แจ้งการจับให้นายอำเภอและอัยการทราบทันที ‘ตำรวจดี’ ปฏิบัติได้ ใครลำบาก ‘ให้รีบลาออก’
แจ้งการจับให้นายอำเภอและอัยการทราบทันที ‘ตำรวจดี’ ปฏิบัติได้ ใครลำบาก ‘ให้รีบลาออก’
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ผลการเลือกตั้งทั่วไปที่พรรคก้าวไกลได้จำนวน ส.ส.รวมมากที่สุด เหนือกว่าพรรคเพื่อไทยที่ แลนด์ไถล!
สะท้อนว่า ประชาชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีความคิดทางการเมืองก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก
พวกเขาต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงโครงสร้างหลายเรื่อง ตามที่พรรคนี้ได้ประกาศเป็นนโยบายไว้
ไม่ได้สนใจคำโฆษณาหรือโครงการลดแลกแจกแถมของหลายพรรค เลือก ส.ส.มาฉีดยาหมาแมวให้ หรือเดินมายกมือไหว้ขอคะแนนอีกต่อไป!
ส่วนผลสุดท้าย พรรคก้าวไกลจะสามารถจัดตั้งรัฐบาล ฝ่ากับดักและด่านวุฒิสมาชิกแต่งตั้ง 250 คน ได้หรือไม่?
และหากได้เป็นจะทำตามนโยบายและคำพูด รวมทั้งทำแต่ละเรื่องเพียงใด ประชาชนก็ต้อง ติดตามและทวงถาม กันอย่างใกล้ชิดต่อไป
ในอนาคตพรรคการเมืองใดที่ปรับตัวไม่ทันกับความคิดก้าวหน้าของประชาชน คงไม่พ้นเป็น พรรคต่ำสิบ หรือแม้กระทั่งสูญหายไป จะไม่มี ส.ส.ในสภาแม้แต่คนเดียว!
ขณะนี้กฎหมายฉบับหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมากต่อสังคมไทยและส่งผลให้เกิดการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่ไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ก็คือ “พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย”
ประกาศใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566
แต่เป็นเรื่องที่แสนตลก เมื่อใกล้ถึงวันที่กฎหมายมีผล ได้มี คนสัปดนคบคิดกัน เสนอให้นายกฯ ออกพระราชกำหนด เลื่อนการใช้หลายมาตราออกไป
ผู้แทนราษฎรคือฝ่ายนิติบัญญัติออกกฎหมายอะไรประกาศใช้ แต่รัฐบาลกลับ ออก พ.ร.ก. ให้ ชะลอ บางมาตราออกไปได้อย่างประหลาด!
โดย ผบ.ตร. ได้ทำหนังสือ เป็นต้นเรื่อง ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อ้างว่ายังไม่พร้อมปฏิบัติตามมาตรา 22
เรื่องให้มีกล้องบันทึกภาพ เสียง การจับและควบคุมตัวบุคคลอย่างต่อเนื่อง จนส่งให้พนักงานสอบสวน ต้องใช้งบประมาณจัดซื้อกล้องแจกตำรวจทั่วประเทศเป็นเงินรวม 3,500 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้เตรียมไว้
แต่แท้จริงเรื่องกล้องไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะปัจจุบันตำรวจผู้มีหน้าที่ก็มีของหลวงใช้กันแทบทั้งประเทศอยู่แล้ว
และ เป็นเรื่องต้องหมุนเวียนกันใช้ในเวลาเข้าเวร ไม่จำเป็นต้องซื้อแจกให้ครบทุกคนแต่อย่างใด
และแม้ไม่ได้บันทึกไว้ด้วยเหตุสุดวิสัยอย่างไร ก็ไม่ได้เป็นความผิดอาญาอะไร
แต่หากอยู่ในวิสัยที่สามารถบันทึกได้ แต่ เจตนาไม่ปฏิบัติและเกิดความเสียหายต่อผู้หนึ่งผู้ใด
ก็จะ เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่มิชอบ รวมทั้งทำให้เกิดปัญหาหากผู้ถูกจับบอกว่าถูกละเมิด ไม่ว่าด้วยการพูดจาหรือใช้กิริยาข่มขู่ ทำร้ายร่างกายและจิตใจ
หรือแม้กระทั่งใคร มีพฤติกรรม “ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” มีโทษจำคุกถึงสามปี!
และเจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบการจับไม่ว่าหน่วยงานหรือองค์กรใด จะกลายเป็นผู้มีหน้าที่พิสูจน์ ว่าไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา
แทนแต่เดิมที่ผู้ถูกจับต้องพิสูจน์ว่าถูกกระทำ แสดงให้เห็นรอยฟกช้ำตามร่างกาย
ซ้ำอัยการและศาลก็มักไม่เชื่อผู้ถูกกระทำอีกด้วย!
