ส่วยตำรวจแบบบูรณาการ25หน่วย นายกรัฐมนตรีจะปราบอย่างไรให้ได้ผล

virute

ส่วยตำรวจแบบบูรณาการ25หน่วย นายกรัฐมนตรีจะปราบอย่างไรให้ได้ผล                       

                                     พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

            

mana
บัญชีส่วยจ.ภูเก็ต                                                                       

กรณีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนพร้อมหลักฐานว่าสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ต้องจ่ายส่วยให้ ตำรวจสารพัดหน่วย” ตั้งแต่ท้องที่  สืบจังหวัด ตำรวจภาค ไปยัน ตชด. และตำรวจส่วนกลางหน่วยเฉพาะทางเฉพาะกิจต่างๆ รวมเดือนละ 37,000 บาท

หากมีต่างด้าว คิดต่างหากตามจำนวนอีก 9,000 รวมเบ็ดเสร็จสถานบันเทิงแห่งนี้ต้องจ่ายตำรวจและหน่วยข้างเคียงรวม 25 หน่วย เป็นเงิน 46,000  บาทต่อเดือน    

ผับบาร์และอีกสารพัดประเภททั้งเล็กใหญ่ในภูเก็ตมีไม่ต่ำกว่า 1,000 แห่ง ประมาณว่าถ้าทุกแห่งต้องจ่ายในอัตรานี้ ขาดบ้างเกินบ้าง เดือนหนึ่ง ก็จะเป็นเงินราว 46,000,000 (สี่สิบหกล้าน) บาท

                นี่เฉพาะ “ส่วยสถานบันเทิง ใน หนึ่งจังหวัดหนึ่งเดือน เท่านั้น

ยังไม่นับส่วยหวย บ่อน รถบรรทุก บ่อดิน หิน ทราย และต่างด้าวตามโรงงานต่างๆ อีกสารพัดทั่วประเทศ ซึ่งก็ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า ในแต่ละพื้นที่มีมากน้อยเพียงใด รวมเป็นเงินเท่าใดในแต่ละเดือนแต่ละปี?

ไม่แปลกใจที่ อาชีพนายตำรวจ (ผู้ไม่ใช่พนักงานสอบสวน) ประเทศไทย จึงเป็นงานราชการที่ชายหนุ่มและหญิงสาวหลายคนใฝ่ฝัน

โดยเฉพาะการได้เป็นตำรวจ ชั้นสัญญาบัตร ไม่ใช่  “ชั้นประทวน” มีโอกาสคุมงานสืบสวน จราจร หรือได้อยู่หน่วยเฉพาะกิจ เฉพาะเก็บ ต่างๆ

ยิ่งถ้าได้ไต่ระดับเป็นหัวหน้าสถานี คุมงานสอบสวน  ในเมืองใหญ่ บางคนถือว่าได้ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วก็มี

หลายคนไม่ต้องการที่จะเป็น รอง ผบก. หรือแม้กระทั่ง รอง ผบช. ผู้ไม่มีอำนาจและงานการทำเป็นชิ้นเป็นอันกันแต่อย่างใด!

ปัญหาสารพัดส่วยเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องเพิ่งมีเพิ่งเกิดขึ้นในสังคมไทย

ผู้คนโดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงงานหรืออยู่ในวงการหวย บ่อน ซ่อง ของเถื่อน แหล่งอบายมุข หรือมีธุรกิจรถบรรทุก บ่อดิน หินทราย ล้วนรู้เรื่องการจ่ายส่วยกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อ กระทำติดต่อกันมานานหลายสิบปี

และไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ผู้กระทำผิดหรือแม้กระทั่งอาชญากรสามารถ จ่ายส่วย เพื่อ  หยุดอำนาจรัฐ ในการบังคับใช้กฎหมายได้ ผู้คนก็รู้กันทั่วไป

ขบวนการตำรวจส่วยก็ไม่เคยเกรงกลัวหรือแอบอายต้องหลบซ่อนไม่ให้ตำรวจด้วยกันหรือประชาชนรู้แต่อย่างใด

ผิดนัดหรือโอนเงินส่วยช้าไม่ตรงเวลาเมื่อใด  “การรักษากฎหมายสืบสวนสอบสวนอย่างเคร่งครัด” จะเกิดขึ้นทันที!        

