หมายเรียกและหมายจับ ออกกันง่ายๆ ผู้คนเดือดร้อนเสียหาย ไร้คนรับผิดชอบ!

ยุติธรรมวิวัฒน์

หมายเรียก และหมายจับ ออกกันง่ายๆ     ผู้คนเดือดร้อนเสียหาย ไร้คนรับผิดชอบ!

 

                                                                พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

        นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มี สาเหตุสำคัญจากปัญหาตำรวจ หรือระบบงานรักษากฎหมายที่ไร้ประสิทธิภาพ สร้างความเสียหายให้กับชาติและประชาชนอย่างเหลือคณานับในครั้งนี้แล้ว

สังคมไทยก็ยังมีปัญหาความชั่วร้ายอีกหลายเรื่องที่รอการสะสาง หรือ ปฏิรูปโครงสร้างสังคมครั้งใหญ่หลังพายุร้ายได้ผ่านไป คงในเวลาอีกไม่นาน!

ระหว่างนี้เรื่องสำคัญที่สุดซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อาจเพิ่งตระหนักและนึกขึ้นได้หลัง ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาถึง 7 ปี!

ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติในการแก้ปัญหาก็คือ การทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการ

ถือเป็น มะเร็งร้าย ที่กำลังเติบใหญ่และกลืนกินร่างกายประเทศไทย ใกล้สิ้นใจ เข้าไปทุกที

ส่วน วิธีแก้ปัญหาของนายกฯ นอกจากการปลูกฝังอุดมการณ์ คุณธรรมจริยธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนสารพัดแล้ว?

เรื่องการสืบจับ อาชญากรมีเครื่องแบบ ตัวใหญ่ๆ มารับโทษตามกฎหมาย เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้น้อย ก็ยังไม่ค่อยเห็นการพูดหรือดำเนินการอะไรให้เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด?

เช่น กรณี ตำรวจผู้ใหญ่ หลายระดับทั้งที่ยังรับราชการอยู่และเพิ่งเกษียณไป สุมหัว กับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. สี่ห้าคน ช่วยกัน ล้มคดีบอส 

แบ่งหน้าที่กันทำต่างกรรมต่างวาระในลักษณะ  ซ่องโจร!

ปัจจุบันทุกคนก็ยัง ลอยหน้าลอยนวล 

ไม่มีใครถูกดำเนินคดีอาญาหรือว่าถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งหรือลงโทษทัณฑ์อะไรแม้แต่คนเดียว!

ส่วนตำรวจผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่ป้องกันอาชญากรรมปราบบ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมาย แต่ ไม่ทำหน้าที่ จนเป็นเหตุให้มีเชื้อโควิดแพร่ระบาดรอบสองและจนกระทั่งรอบสาม

การตั้งกรรมการสอบสวนตำรวจหลายระดับตั้งแต่ ผบช.ไปจนถึงจ่านายสิบทั้งความผิดวินัยร้ายแรงและไม่ร้ายแรงกว่า 250 คน!

แต่จนกระทั่งป่านนี้ ก็ยังไม่ได้ยินว่ามีใครถูกดำเนินคดีอาญาหรือลงโทษทางวินัยอะไรแม้แต่คนเดียวเช่นกัน!   

อีกเรื่องหนึ่งที่ซึ่งมีความสำคัญและสร้างปัญหาร้ายแรงอย่างยิ่งก็คือ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ปัจจุบันกำลังเผชิญกับ วิกฤติศรัทธา จากประชาชนส่วนใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน!

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อขั้นตอนชั้นต้นคือ การสอบสวน

เนื่องจากสังคมไทยได้ปล่อยให้งานสอบสวนหรือการรวบรวมพยานหลักฐานความผิดตามกฎหมายอาญาถูกผูกขาดโดยตำรวจแห่งชาติแต่เพียงหน่วยเดียว ผิดไปจากเจตนาของ ป.วิ อาญา นับแต่ยุคเผด็จการในปี พ.ศ.2506 เป็นต้นมากระทั่งปัจจุบัน

ซ้ำยังขาดการตรวจสอบจากภายนอกระหว่างสอบสวนตามหลักสากลอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าโดยฝ่ายปกครองผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือแม้กระทั่งพนักงานอัยการผู้มีหน้าที่แสดงพยานหลักฐานในการฟ้องคดีต่อศาล!

เป็นเหตุให้ตำรวจไทยจะสอบสวน รวบรวม หรือ ไม่รวบรวม หลักฐานทั้งวัตถุพยานและบุคคลใดกันอย่างไรก็ได้

การออกหมายเรียกประชาชนเป็นผู้ต้องหา ก็กระทำกันแสนง่าย!

แค่มีใครอ้างว่าได้รับความเสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ว่าคนนั้นคนนี้มีพฤติการณ์กระทำความผิดอาญาไม่ว่ามาตราใด

ถ้าเป็นคดีมีโทษจำคุกไม่เกินสามปี

ตำรวจทุกคนที่เป็นพนักงานสอบสวนแม้จะมียศแค่ร้อยตำรวจตรี เพิ่งเป็นตำรวจใหม่ๆ ได้สองสามวัน ก็มีอำนาจในการออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาทุกคนให้มาพบได้ทันที

โดยที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนไม่ว่าจะเป็นระดับสถานี จังหวัด หรือสูงขึ้นไประดับใดผู้ใช้อำนาจสั่งการโขมงโฉงเฉงไม่จำเป็นต้องลงนามให้ปรากฏหลักฐานความรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น!

