การเข้าถึงความยุติธรรมของกลุ่มสตรี เด็ก เยาวชน และกลุ่มหลากหลายทางเพศ – เรืองรวี พิชัยกุล

 

การเข้าถึงความยุติธรรมของกลุ่มสตรี เด็ก เยาวชน และกลุ่มหลากหลายทางเพศ

เรืองรวี พิชัยกุล

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI)

25 กุมภาพันธุ์ 2563

 

ความรุนแรงต่อผู้หญิง เด็ก เยาวชน และกลุ่มหลากหลายทางเพศยังคงเป็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ผู้ที่รอดชีวิตจากความรุนแรงจำนวนมากมักไม่แจ้งความกับตำรวจ เนื่องจากกลัวผลกระทบที่ติดตามมา เช่น การตกเป็นข่าวและถูกตีตราจากสังคม ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ล่าช้า ผู้เสียหายต้องเป็นฝ่ายแบกรับภาระการพิสูจน์ถูก-ผิดด้วยตนเอง อันเนื่องมาจากกระบวนการยุติธรรมไทยที่ใช้ระบบกล่าวหา ที่ผู้กล่าวหาต้องเป็นฝ่ายหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์เอง

จากสถิติของสำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้หญิงและเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงปีละ ประมาณ 30,000 คน ที่ไปขอความช่วยเหลือจากศูนย์ที่พึ่งได้ แต่มีจำนวนน้อยกว่าครึ่งที่ไปแจ้งความกับตำรวจ จำนวนดังกล่าวยังถดถอยลงไปอีกในชั้นที่เข้าสู่กระบวนการทางศาลและการพิจารณาคดีเพื่อตัดสิน และถ้าเป็นกรณีความรุนแรงในครอบครัว แทบไม่มีสถิติการตัดสินคดีเลย มีเพียงการขอใช้มาตรการเพื่อความปลอดภัยเป็นส่วนใหญ่ คดีเกือบทั้งหมดจบลงด้วยการยอมความ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องยกระดับการเข้าถึงความยุติธรรมในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม  เพื่อลดการละเมิดสิทธิและความรุนแรงด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางเพศ (Gender-based violence) รูปแบบความรุนแรงยังรวมถึงการมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก การตั้งครรภ์ในเด็กและเยาวชน การตกเป็นเหยื่อในการค้ามนุษย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ปัญหาสำคัญเหล่านี้กระบวนการยุติธรรมไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ พบว่าปัจจัยหนึ่งมาจากการออกแบบนโยบาย มาตรการ และกฎหมายขาดมุมมองสิทธิสตรีและหลักคิดเรื่องความเสมอภาคและความเป็นธรรมระหว่างเพศ (Gender Equality/Equity)

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (CEDAW) เป็นเวลากว่า 30 ปี และมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าหลายประการในการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย เช่น มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่าชาย-หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน ห้ามเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ มีการกำหนดให้รัฐใช้มาตรการพิเศษเพื่อให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงสิทธิได้อย่างเท่าเทียม  มี พรบ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปี 2558  มี พรบ. การค้ามนุษย์  มีการปรับปรุงแก้ไขอีกหลายครั้ง และมี พรบ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ปี 2550

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงความยุติธรรม อุปสรรคใจกลางคือระบบงานยุติธรรมไทยที่ยังขาดการผสมผสานมิติความเสมอภาคระหว่างเพศ (Gender Lens) ในการบริหารความยุติธรรมให้ตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างของหญิงชาย (Gender-sensitive justice) ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดแคลนบุคลากรที่อ่อนไหวในมิติเพศสภาพ จำนวนพนักงานสอบสวนหญิงไม่เพียงพอ การสอบสวน นิติเวช นิติวิทยาศาสตร์ที่ไม่เป็นอิสระ  และผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการทำคดีทางเพศที่ผู้เสียหายเป็นเด็ก เยาวชน และกลุ่มหลากหลายทางเพศในระบบงานยุติธรรมมีไม่พอที่จะรองรับกับสถานการณ์ความรุนแรง อีกปัจจัยหนึ่งคือเกิดจากการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่จัดให้อาชญากรรมและความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศ (Gender-based violence) เหล่านี้อยู่ในกลุ่มอาชญากรรมที่มีความสำคัญในระดับต้นๆ

นอกจากที่กล่าวแล้ว ผู้เสียหายยังขาดการช่วยเหลือทางสิทธิและกฎหมาย (legal Aid) ที่มีประสิทธิภาพ เข้าถึงง่าย และอย่างทั่วถึง ปัจจุบันกองทุนช่วยเหลือทางกฎหมายเหล่านี้มีจำกัดและถูกบริหารโดยหน่วยงานรัฐเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ผู้ให้บริการที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งได้รับความไว้วางใจจากผู้เสียหายมากกว่า กลับขาดแคลนทุนในการทำงาน

ดังนั้นการแก้ปัญหาในเชิงปฏิบัติและในเชิงโครงสร้างให้มีมาตรฐานตอบสนองการแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้หญิง เด็ก เยาวชน และกลุ่มหลากหลายทางเพศอย่างมีประสิทธิภาพ ทางรัฐบาลไทยควรจะศึกษาและยึดหลักกติกาและมาตรฐานระหว่างประเทศ อาทิ CEDAW, UN Sustainable Development Goals โดยเฉพาะ SDGs Goal 5 เพื่อดูว่าสังคมไทยยังขาดนโยบาย มาตรการหรือกฎหมายใดบ้างในการทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา การจัดให้มีงบประมาณอย่างเพียงพอสำหรับทั้งการป้องกันและการคุ้มครอง ความเป็นอิสระของงานสอบสวน การจัดทำสถิติแยกเพศ การติดตามประเมินผล ความสร้างเชี่ยวชาญในการให้ความยุติธรรมในโลกยุคโลกาภิวัฒน์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่รูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว  และที่สำคัญไม่แพ้กันคือการ ให้ความช่วยเหลือ บริการ ควรพิจารณาให้กองทุนช่วยเหลือทางกฎหมายและเยียวยา รวมถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรตลอดสายพานในกระบวนการยุติธรรม ให้มีความเชี่ยวชาญพิเศษ และมี Gender-sensitive ในการให้บริการด้วย

About The Author