หัวใจสำคัญของปัญหาก็คือ ประเทศไทยปล่อยให้งานตำรวจถูกรวมศูนย์อำนาจและ “ผูกขาดการสอบสวน ความผิดอาญาไว้แต่เพียงหน่วยเดียว ซ้ำยังปราศจากการตรวจสอบจากภายนอกระหว่างสอบสวนโดยฝ่ายปกครองและพนักงานอัยการต่างไปจากประเทศที่เจริญทั่วโลกอย่างสิ้นเชิง

ไม่ว่าหน่วยงานใดจะจับผู้กระทำผิดกฎหมายเรื่องอะไร สุดท้ายต้องส่งให้ตำรวจเป็นผู้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งสิ้น

โดยอัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดี ได้แต่รอนั่งอ่าน  สำนวน สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องไปตามที่ตำรวจเสนอ หรืออาจให้สอบเพิ่มได้ เฉพาะจากพยานหลักฐานที่ปรากฏ ตามโครงสำนวนที่ถูกกำหนดสำเร็จรูปไว้แล้วเท่านั้น

มีหลายคดีที่การสอบสวน “ไม่ต่างจากนิยาย” สอบให้พยานกลายเป็นผู้ต้องหาไปก็มี!   

การจ่ายส่วยสินบนตามบัญชีที่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องจดทำบัญชีไว้ การสืบสอบของตำรวจไม่ว่าหน่วยใดจึงแทบไม่เคยดำเนินคดีนำไปสู่การลงโทษอาญาใครได้

ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการแทบทุกแห่งล้วนใช้วิธี ยอมจ่าย เพื่อจะได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกตรวจสอบหรือตรวจค้นจนผู้คนที่มาใช้บริการเอือมระอา

หากใครไม่จ่าย ก็จะถูกตรวจสอบหรือตรวจค้นให้ปฏิบัติตามกฎหมายทุกเรื่อง อย่างเคร่งครัดเป็นพิเศษ   ต่างไปจากผู้ประกอบการที่จ่าย

ไม่นานสถานบันเทิงหรือกิจการนั้นก็ต้องยอมแพ้ปิดตัวลงในที่สุด หรือไม่ก็หันไปเจรจา ขอจ่ายดีกว่า เพื่อความอยู่รอดของพนักงานรวมทั้งตนเอง

ในสังคมที่ถือว่าการจ่ายส่วย “เป็นเรื่องปกติ” และไม่เคยมีตำรวจที่เก็บหรือ รับส่วย ไม่ว่าชั้นยศใดถูกลงโทษเลยเช่นประเทศไทย   

                ธุรกิจที่ ควรจ่าย แล้วไม่จ่าย จึงกลายเป็นเรื่องผิดปกติไป!

                ถ้าใครเรื่องมาก เดี๋ยวอาจถูกตำรวจหัวหน้าสถานีประกาศว่า “ร้านนี้ไม่มีเคลียร์”

                ทางเลิกจะกลายเป็น ต้องเลิกกิจการ หรือไม่ก็ ซมซานไปเจรจา ขอจ่ายดีกว่า ในอัตราที่เป็นธรรมหน่อยก็แล้วกัน?

                ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน แหล่งเริงรมย์ขนาดเล็กและกลางหลายแห่งจึงแทบไม่เหลืออะไร เพราะไม่ว่าหาเงินได้พอค่าใช้จ่ายหรือไม่ ก็ต้องเตรียมไว้จ่ายส่วยให้ตำรวจตามรายการมาตรฐาน 25 หน่วย เป็นอันดับแรก  ผัดวันประกันพรุ่งไม่ได้

คำพูดที่ได้ยินเสมอก็คือว่า ถ้าสู้ไม่ไหว ก็เลิกกิจการไป

หลายแห่งจึงต้องดิ้นรนด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย ปล่อยให้เด็กและเยาวชนเข้าใช้บริการ การกระทำลามกอนาจาร  การค้าประเวณีและยาเสพติด เหตุสำคัญของอาชญากรรม

กว่าสี่ปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่ฝ่ายปกครองหรือทหารไปจับสถานบันเทิงผิดกฎหมายในพื้นที่ใด ก็จะตามมาด้วยการสั่งให้หัวหน้าสถานี และรอง ผกก. และตำรวจผู้รับผิดชอบ 4-5 คน ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดตำรวจภาคอยู่ระยะหนึ่ง

และมี ผบก.ตำรวจออกให้ข่าวทำขึงขังสั่งตั้งกรรมการขึ้นสืบสอบว่า หัวหน้าสถานีเหล่านี้มีพฤติกรรมรับส่วยสินบนจากแหล่งอบายมุขที่ถูกจับนั้นหรือไม่?

