ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก1ปี4เดือนปรับ8พันบาทรอลงอาญา2ปีตำรวจปราจีนซ้อมทรมาน’ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร’ยัดข้อหาวิ่งราวทรัพย์

ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งข่าวว่า เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 ศาลจังหวัดปราจีนบุรี นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คดีนายฤทธิรงค์ ชื่นจิตร เป็นโจทก์ ฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนสังกัดกองกำกับการสืบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรีพร้อมพวก เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดปราจีนบุรี เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.925/2558 จากเหตุการณ์ที่โจทก์ยืนยันว่าเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 จำเลยได้ร่วมกันซ้อมทรมานโจทก์ เหตุเกิดที่ห้องสืบสวนกองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดปราจีนได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญาจำเลยซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่ง แล้วนั้น ต่อมาทั้งโจทก์และนายตำรวจที่ถูกศาลตัดสินลงโทษได้ยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์ภาค 2

 

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น กล่าวคือ ตัดสินลงโทษ พ.ต.ท.วชิรพันธ์ โพธิราช ในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 นั้น ศาลเชื่อพยานหลักฐานโจทก์ ว่า พ.ต.ท.วชิรพันธ์ จำเลย ทำร้ายร่างกายและบังคับนายฤทธิรงค์ โจทก์ ให้รับสารภาพ กล่าวโดยสรุปได้ว่า ขณะเกิดเหตุ (28 มกราคม 2552 เวลากลางวัน) โจทก์มีอายุประมาณ 18 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โจทก์มีภาพถ่ายร่องรอยบาดแผลตามร่างกายสอดคล้องกับที่โจทก์ยืนยันว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกาย โดยในคืนวันเดียวกันนั้นเมื่อนายสมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาโจทก์พาโจทก์กลับถึงบ้านแล้ว บิดาโจทก์พูดคุยกับโจทก์ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น บิดาเห็นโจทก์มีอาการหวาดกลัว ตัวสั่น จึงพูดปลอบใจและให้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด โจทก์จึงเล่าให้ฟังว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจพาโจทก์ไปที่กองกำกับการสืบสวน เจ้าพนักงานตำรวจใส่กุญแจมือโจทก์และให้นั่งลงกับพื้นกับพยายามพูดให้โจทก์รับสารภาพ โดยนำถึงขยะไปครอบศีรษะโจทก์ แล้วรัดไว้ไม่ให้มีอากาศหายใจ กับใช้เท้าเหยียบที่กุญแจมือในขณะโจทก์ถูกใส่กุญแจมือไพล่หลัง แล้วดึงโจทก์ลุกขึ้นเพื่อให้โจทก์เจ็บ เป็นการทรมานให้โจทก์รับสารภาพ เจ้าพนักงานตำรวจทรมานโจทก์อยู่หลายครั้ง โจทก์จึงแกล้งบอกว่าจะพาไปเอาสร้อยคอทองคำที่บ้านนาย ท. บิดาให้โจทก์ถอดเสื้อเพื่อดูบาดแผล พบรอยช้ำที่บริเวณต้นคอด้านหลัง หลัง สีข้าง และข้อมือ จึงใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายรูปไว้

 

วันรุ่งขึ้น (29 มกราคม 2552) บิดาพาโจทก์ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลบ้านสร้าง แล้วพาไปแจ้งความที่ สภ.บ้านสร้าง ทั้งในชั้นสอบสวนโจทก์ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายร่างกายโดยมีรายละเอียดข้อเท็จจริงที่ยากจะปรุงแต่งเรื่องเพื่อให้ร้ายปรักปรำผู้ใด สอดคล้องกับคำเบิกความของโจทก์ในชั้นพิจารณา(การสืบพยานในศาล) และยังสอดคล้องกับคำเบิกความของนาย ส. พยานโจทก์คนหนึ่งซึ่งเป็นเยาวชนอายุประมาณ 14 ปี เป็นนักเรียนที่ไปด้วยกันกับโจทก์ในวันเกิดเหตุ และเจ้าพนักงานตำรวจพาไปที่กองกับกับการสืบสวนด้วย นาย ส. นั่งรออยู่ที่เก้าอี้ที่อยู่ระหว่างห้อง 2 ห้อง ต่อมามีเจ้าพนักงานตำรวจเดินออกจากห้องที่ปิดกระจกทึบ พูดกับนาย ส. ว่ามึงรู้อะไรบอกมาให้หมดไม่อย่างนั้นจะโดนเหมือนมัน สักครู่มีชายอีกคนหนึ่งเดินออกมาจากห้องเดิม พูดกับนาย ส. ว่า อย่าโทรศัพท์หาพ่อกับแม่มันนะ และมึงก็นั่งอยู่ตรงนี้ด้วย ห้ามไปไหน แล้วเดินกลับเข้าห้อง สักครู่ นาย ส. ได้ยินเสียงโจทก์ร้องโอย ๆ ดังมาจากห้องที่ปิดกระจกทึบ อีกทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นที่ไปให้ถ้อยคำต่อ ป.ป.ท. นาย ส. ก็ให้การยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่ได้ยินเสียงโจทก์ร้องโอย ๆ

