กรมคุ้มครองสิทธิฯดันร่างพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานเข้าสนช.20ธค.นี้ชี้คานอำนาจดีเอสไอ-ตำรวจ
กรมคุ้มครองสิทธิฯดันร่างพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานฯ เข้าสนช. 20 ธ.ค.นี้ ชี้ยกระดับคุ้มครองสิทธิฯตามหลักสากล คานอำนาจดีเอสไอ-ตำรวจในการสอบสวน ผู้บังคับบัญชาต้องร่วมรับผิดหากปล่อยลูกน้องอุ้ม-ซ้อมทรมาน
เมื่อวันที่ 4ธ.ค.61 นายสมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมาคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ..และในวันที่ 11 ธ.ค นี้ จะนำเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) เพื่อเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ในวันที่ 20 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกัน ปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิด ซึ่งปัจจุบันไทยยังไม่มีฐานความผิดดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ทำให้ไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) ที่ไทยเข้าเป็นภาคีและลงนามไว้ และยังเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลอีกด้วย
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมาน ประกอบด้วย 5 หมวด 33 มาตรา โดยสาระสำคัญ คือ หมวดที่ 1 บททั่วไป กำหนดเกี่ยวกับฐานความผิดการกระทำทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย การกำหนดไม่ให้เป็นความผิดทางการเมือง กำหนดให้สามี ภรรยา บุพการี ผู้สืบสันดานของผู้เสียหาย ในกรณีกับทำให้บุคคลสูญหาย เป็นผู้ที่สามารถฟ้องร้องคดีได้ และกำหนดให้เป็นความผิดที่ไม่สามารถยกเว้นได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ รวมถึงการเคารพหลักการห้ามผลักดันกลับประเทศ หมวดที่ 2 จัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย จำนวนทั้งสิ้น 19 คน ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษยชน แพทย์ นักจิตวิทยา โดยมีรมว.ยุติธรรมเป็นประธาน หมวดที่ 3 กำหนดเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย โดยระบุให้ทุกหน่วยงานที่มีการจำกัดเสรีภาพบุคคลต้องจัดทำบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ กำหนดหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ มีมาตรการระงับการทรมานและเยียวยาความเสียหายเบื้องต้น
ส่วนหมวด 4 กำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดี โดยกำหนดให้ความผิดตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นคดีพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ และให้ดีเอสไอมีหน้าที่สบสวนสอบสวนเป็นหลัก ยกเว้นกรณีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอตกเป็นผู้ต้องหาให้ตำรวจสืบสวนสอบสวนแท้ และกำหนดให้เป็นเขตอำนาจของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมาชอบกลาง และหมวดที่ 5 บทกำหนดโทษ กรณีที่เจ้าหน้าที่กระทำความผิดฐานทรมานหรือทำให้บุคคลสูญหาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-25 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท แต่ถ้าทำทรมานกับบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี หญิงมีครรภ์ ผู้พิการทางร่างกาย หรือผู้ที่พึ่งตนเองไม่ได้จะได้รับโทษเพิ่มขึ้น หากผู้ใดมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดก็ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการกระทำความผิด ส่วนผู้บังคับบัญชาคนใดทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงกระทำความผิดก็ต้องรับโทษด้วยเช่นเดียวกัน
“หากร่างพ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ กรมคุ้มครองสิทธิฯจะมีหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ และทำหน้าที่ประสานงาน กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาวิจัย ส่งเสริมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย แก่ทุกภาคส่วนต่อไป”นายสมณ์ กล่าว