เป็นการตั้งประเด็นสอบเพื่อจะได้ สอบไม่พบหลักฐานการกระทำผิดอะไร

เพราะว่าคนรับและรวบรวมเงินที่แท้จริงปัจจุบัน อาจไม่ได้เป็นแม้กระทั่งตำรวจ!

“ขบวนการส่วย” เรียนรู้ปัญหาและมีพัฒนาการมากขึ้น หลายแห่งมีการใช้ “ตำรวจปลอม” ที่คอยเดินตามตำรวจจริงเป็นคนติดต่อและรวมเงินให้ ไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือโอนเข้าบัญชีคนที่ไว้วางใจ ได้ค่าเหนื่อยค่าเสี่ยงภัย 20 เปอร์เซ็นต์

การปราบส่วยตำรวจให้หมดไปนั้น แท้จริงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร

เริ่มจากผู้มีอำนาจต้องก้าวให้พ้น “กับดักแห่งคำเท็จ” ของตำรวจผู้ใหญ่เรื่องเงินเดือนน้อย จำเป็นต้องรีดไถ  หรืองบประมาณไม่พอ ต้องอาศัยเงินผิดกฎหมายในการทำงานและอีกสารพัด

นำไปสู่ความเห็นใจและไม่จัดการลงโทษตามกฎหมายแม้กระทั่งดำเนินการทางวินัย รวมทั้งปฏิรูปโครงสร้างและระบบตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

ตำรวจส่วยจึงไม่เคยกลัวความผิดอาญาหรือว่าการถูกลงโทษทางวินัยใดๆ เพราะมั่นใจว่าจะได้รับการคุ้มครองจากผู้บังคับบัญชาทุกระดับที่ นั่งรับส่วยในรูปแบบต่างๆ ทุกสิ้นเดือนอย่างแน่นอน

การสืบสอบไม่ว่าหน่วยใด แม้กระทั่ง ป.ป.ท. และ ป.ป.ช. จึงไม่เคยสาวถึงตำรวจผู้เก็บหรือรับส่วยคนใด  และไม่มีผู้ประกอบการที่ส่งส่วยกล้าเป็นพยานให้ เพราะทุกคนรู้ว่าการสอบสวนนั้น ล้วนแต่เป็น “ปาหี่” ด้วยกันทั้งสิ้น               ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีต้องการจัดการปัญหาส่วยตำรวจอย่างจริงจัง ต้องไม่นั่งรอให้ฝ่ายปกครองหรือทหารจับการกระทำผิดแล้วตรวจค้นพบบัญชีส่วย ตั้งกรรมการสอบสวนหาตัวคนรับส่วยมาดำเนินคดีอาญาแต่อย่างใด

                ท่านเพียงทำหนังสือสั่งให้ผู้ว่าฯ กทม. และทุกจังหวัดตรวจสอบและรายงานมาทุกสิ้นเดือนว่า ในแต่ละพื้นที่มีปัญหาการกระทำผิดใดที่สะท้อนถึงการละเลยหรือหย่อนประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายของผู้บังคับการตำรวจหรือหน่วยตำรวจที่รับผิดชอบบ้าง

                ได้รับรายงานแล้ว หากยังไม่แน่ใจ ก็อาจสั่งปลัดสำนักนายกฯ จัดผู้ตรวจราชการไปตรวจซ้ำ สรุปรายงานผลมาใน 7 วัน แล้วใช้อำนาจทางปกครองสั่ง “สำรองราชการ” ผู้บังคับการหรือผู้บัญชาการตำรวจผู้รับผิดชอบพื้นที่นั้นทันที

                เพียงเท่านี้ การจ่ายส่วยที่ผู้ประกอบการต้องจดกันยาวเป็นหางว่าวจะหดสั้นลง เหลือเพียงของขวัญ สองสามรายการในเวลาชั่วข้ามคืนเท่านั้น!.   

               

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ:  Monday, January 14, 2019

 

 

 

 

             

               

 

 

About The Author