‘รถนำ’ ‘รถฉุกเฉินเถื่อน’ เกลื่อนประเทศ! ประชาชนจะอยู่ และต่อสู้อย่างไร?

ยุติธรรมวิวัฒน์

                                                                                                  พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ตามที่ได้มีเหตุการณ์หญิงไทย พลเมืองดีคนหนึ่งซึ่งจนกระทั่งป่านนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร? เนื่องจากเธอไม่กล้าเปิดเผยตัวออกมาต่อสื่อหรือสาธารณชน! ได้โพสต์คลิปขึ้นยูทูบกรณีไม่ยอมหลบให้ “รถวีไอพี” ที่มี รถจักรยานยนต์ตำรวจสองคันจากโรงพักทองหล่อ และ สน.มักกะสัน “ขับนำข้ามท้องที่เปิดไฟฉุกเฉิน” สวนทางมา

สายสืบโซเชียล สืบรู้หลังจากนั้นไม่ทันข้ามวันทันทีว่า  เจ้าของและบุคคลที่นั่งอยู่ในรถคือ นายแพทย์คนดัง ผู้ซึ่งกำลังมีประเด็นดังทางสังคมเรื่องการจัดหาวัคซีนทางเลือกป้องกันเชื้อโควิดจากยุโรปและอเมริกามาฉีดให้ประชาชน

เรื่องก็เลยยิ่งได้รับความสนใจจากผู้คนและสื่อมวลชนขึ้นไปใหญ่!

ในเวลาต่อมาทั้งแพทย์คนนั้นและตำรวจผู้ใหญ่ได้ออกมาปฏิเสธว่า หาใช่เป็นการใช้รถตำรวจนำรถตนแต่อย่างใด?

แต่เป็นกรณีที่ใช้เส้นทางนี้เป็นประจำตามปกติ และ หญิงคนนั้นได้ขับรถฝ่าฝืนกฎจราจรเข้ามา!

เนื่องจากในช่วงเวลา 06.00-09.00 น. ตำรวจได้เปิดเป็นช่องทางพิเศษให้รถวิ่งเป็นวันเวย์ได้ ทำให้เกิดปัญหา จนตำรวจต้องขี่รถจักรยานยนต์เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ให้?

ประเด็นคือ จริงหรือไม่ว่าไม่ใช่การขับรถนำของตำรวจทั้งสองสถานี?

ประชาชนที่มีสำนึกแบบวิญญูชนแทบทุกคน “ยกเว้นตำรวจผู้ใหญ่” ได้ดูคลิปหรือเห็นภาพแค่แผ่นเดียว ก็ต้องบอกว่าเป็นกรณีที่ตำรวจขับรถนำแน่นอน

ส่วนแพทย์คนดังกล่าวจะอ่านหนังสือหรือหลับอยู่ รู้ตัวว่าถูกนำหรือไม่? ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องพิจารณา

ต่อปัญหาว่า ถนนช่วงนั้นตามกฎหมายได้มี ประกาศเจ้าพนักงานจราจรกรุงเทพมหานคร กำหนดให้เป็นทางวันเวย์ในบางช่วงเวลา หรือว่า หัวหน้าตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่รู้กฎหมายประกาศกันเองแบบมั่วๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง!

แต่ประเด็นซึ่งประชาชนสนใจกันมากก็คือ การที่ตำรวจขับรถราชการเปิดไฟฉุกเฉินนำรถประชาชนบางคนเช่นนี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบราชการใดหรือไม่?

การใช้รถใช้ถนนของประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติทุกคนที่พักอาศัยอยู่ในประเทศไทย ต้องเป็นไปตามที่ .ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 บัญญัติเป็นหลักไว้

เรื่อง รถฉุกเฉิน ปรากฏอยู่ใน มาตรา 4 (19) คือหมายถึง รถดับเพลิงและรถพยาบาล หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตจาก ผบ.ตร. ให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอื่นตามที่กำหนดให้

และ ในกรณีที่เป็นรถฉุกเฉินตามกฎหมายได้มีมาตรา 75 บัญญัติไว้ให้ผู้ขับขี่มีสิทธิ

            (1)        ใช้ไฟสัญญาณและแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอื่นตามที่กำหนด

(2)        หยุดรถหรือจอดรถ ณ ที่ห้ามจอดได้

(3)        ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้

(4)        ขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใดๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร

(5)        ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้หรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถหรือการเลี้ยวรถที่กำหนดไว้

ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี

หมายความว่า ถ้าหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ผู้ขับรถฉุกเฉินต้องเป็นฝ่ายรับผิดทั้งทางอาญาและชดใช้ทางแพ่งตามกฎหมาย!

สำหรับการปฏิบัติของประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนทันทีที่เห็นรถฉุกเฉินเปิดสัญญาณไฟหรือได้ยินเสียงไซเรนอยู่ข้างหน้ามาตรา 76 ได้กำหนดให้ มีหน้าที่ ต้องปฏิบัติทันที ดังนี้

(1)        คนเดินเท้าต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง หรือขึ้นไปบนเขตปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ไกล้ที่สุด

(2)        สำหรับผู้ขับขี่ต้องหยุดรถหรือจอดให้ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก

(3)        ผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วมทางแยก

ในการปฏิบัติตาม (2) และ (3) ผู้ขับขี่และผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องรีบกระทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้  และต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี

ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติทันที มีโทษทางอาญาตามมาตรา 148  “ปรับไม่เกินห้าร้อยบาท”

ประเด็นคือ รถจักรยานยนต์ตำรวจทั้งสองคันดังกล่าวถือเป็นรถฉุกเฉินที่สามารถใช้สัญญาณไฟและเสียงตามกฎหมายได้หรือไม่?

คำตอบก็คือ ได้ แต่ เฉพาะในกรณีที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกันกับรถดับเพลิง และรถพยาบาลทั่วไป

ปัญหาต่อมาคือ แล้วสามารถ นำรถฉุกเฉินไปใช้ขับนำรถยนต์ของบุคคลและเปิดไฟสัญญาณขอทาง เพื่อความสะดวกในการสัญจรของบุคคลใดได้หรือไม่?

คำตอบก็คือ ทำได้เฉพาะผู้อยู่ในสถานะและตำแหน่งตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้

ได้แก่ พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ประธานองคมนตรี รัฐบุรุษ นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด สมเด็จพระสังฆราช รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้าน และประธานกรรมการที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี

บุคคลในตำแหน่งเหล่านี้มีสิทธิใช้รถนำ เป็นประจำ ตลอดเวลา

ส่วนข้าราชการทุกระดับ ทุกคนที่คิดว่าตนมีความจำเป็นต้องใช้ ระเบียบกำหนดให้ขออนุญาตล่วงหน้ากันเป็นครั้งคราว รวมทั้งต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็น “เรื่องราชการเร่งด่วนที่สุด” เท่านั้น

เช่น ผู้พิพากษา หัวหน้าศาล ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

สรุปว่า หัวหน้าส่วนราชการทุกหน่วยงานแม้กระทั่งตำรวจและทหาร ไม่ว่าชั้นยศใดก็ไม่มีใครมีสิทธิ์ “ใช้รถนำเป็นประจำ” แต่อย่างใด!

ฉะนั้น รถของข้าราชการไทยทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะตำรวจผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ผบ.ตร. อดีต ผบ.ตร. รอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร. ผู้บัญชาการ ผบก. ไปจนถึง ผกก.สถานีที่บางคนชอบใช้รถนำ หรือ “นั่งรถฉุกเฉินเปิดสัญญาณไฟวับวาบ” คล้ายรถประจำตำแหน่ง รถส่วนตัว หรือแม้กระทั่งเป็นรถประจำครอบครัว!

จึงถือเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย  มีความผิดทั้งทางอาญาและวินัย ทั้ง “คนใช้รถ” และ “คนสั่งให้กระทำ”

นอกจากนั้น ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนที่แน่ใจว่ากรณีใดเป็นการใช้รถฉุกเฉินที่มิชอบ จะไม่ยอมหลบหรือหลีกทางให้เสียเวลาของตนก็ได้!

ไม่ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด

และในกรณีที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ผู้ขับรถและคนสั่งให้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายต้องเป็นฝ่ายรับผิดทั้งทางอาญาและชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมด.

 ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  ฉบับวันที่ 8 พ.ย. 2564

About The Author