ออก ‘หมายเรียก’ ได้ ทำไมตำรวจจึงชอบให้ศาลออก ‘หมายจับ’

                                         ออก ‘หมายเรียก’ ได้ ทำไมตำรวจจึงชอบให้ศาลออก ‘หมายจับ’

 

                                                                           พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ในระยะนี้ ตำรวจหลายหน่วยรวมทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการดำเนินคดีอาญาบุคคลต่างๆ ปรากฏเป็นข่าวออกสื่อครึกโครมมากมาย

โดยส่วนใหญ่เป็นความผิดเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ทั้งฉ้อโกงธรรมดา ฉ้อโกงประชาชนและการทำธุรกิจการค้าอีกหลายข้อหา

ไม่ว่าจะเป็นคดีดิไอคอน คดีทนายตั้ม และอาจารย์หนิง ฯลฯ

ทั้งดาราชายหญิง อาจารย์หนิง และทนายความชื่อดัง ล้วนถูกศาลออกหมายจับด้วยกันทั้งสิ้น!

และหลายคนถูกจับแล้วก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ต้อง “ติดคุกล่วงหน้า” ก่อนศาลมีคำพิพากษาว่ากระทำความผิด จนกระทั่งป่านนี้

หลักนิติธรรมยุคใหม่ ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้กระทำความผิด” ที่เรียกว่า Presumption of Innocence แทบไม่มีใครหรือองค์กรใดสนใจไยดี

อ้างกันแต่ว่าคดีเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกเกิน 3 ปีขึ้นไป ป.วิ อาญา มาตรา 66 บัญญัติไว้ ตำรวจสามารถขอศาลให้ออกหมายจับได้โดยไม่จำเป็นต้องออกหมายเรียกก่อนให้เสียเวลาแต่อย่างใด

ได้หมายจับมาแล้ว ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบพกอาวุธครบมือก็ไล่จับไล่ตะครุบตัวผู้ถูกออกหมายกันอย่างเอิกเกริก ไม่ว่าจากบ้านหรือสถานที่ใด ในสภาวะใด

ควบคุมตัวหิ้วปีกไปให้นักข่าวถ่ายภาพประชาสัมพันธ์ผลงาน “พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ” กันเป็นระยะๆ!

เรื่องตัวบทกฎหมายเป็นความผิดมีโทษจำคุกเกิน 3 ปีขึ้นไปตามที่ ป.วิ อาญา บัญญัติไว้ ตำรวจสามารถเสนอศาลให้ออกหมายจับได้ ไม่มีใครโต้แย้ง

แต่ปัญหาคือ “จำเป็นหรือไม่”หากเป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงพนักงานสอบสวนสามารถออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดีได้

ซึ่งตำรวจก็ไม่ได้ขอออกหมายจับเหมือนกันทุกคดี แม้แต่กรณีการกระทำผิดร้ายแรง มีโทษสูงถึงประหารชีวิต

เช่นคดี เป้รักผู้การ 140 ล้าน และการกระทำผิดของตำรวจผู้ใหญ่ที่เรียกกันว่านายพลอีกมากมาย

ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีการออกหมายจับเหมือนประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด

นอกจากนั้นในความเป็นจริงบุคคลส่วนใหญ่ก็พร้อมจะมารับทราบข้อหาต่อสู้คดี ไม่ได้คิดหนีไปหลบซ่อนอยู่ตามป่าเขาหรือออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศด้วยกันแทบทั้งสิ้น

แต่เนื่องจากว่า การออกหมายเรียกบุคคลมาแจ้งข้อหาตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา 134 บัญญัติไว้ เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งแล้วก็ต้องปล่อยตัวบุคคลนั้นเป็นอิสระไประหว่างดำเนินคดี

ไม่มีอำนาจควบคุมตัวไว้ได้ รวมทั้งไม่ต้องมีการประกันตัว

ตำรวจไทยจึงชอบทำงานกันแบบ “มั่วๆ” ขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหากันเป็นส่วนใหญ่

ทั้งเพื่อจะได้ตามจับตัวให้เป็นข่าวเอิกเกริก และทำให้ผู้คนเข้าใจว่าผู้ต้องหากระทำความผิดอย่างแน่นอน ไม่งั้นศาลคงไม่ออกหมายจับให้!

รวมทั้งจะได้ใช้เป็นเหตุ “ค้านประกัน” อ้างว่ากำลังจะหลบหนี ต้องไปตามจับมาจากที่นั้นที่นี้

ซึ่งส่วนใหญ่ศาลก็มักไม่ให้ประกันตามเหตุผลของตำรวจที่รายงานต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นความจริงหรือไม่!

อีกทั้งเป็นการปิดปากผู้ต้องหาในการพูดจาหรืออธิบายกับสื่อหรือผู้คน และลดทอนความสามารถในการรวบรวมพยานหลักฐานต่อสู้คดีอีกด้วย

ทำให้สะดวกต่อการสอบสวนเสนอให้อัยการสั่งฟ้อง

เพราะไม่มีข้อต่อสู้และพยานหลักฐานของผู้ต้องหาที่จะทำให้เกิดปัญหาต้องสอบสวนอย่างละเอียดจนสิ้นกระแสความ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง

และอาจทำให้พนักงานอัยการ “สั่งไม่ฟ้อง”

ทำให้ทั้งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบและ “พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ” ต้องเดือดร้อน

อาจถูกผู้ต้องหาที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง ฟ้องคดีทั้งอาญาและแพ่งเรียกให้ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้อีกด้วย.

ที่มา :  นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 2 ธ.ค. 2567

 

About The Author