นอกจากนั้น ในหมายเรียกผู้ต้องหา ก็ไม่จำเป็นต้องระบุวันเวลา สถานที่ และพฤติการณ์การกระทำผิดให้ผู้ถูกออกหมายเข้าใจได้ว่า ถูกใครกล่าวหาว่าไปกระทำผิดในวันเวลาและสถานที่ใด มีพฤติการณ์การกระทำอย่างไร?

ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนเมื่อได้รับหมาย ได้แต่ อ่านกันด้วยความงุนงง 

ไม่รู้จะเตรียมพยานหลักฐานอะไรเพื่อไปแสดงต่อพนักงานสอบสวนและจะได้ไม่ต้องถูกบังคับให้พิมพ์มือบันทึกประวัติอาชญากรรม!

เช่นปัจจุบันผู้จัดการและผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์เนชั่นหลายคน ถูกพนักงานสอบสวน สภ.เมืองบุรีรัมย์ ออกหมายเรียกเป็นผู้ต้องหาด้วยข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เหตุจากแค่รายงานข่าวเล่าสนุกเรื่องรัฐมนตรีคนหนึ่งไปเที่ยว สถานบันเทิงเถื่อน ย่านทองหล่อจนติดไวรัสโควิดกลับมา ซึ่งถูกหาว่าเป็นเท็จ

เนื่องจากความจริง ไม่ได้ไปเที่ยวหรือเกี่ยวข้องอะไรแม้แต่น้อย แต่เพราะข้าราชการหน้าห้องและตำรวจติดตามสี่ห้าคนไปเที่ยวกันตามลำพังแล้วนำเชื้อมาแพร่ให้เจ้านายต่างหาก!

การพูดดังกล่าวถูกสรุปว่า เป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และเมื่อมีการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตด้วย  จึงถือเป็นการนำความเท็จเข้าสู่คอมพิวเตอร์ มีโทษจำคุกถึงห้าปี!

หากมีหมายเรียกไปสองครั้งแล้ว ทั้งหญิงชายใครยัง ทำมึน! อ้างโน่นอ้างนี่ ไม่มา

ตำรวจก็สามารถนำไปเป็นหลักฐาน รายงานมั่วต่อศาล ว่า ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี ขอให้ออกหมายจับแทนได้ทันที

ยิ่งถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนยากจน ไม่ใช่สื่อใหญ่หรือผู้มีอำนาจอิทธิพลอะไร ตำรวจจะไป เสนอศาลให้ออกหมายจับ เลยก็ยังได้ ไม่ต้องออกหมายเรียกก่อนสองครั้งให้เสียเวลาอะไร

ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อตำรวจไปขอหมาย ศาลก็มักจะออกให้ เนื่องจากถือว่า การออกหมายจับไม่ได้หมายความว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด

และเมื่อ ตำรวจทั้งแต่งและไม่แต่งเครื่องแบบ ตามจับไล่ตะครุบตัวบุคคลตามหมายมาได้

หลายคดี “พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ” ก็จะถูกเจ้านายซึ่งเป็น พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ สั่ง ให้คัดค้านการประกันตัวต่อศาล ด้วยการไปรายงานเท็จมั่วๆ  ว่า ผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี หรืออาจมีการไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

หรือแม้กระทั่ง อาจมีการกระทำความผิดแบบเดิมอีก!

ซึ่งปัจจุบันถูก นักกฎหมายที่มีความคิดสัปดนหลายคน ตีความแบบลุแก่อำนาจว่าเป็น การก่อเหตุอันตรายประการอื่น เข้าเงื่อนไขในมาตรา 108/1 (3) ตาม ป.วิ อาญา ที่สามารถนำตัวบุคคลนั้นไปคุมขังในเรือนจำ โดยที่ศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างต่อสู้คดี โดยให้ไปสู้กับเชื้อไวรัสโควิดในเรือนจำแทน

ฉะนั้น การที่บุคคลใดถูกศาลออกหมายจับ และไม่ได้รับการประกันตัว ก็เพราะตำรวจได้รายงานคัดค้านเอาไว้ 

ไม่ใช่ศาลสั่งไม่ให้ตามลำพังโดยไม่มีที่มาที่ไปแต่อย่างใด

ต่อคดีที่ตำรวจมีหมายเรียกใครเป็นผู้ต้องหา หรือว่าเสนอศาลออกหมายจับ ทุกคนล้วนได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส และหลายคนก็ ถูกขังล่วงหน้า โดยที่ยังไม่มีคำพิพากษาว่าได้กระทำผิด

และสุดท้าย แม้อัยการจะได้มี คำสั่งไม่ฟ้อง หรือ ศาลพิพากษายกฟ้อง

ก็ไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อความเดือดร้อนเสียหายของบุคคลนั้นกันแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ระบบการออกหมายเรียกผู้ต้องหาและหมายจับของไทย ต้องได้รับการปฏิรูปให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

โดยต้องแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญา ให้ผ่านการตรวจพยานหลักฐานจากพนักงานอัยการก่อนทุกกรณี

โดยอัยการผู้รับผิดชอบก็ต้องมีความมั่นใจว่า เมื่อออกหมายเรียกใครเป็นผู้ต้องหาหรือว่าจับตัวใครตามหมายมาได้แล้ว 

จะสามารถสั่งฟ้องพิสูจน์ความผิดให้ศาลลงโทษได้อย่างแน่นอนเท่านั้น

เป็นการยกระดับ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยให้มีมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับประเทศที่เจริญทั่วโลก.

หมายจับ

 ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชน ปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 24 พ.ค. 2564

About The Author