‘มือปราบอับดุล’กับ ‘ข้อเท็จ ๘ ประการ’ ในคดี ‘ลุงพล’
“มือปราบอับดุล” กับ “ ข้อเท็จ ๘ ประการ” ในคดี “ลุงพล”
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ความตายของน้องชมพู่ซึ่งถือเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติตามกฎหมายซึ่งจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามที่บัญญัติไว้นั้น มีปัญหาที่ผู้รู้และรักความยุติธรรมหลายคนข้องใจสงสัยว่า การชัณสูตรพลิกศพที่ได้กระทำกันไปนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร?
การตายผิดธรรมชาติมีอยู่ห้ากรณีตามที่ ป.วิ อาญา มาตรา ๑๔๘ บัญญัติ คือ ๑. ฆ่าตัวตาย ๒. ถูกผู้อื่นทำให้ตาย ๓. ถูกสัตว์ทำร้ายตาย ๔. ตายโดยอุบัติเหตุ และ ๕. ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ
ความตายของบุคคลทั้งห้ากรณีที่มิได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานอื่นเป็นการเฉพาะไว้ ผู้มีหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพก็คือ พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่และแพทย์นิติเวชตามที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๐ ซึ่งกฎหมายเรียกบุคคลทั้งสองว่า “ผู้ชันสูตรพลิกศพ”
การชันสูตรพลิกศพคือการกระทำต่างๆ ของผู้มีอำนาจและหน้าที่ชันสูตรพลิกศพที่เสมือนเป็นการสอบสวนของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๑๕๕ แต่มีความมุ่งหมายต่อการกระทำคนละอย่างกัน กล่าวคือ
การสอบสวนเป็นการค้นหาข้อเท็จจริงในความผิดอาญา
ส่วนการชันสูตรพลิกศพ คือ การค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความตายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา ๑๔๘ โดยความจริงที่ต้องค้นหาก็คือ เหตุที่ตาย พฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน และเมื่อใด ซึ่งผู้ชันสูตรพลิกศพทั้งพนักงานสอบสวนและแพทย์ต้องทำความเห็นให้ปรากฎเป็นหลักฐานตามมาตรา ๑๕๔
“เหตุที่ตาย” คือ เหตุที่ทำให้ระบบอวัยวะสำคัญ ในร่างกายหยุดทำงาน เช่นปอดไม่ทำงานเนื่องจากขาดอากาศ หัวใจไม่ทำงานเนื่องจากขาดเลือดที่เรียกว่าหัวใจล้มเหลว หรือสมองไม่ทำงานเนื่องจากถูกทำลาย เป็นต้น
“พฤติการณ์ที่ตาย” คือ ข้อเท็จจริงที่เป็นการกระทำจากภายนอกว่า มีสิ่งใดมากระทำต่อร่างกายของผู้ตายหรือไม่และเกิดจากสิ่งใด เช่นการกระทำตนเอง ถูกผู้อื่นกระทำ ถูกสัตว์ทำร้าย หรือเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น การพลัดตกจากที่สูงเอง ถูกฟ้าผ่าหรือถูกคลื่นซัด ฯลฯ
กล่าวโดยสรุปได้ว่า พฤติการณ์ที่ตายหมายถึง ข้อเท็จจริงที่สอดคล้องหรือเข้ากันได้กับการตายโดยผิดธรรมชาติกรณีหนึ่งกรณีใดใน ๕ กรณี
“เหตุ” และ “พฤติการณ์ที่ตาย” นั้นเรียกรวมกันว่า “เหตุของการตาย” บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๑
เหตุที่ตายและพฤติการณ์ที่ตายดังกล่าว หากผู้ชันสูตรพลิกศพไม่ทราบหรือพบได้จากการตรวจสภาพศพภายนอก ก็มีอำนาจส่งศพไปยังแพทย์ซึ่งเป็นพนักงานแยกธาตุของรัฐให้ทำการผ่าเพื่อหาให้พบเหตุแห่งการตายที่แน่ชัดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๑
หลังจากที่แพทย์หรือพนักงานแยกธาตุผ่าศพแล้ว ก็มีหน้าที่ต้องทำรายงานและความเห็นแสดงถึง “พฤติการณ์ที่ตาย” และ “เหตุที่ตาย” เป็นหลักฐานไว้ตามมาตรา ๑๕๒ (๑) และ (๒)
ในกรณีของน้องชมพู่นั้น ผู้ชันสูตรพลิกศพไม่อาจทำความเห็นเกี่ยวกับเหตุและพฤติการณ์ที่ตายได้ เนื่องจากสภาพศพภายนอกไม่ปรากฏร่องรอยหรือบาดแผลที่จะทำให้สามารถให้ความเห็นได้ว่าเกิดจากการถูกผู้อื่นทำให้ตายหรือเหตุใด
ผู้ชันสูตรพลิกศพจึงได้ส่งศพไปยังโรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ จว.อุบลราชธานีเพื่อให้แพทย์นิติเวชเป็นผู้ผ่าศพแยกธาตุเพื่อหา “เหตุของการตาย” ที่แน่ชัด อันเป็นวิธีการค้นหาความจริงเกี่ยวกับความตายตามมาตรา ๑๕๑
เพื่อจะได้ไม่มีใครใช้อำนาจ “สั่ง” หรือ “มั่วนิ่มมะโน” กันว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้!
