กสม.ชงแก้กม.ให้สธ.เป็นหน่วยงานกลางตรวจพิสูจน์ศพ ประกันความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม
กสม.เสนอแก้ไขกฎหมายกระบวนการชันสูตรพลิกศพ ให้ สธ. เป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ตรวจพิสูจน์ เพื่อประกันความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรม
วันที่ 15 กันยายน 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2565 ได้พิจารณาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการชันสูตรพลิกศพ เนื่องจากเห็นว่าการชันสูตรพลิกศพเป็นพื้นฐานของกระบวนการสอบสวนการตายทั้งระบบ อันสะท้อนให้เห็นถึงภารกิจพื้นฐานของรัฐในการรักษาความยุติธรรมโดยการเปิดเผยความเป็นจริงให้เป็นที่ประจักษ์ ดังนั้น เมื่อมีการตายเกิดขึ้น รัฐจึงต้องมีระบบการจัดการเกี่ยวกับการตายให้สอดคล้องและมีประสิทธิภาพทั้งระบบ ประกอบกับมีกรณีที่มีการร้องขอให้ กสม. ให้ความเห็นต่อมาตรฐานการให้ความเห็นของแพทย์ผู้ทำการชันสูตรพลิกศพหรือความเชี่ยวชาญในการชันสูตรพลิกศพ และการไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือกระบวนการตรวจสอบซ้ำ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม จึงเห็นสมควรหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นพิจารณา
กสม.ได้รับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบกับการพิจารณาโครงสร้างทางกฎหมายที่กำหนดกระบวนการชันสูตรพลิกศพในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) แล้ว มีความเห็นในประเด็นสำคัญ เช่น
1) ป.วิอาญา มาตรา 148 กำหนดให้มีการชันสูตรพลิกศพเมื่อปรากฏว่าเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติหรือตายในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งหากถูกพิจารณาแต่แรกว่า เป็นการตายตามธรรมชาติ ก็จะไม่เข้าสู่กระบวนการชันสูตรพลิกศพ จึงเห็นควรให้มีบทบัญญัติที่อนุญาตให้ญาติของผู้ตายสามารถร้องขอให้มีการชันสูตรพลิกศพได้
2) ป.วิอาญา ยังขาดบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในเรื่องที่เกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์ซ้ำ ซึ่งเมื่อมีกรณีที่กฎหมายมีช่องให้ตรวจพิสูจน์การตายซ้ำได้หลายครั้งจึงเป็นผลให้ในคดีเดียวกันมีรายงานการชันสูตรจำนวนมาก อันส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และเมื่อมีการชันสูตรแล้ว กฎหมายก็มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้บุคคลที่เกี่ยวข้องขอทราบผลการชันสูตรพลิกศพได้ด้วยเหตุความจำเป็นของสำนวนการสอบสวนที่ยังมิอาจเปิดเผย รวมทั้งยังมิได้กำหนดเวลาเกี่ยวกับการคืนศพแก่ญาติไปเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งควรต้องมีการกำหนดมาตรการที่เหมาะสมและชัดเจนภายใต้เหตุผลความจำเป็นในการค้นหาเหตุและพฤติการณ์การตายที่หมดลงแล้วโดยแท้จริง เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีกรอบการปฏิบัติงาน และบุคคลทั่วไปได้รับรู้และเข้าใจ
3) ปัญหาเกี่ยวกับองค์กรเจ้าหน้าที่ เช่น บทบัญญัติในป.วิอาญา ยังขาดหลักประกันความเป็นกลางและความอิสระทั้งในกรณีการตายตามธรรมชาติ ที่ไม่ได้กำหนดว่าแพทย์ที่ชันสูตรจะต้องสังกัดหน่วยงานใด ทำให้บางกรณีการชันสูตรอาจดำเนินการโดยแพทย์ที่อยู่ภายใต้สังกัดหน่วยงานทางทหารหรือตำรวจ และในกรณีที่มีการตายระหว่างการถูกควบคุมตัวของพนักงานสอบสวนก็ขาดบทบัญญัติที่กำหนดว่าให้พนักงานสอบสวนจากหน่วยงานอื่นเป็นผู้ดำเนินการแทน นอกจากนี้ ป.