างยุติธรรม

ฉะนั้น วิธีดีที่สุดของตำรวจไทยในการทำให้ผู้คนเข้าใจว่าเขากระทำความผิดและลดทอนความสามารถต่อสู้คดีของผู้ต้องหาทุกคนก็คือ การขอให้ศาลออกหมายจับและ “คัดค้านการประกันตัว” ด้วยเหตุผลมั่วๆ ว่าน่าจะหลบหนี!

ซึ่งศาลส่วนใหญ่ก็มักกลัวว่าตัวเองจะมีปัญหาถ้าให้ประกันทั้งที่ตำรวจได้คัดค้านไว้

เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องมีการแก้ไข ป.วิ อาญาว่าด้วยการสอบสวน

“การออกหมายเรียกผู้ต้องหา” และการเสนอศาลออกหมายจับ ต้องกระทำโดยหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี และให้อัยการมีหน้าที่ตรวจพยานหลักฐานจนแน่ใจว่า ถ้าได้แจ้งข้อหาหรือจับตัวใครมาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์ความผิดให้ศาลพิพากษาลงโทษได้

ปัญหาการออกหมายเรียกบุคคลมาแจ้งข้อหา หรือว่าเสนอศาลออกหมายจับแล้วอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้อง จะลดลงแม้กระทั่งหมดไป

เป็นการยกระดับกระบวนการยุติธรรมไทยให้เป็นเช่นเดียวกับอารยประเทศทั่วโลก.

          ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 5 พ.ค. 2568

About The Author