 

เมื่อพิจารณาตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ หรือพยาน และบันทึกคำให้การ/ถ้อยคำของผู้กล่าวหา(คือโจทก์คดีนี้) ศาลเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้ง(คือตัวโจทก์ บิดาโจทก์ และนาย ส.) ต่างเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ตนรู้เห็น พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาน้ำหนักรับฟังได้ ว่า พ.ต.ท.วชิรพันธ์ โพธิราช จำเลย กระทำความผิดจริงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงพิพากษายืน กล่าวคือ มีความผิดตามประมวลอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง, 295, 296, 309, 310 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จึงลงโทษฐาน “เป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา กระทำการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ” ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด โดยศาลลงโทษจำคุก 2 ปี และปรับ 12,000 บาท แต่ศาลลดโทษให้โดยเห็นว่าคำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 8,000 บาท เมื่อคำนึงถึงประวัติ อาชีพ และสภาพความผิดแล้ว และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษเพื่อให้โอกาสจำเลยตัว กล่าวคือรอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี

 

ส่วนจำเลยอีกคนหนึ่งคือ พ.ต.ท.ปัญญา เรือนดี ศาลอุทธรณ์ก็วินิจฉัยว่ามิได้ร่วมสอบปากคำโจทก์กับพ.ต.ท.วชิรพันธ์ โพธิราช ด้วย และไม่ปรากฎว่าพ.ต.ท.ปัญญา อยู่ด้วยขณะมีการทำร้ายร่างกายโจทก์ จึงไม่มีความผิด พิพากษายืน คือเป็นไปตามที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาไว้แล้ว

 

นายสมศักดิ์ ชื่นจิตร บิดาของนายฤทธิรงค์ ได้ให้ความเห็นว่า ตนและนายฤทธิรงค์เคารพในคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ภาค 2 แต่ยังคงจะใช้สิทธิในยื่นฎีกาตามกระบวนการทางกฎหมายเพื่อต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดต่อไป

 

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม มีความเห็นว่าบาดแผลของการทรมานของเจ้าหน้าที่ที่บังคับให้ผู้ต้องหาสารภาพนั้นมีทั้งบาดแผลทางร่างกายและจิตใจ แม้บาดแผลทางร่างกายจะเป็นเพียงรอยช้ำแดง แต่การบังคับให้สารภาพโดยไม่ปรากฎร่องรอยบาดแผลหรือที่เรียกว่าการทรมานทางด้านจิตใจมักเกิดขึ้นและส่งผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน ในกรณีของนายฤทธิรงค์ฯ ในขณะนั้นมีอายุเพียง19 ปี เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต้องเข้ารับการรักษาอาการ PTSD ไม่สามารถเรียนหนังสือต่อได้ อันเป็นผลจากการถูกบังคับให้สารภาพขณะที่ถูกถุงพลาสติกครอบศีรษะให้ขาดอากาศหายใจหลายครั้ง ทั้งที่นายฤทธิรงค์ได้ให้การต่อศาลว่าตนได้รับผลกระทบทางจิตใจ และผลการรักษาทางด้านจิตใจจากสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แต่ศาลกลับไม่ได้นำมาพิจารณา มูลนิธิฯ จึงเห็นถึงความจำเป็น และพยายามเรียกร้องผลักดันรัฐไทยให้มีการตรากฎหมายภายในประเทศให้การทรมานและอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญา เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment (CAT) เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร
ฤทธิรงค์ ชื่นจิตร

 

About The Author