ซึ่งหลังจากแพทย์หัวหน้านิติเวชโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดอุบลราชธานีได้ดำเนินการผ่าศพและแยกธาตุแล้ว ก็ได้ทำรายงานถึงสภาพศพตามที่พบเห็นและปรากฎจากการตรวจ
สำหรับในส่วน “พฤติการณ์ที่ตาย” ก็ได้มีความเห็นสรุปได้ว่า ไม่น่าจะเกิดจากการถูกผู้อื่นทำให้ตาย ซึ่งมีผลเสมือนเป็นการตายโดยอุบัติเหตุด้วยการขาดน้ำเป็นเวลานาน
ถือเป็นรายงานว่า ความตายที่มิได้เกิดจากการกระทำผิดทางอาญาของผู้ใด
แต่ตำรวจทั้ง “ชั้นเด็ก” และ “ชั้นผู้ใหญ่” ต่างพร้อมใจกันไม่เห็นด้วยกับรายงานของแพทย์ผู้เป็นพนักงานแยกธาตุของรัฐที่มีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย
กลับเชื่อกันว่า ความตายของน้องชมพู่นั้นเกิดจากการที่มีผู้ทำให้ตายอันเป็นความผิดทางอาญา โดยได้มีการแถลงข่าวเมื่อวันที่ ๒ ต.ค. ๖๓ โดยยกข้อเท็จจริง ๘ ประการ ซึ่งอ้างว่าเป็นเหตุผลที่ทำให้เชื่อและคิดเห็นว่าเป็นเช่นนั้น
ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการถามปากคำบุคคลต่างๆ ในหมู่บ้านจำนวนมากรวมทั้งผู้ที่เชื่อกันว่าเป็นนักวิชาการผู้มีความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องเด็กหลายคน?
โดยนำเอาพัฒนาการและความสามารถของเด็กในสภาวะปกติมาอนุมานว่าเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งถือเป็นข้อสันนิษฐานจากข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตายของน้องชมพู่และไม่ใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด
การสันนิษฐานหรือความเชื่อว่าน้องชมพู่ถูกผู้อื่นทำให้ตายนั้นจึงไม่ชอบด้วยเหตุผลและขัดต่อกฎหมายอันว่าด้วยพยานหลักฐานคือ “รายงานการผ่าตรวจพิสูจน์ศพและแยกธาตุ” อย่างชัดแจ้ง
และในทางกลับกัน ถ้าสรุปกันโดยความเชื่อเช่นนั้น หากจะมีผู้สันนิษฐานจากสภาวะที่ไม่เป็นปกติของน้องชมพู่ที่เชื่อว่าน้องอาจเดินตามสุนัขจนพลัดหลงขึ้นไป แล้วดิ้นรนกระเสือกกระสนปีนป่าย ตะเกียกตะกายไปจนถึงยอดภูหินเหล็กไฟก็ย่อมเป็นไปได้ไม่แตกต่างกัน
ฉะนั้น เมื่อกฎหมายได้บัญญัติไว้ถึงวิธีที่ให้ได้มาซึ่งเหตุและพฤติการณ์ที่ตายของบุคคลไว้ห้ากรณีดังกล่าวเป็นการเฉพาะไว้แล้ว
ผู้มีหน้าที่ชันสูตรพลิกศพคือ “”พนักงานสอบสวนและแพทย์” จึงจำต้องถือเอาความเห็นของแพทย์ผู้ผ่าศพและแยกธาตุเป็นสำคัญ
การอ้างข้อเท็จจริง ๘ ประการที่ “มโนกันขึ้นมา” โดย “มือปราบอับดุล” หรือที่เรียกกันว่า “พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ”
เป็นเหตุทำให้เชื่อว่าน้องชมพู่ถูกผู้อื่นทำให้ตาย และได้มีดำเนินคดีจนนำไปสู่การจับกุมคุมขัง “ลุงพล” จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด!
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 9 ส.ค. 2564