วิอาญา ยังไม่ได้กำหนดว่าแพทย์จะต้องสังกัดหน่วยงานใด ทำให้ปัจจุบันแพทย์นิติเวชกระจายอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ และหน่วยงานต้นสังกัดของแพทย์ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข ทำให้ไม่สามารถตั้งงบประมาณ หรือกรอบอัตรากำลังเพื่อรองรับการทำงานของแพทย์นิติเวชไว้ได้เป็นการเฉพาะเนื่องจากมีภารกิจงานด้านการรักษาพยาบาลเป็นหลัก ทั้งนี้ ในประเด็นกระบวนการไต่สวนการตายในชั้นศาล ภายหลังจากที่พนักงานผู้ชันสูตรพลิกศพได้ดำเนินการจัดทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นแล้ว ควรเป็นบทบาทขององค์กรตุลาการในการรับฟังการโต้แย้งคัดค้านรายงานผลการชันสูตรพลิกศพนั้น เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาทบทวนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงาน
ระบบการชันสูตรพลิกศพในประเทศต่าง ๆ อาจแยกออกเป็นสามประเภท ได้แก่ (1) ระบบตำรวจ (police system) ซึ่งองค์กรตำรวจเป็นผู้มีบทบาทหลักในการชันสูตรพลิกศพ (2) ระบบโคโรเนอร์ (coroner system) คือการที่ศาลแต่งตั้งเจ้าพนักงานเข้ามามีบทบาทรับผิดชอบโดยตรงต่อการดำเนินการชันสูตรพลิกศพ และ (3) ระบบแพทย์ (medical examiner) ที่ให้แพทย์เป็นผู้มีบทบาทหลักในการชันสูตรพลิกศพตั้งแต่การตรวจศพ การรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดจากการตาย รวมถึงอำนาจในการผ่าศพเพื่อค้นหาเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย โดยประเทศไทยเป็นระบบตำรวจซึ่งพนักงานสอบสวนเป็นผู้มีบทบาทหลักในการรวบรวมพยานหลักฐานร่วมกับแพทย์จากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเจ้าพนักงานผู้ทำการชันสูตรพลิกศพ ทั้งนี้ กสม. เห็นว่า หากกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นองค์กรหลักด้านการชันสูตรพลิกศพและมีแพทย์นิติเวชอยู่ภายใต้สังกัดเป็นองค์กรเจ้าหน้าที่หลักในการชันสูตรพลิกศพ (medical examiner) โดยกำหนดอัตรากำลัง งบประมาณ และความก้าวหน้าในสายอาชีพแยกต่างหากจากแพทย์ที่มีหน้าที่ในการรักษา ย่อมสามารถบูรณาการข้อมูลและองค์ความรู้ทางการแพทย์ และการสาธารณสุขได้อย่างเป็นเอกภาพและมีความเป็นกลาง
จากการศึกษาโครงสร้างทางกฎหมายที่กำหนดกระบวนการชันสูตรพลิกศพอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมข้างต้น กสม. จึงเห็นสมควรมีข้อเสนอแนะมาตรการในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้
1) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น เช่น ให้กระทรวงสาธารณสุข สถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และแพทยสภา ร่วมกันพิจารณาแนวทางในการตรวจพิสูจน์ซ้ำ เพื่อให้มีมาตรฐานและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
2) ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงกฎหมาย เห็นสมควรเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้มีการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพเป็นการเฉพาะแยกต่างหากจาก ป.วิอาญา โดยต้องกำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพ การกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของญาติผู้ตายตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ เช่น การเข้าร่วมสังเกตการณ์ การเปิดเผยรายงานผลการชันสูตรพลิกศพต่อญาติหรือต่อสาธารณะ เป็นต้น การมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการร้องขอให้มีการตรวจพิสูจน์ศพซ้ำ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาในการคืนศพแก่ญาติ และความจำเป็นในการเก็บศพเพื่อผ่าพิสูจน์ ตลอดจนการให้องค์กรตุลาการมีบทบาทในการไต่สวนในกรณีที่มีการร้องขอให้มีการทบทวนรายงานผลการชันสูตรพลิกศพ