เหตุสำคัญแท้จริงที่ตำรวจผู้ใหญ่ต้องการให้เลื่อนการใช้มาตรา 22 ออกไป ก็เพราะในวรรคสองได้บัญญัติให้ “ผู้รับผิดชอบการควบคุมตัวบุคคลมีหน้าที่ต้องแจ้งให้นายอำเภอและอัยการทราบทันที”
นี่คือมาตรการที่มีประสิทธิภาพสุดในการป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลังการจับของเจ้าพนักงานรัฐไม่ว่าหน่วยใด
รวมไปถึงจับแล้วนำตัวไปควบคุมไว้ในที่ลึกลับ “ต่อรองรีดทรัพย์” แล้วปล่อยตัวไปด้วย
ในกรุงเทพมหานครให้แจ้งสำนักสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง และอัยการเขตพื้นที่ ซึ่ง จนถึงขณะนี้ได้มีการแจ้งมาแล้วรวมประมาณ 80 ราย
หากเป็นกรณีการจับในต่างจังหวัดให้แจ้งนายอำเภอและอัยการจังหวัดทราบทันที
และ หน้าที่ตามกฎหมายทั้งนายอำเภอและอัยการหลังได้รับแจ้งการจับก็คือ ตรวจสอบว่ามีการกระทำผิดกฎหมายนี้ในเรื่องใดหรือไม่
ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการเดินไปที่สถานีในกรณีที่มีเหตุควรสงสัย สังเกตการณ์หรือสอบถามผู้ต้องหาว่า “ถูกจับวันและเวลาใด” มีใครทำร้ายหรือละเมิดอะไรบ้างอย่างใด?
โดยเฉพาะเมื่อได้รับแจ้งจากผู้พบเห็นไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหายหรือพลเมืองดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29
ทั้งนายอำเภอและอัยการมีอำนาจสอบสวนดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานผู้กระทำผิดได้ ไม่ต้องเสียเวลาไปแจ้งความกับตำรวจเช่นที่ผ่านมา
หลังจากกฎหมายฉบับนี้มีผลทุกมาตราตั้งแต่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ชี้ว่า
การออกพระราชการกำหนดเลื่อนการใช้ไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172
เท่ากับไม่เคยมีพระราชกำหนดฉบับนี้
ฉะนั้น การกระทำของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้อง ถือเป็นพฤติกรรมจงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ผิดจริยธรรมร้ายแรง
ป.ป.ช.สามารถถอดถอนได้ ไม่ต้องรอให้ใครไปยื่นคำร้องแต่อย่างใด!
แต่เมื่อบางเรื่องไม่ได้ทำไว้ และจะทำย้อนหลังก็ไม่ได้ เช่นการบันทึกภาพและเสียง รวมทั้งการแจ้งการจับให้นายอำเภอและอัยการทราบทันที
หากไม่มีประเด็นเกี่ยวกับคดี ก็ไม่มีปัญหาอะไร
แต่หากได้มีการหยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในศาล เช่น อ้างว่าการรับสารภาพหรือคำให้การเกิดจากการถูกข่มขู่ ทำร้าย หรือทำให้เกิดความกลัวอย่างหนึ่งอย่างใด
ก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาได้ อย่างน้อยก็ ทำให้ความน่าเชื่อถือของผู้จับมีน้ำหนักลดลง!
มีตำรวจผู้ใหญ่หลายคนออกมาพูดจาต่อสังคมว่า กฎหมายฉบับนี้ทำให้ตำรวจทำงานยาก
โดยเฉพาะ ตำรวจส่วนกลาง ที่นิยมจับหรือเข้าค้นบ้านคนโดยไม่แต่งเครื่องแบบ ชุดเฉพาะกิจ เฉพาะเก็บ ชุดปราบยาเสพติด ชุดปราบลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าต่างๆ
ลำบากแม้กระทั่งการแจ้งการจับให้นายอำเภอและอัยการทราบทันที
บางพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จะให้แจ้งอย่างไร!
ก็อยากแนะนำตำรวจประเภทนี้ว่า ให้รีบเขียนใบลาออกไปดีกว่า ไปหางานที่ทำได้ง่ายและสบาย ซึ่ง น่าจะมีอยู่ในสังคมมากมาย!
แต่น่าแปลก “ตำรวจที่ดี” โดยเฉพาะตำรวจในพื้นที่ “เขาแอบยิ้ม” เห็นเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ได้มีปัญหาในการปฏิบัติแต่อย่างใด.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 22 พ.ค. 2566