ปัญหาการแต่งตั้งตำรวจไม่เป็นธรรมกับ “อำนาจรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง”

 พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

             กรณีข่มขืนแหม่มอังกฤษที่เกาะเต่า แม้ผู้มีอำนาจและสื่อบางคนจะบอกว่าเรื่องได้ยุติไปแล้ว

แต่ตามกฎหมายถือว่า การสอบสวนยังไม่ได้เริ่มต้นด้วยซ้ำ!

                เพราะผู้รับผิดชอบยังไม่ได้ “รับคำร้องทุกข์ออกเลขคดี” มีการสอบสวนจน สิ้นกระแสความ ทั้งผู้เสียหายซึ่งเป็น ประจักษ์พยาน ก็ยังยืนยันการกระทำผิด รวมทั้งเดวิดและเพื่อนชายหลายคนที่ขึ้นไปแจ้งความบนสถานีตำรวจเกาะพะงันในวันรุ่งขึ้นสรุปสำนวน ส่งให้พนักงานอัยการสั่งคดี

                ซึ่งหากเป็นกรณีมีหลักฐานปรากฏชัดว่า ไม่ได้มีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้นตามแจ้งอย่างแน่นอน ก็ต้องดำเนินคดีกับแหม่มสาวข้อหา “ผู้ใดรู้ว่าไม่ได้มีการกระทำผิดเกิดขึ้น แจ้งข้อความต่อพนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานว่าได้มีการกระทำผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน สามปี

พร้อมทั้งขึ้นบัญชีเป็น “บุคคลต้องห้ามเข้าประเทศ” ด้วย

กฎหมายนั้นเป็นเรื่องของบ้านเมือง ไม่มีใครมีอำนาจจะมาบอกว่าไม่ติดใจดำเนินคดีอาญาแผ่นดินกับผู้กระทำผิดแต่อย่างใด?                               

                แต่อีกมุมหนึ่งของโลก เมื่อแหม่มสาวและชาวอังกฤษรวมทั้งคนต่างชาติทุกคนที่ได้ฟังคำแถลงจากรัฐไทยแล้ว  คงสุดช้ำใจ! สาวอังกฤษมาเที่ยวเมืองไทยหวังพักผ่อน   นอกจากโดนทรชนมอมยาและข่มขืนแล้ว

                ไปแจ้งความกับตำรวจก็มีปัญหา ไม่รู้ว่าโรงพักไหนมีอำนาจสอบสวนหรือจัดการอะไรทั้งในและนอกพื้นที่เกิดเหตุบ้าง?

                ตามกฎหมายถือเป็นหน้าที่ของตำรวจผู้รับคำร้องทุกข์ทุกคน ต้องบันทึกปากคำผู้เสียหายเท่าที่จะทำได้และส่งไปตรวจร่างกายในกรณีจำเป็น รวมทั้งเป็นธุระประสานงานไปยังสถานีที่เกิดเหตุให้ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายต่อไป

และเมื่อเธอนำปัญหาดังกล่าวไปเล่าให้สื่อประเทศอังกฤษฟังจนเป็นข่าว ก็กลับถูกกล่าวหาว่าวันที่เธอขึ้นโรงพักเกาะพะงัน ไปแจ้งแค่ของหาย ไม่ได้แจ้งเรื่องถูกข่มขืน  ทั้งที่ตนเองยืนยันตลอดเวลาว่า ได้แจ้งแล้ว” โดยมีเพื่อนชายอีกหลายคนเป็นพยาน แม้กระทั่งมีการใส่ความกล่าวหาว่าเธอกุเรื่องขึ้น! 

กระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาที่เลวร้ายในลักษณะนี้มาช้านาน

ร้ายแรงที่สุดก็คืองานสอบสวน ตำรวจไทยไม่ยอมเปิดประตูให้ประชาชนผู้เสียหายได้เข้าร้องทุกข์แสวงหาความยุติธรรมกันง่ายๆ โดยเฉพาะคนยากจน

การกระทำผิดหลายกรณี ตำรวจอ้างว่าได้มีการสอบสวนอย่างเต็มที่โดยไม่จำเป็นต้องมี เลขคดี ให้วุ่นวาย  เพราะจะทำให้อัยการเข้ามามีอำนาจตรวจสอบการสอบสวนโดยไม่จำเป็น!

การรับแจ้งความ “แบบไม่มีเลขคดี” ไม่ว่าจะเป็นกรณีความผิดส่วนตัวหรือต่อรัฐร้ายแรงเพียงใด   ตำรวจจะคุยจะเคลียร์อะไรกันกับทั้งผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาก็ง่าย เมื่อเจรจาให้ตกลงกันได้ ผู้ถูกกล่าวหาจ่ายเงินให้ผู้เสียหายและคนกลางแล้วก็จบกันไป

                คดีไม่ต้องถึงอัยการ

การ “ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน” และ “การสอบสวนแบบไม่ออกเลขคดี  จึงเป็นวิธีที่พนักงานสอบสวนนำมาใช้ตามคำสั่งของตำรวจผู้ใหญ่กันมากในปัจจุบัน

                แต่ได้นำไปสู่  “ความวิบัติของกระบวนการยุติธรรมไทย” อย่างร้ายแรง

เกี่ยวกับปัญหาระบบงานสอบสวนที่วิปริตนี้ มีตำรวจส่ง “ข้อความการสั่งราชการทางไลน์” ของตำรวจผู้ใหญ่ในจังหวัดพัทลุงคนหนึ่งถึงผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างน่าสนใจมาดังนี้

                เมื่อวันที่ 19 ต.ค.61 ผลการจับกุมตามหมายจับที่ออกให้ประจำเดือน ต.ค.61 ได้ 54%

พอมาวันนี้ เหลือ 44% เนื่องจาก พงส.เมืองพัทลุง ออกหมายจับเพิ่มหลังวันที่ 19 อีก 5 หมาย ทั้งๆ ที่ผมเคยโพสต์ข้อความขอความร่วมมือไปยัง หน.สภ.ทุกแห่งแล้วว่า ให้ช่วยกัน คุมหมายจับ แสดงว่า

1.ผกก.เมืองไม่ช่วยบริหารหมายจับ หรือไม่ก็

2.ช่วยบริหารแล้ว แต่ พงส.ไม่เชื่อฟังคำสั่งของ ผกก.

3.ผมอยากให้ ผกก.เมืองพัทลุง ช่วยตรวจสอบว่า  เป็น พงส.ผู้ใด และมีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร จึงต้องออกหมายจับเพิ่ม

รู้ทั้งรู้ว่าเรื่องหมายจับ ผู้บังคับบัญชาสั่งการให้จับกุมให้บรรลุในแต่ละเดือน

การสั่งราชการให้ช่วยกันคุมหมายจับและ “หมายหัวพนักงานสอบสวน” ผู้ปฏิบัติตามกฎหมายเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่แสนประหลาดในกระบวนการยุติธรรมของโลกก็ได้        

                พนักงานสอบสวนประเทศไทยมีหน้าที่ต้องช่วยกันลดสถิติคดี ต้องช่วยกันชะลอการออกหมายจับไว้  ไม่ให้เกินเป้าที่กำหนด แม้กระทั่งสอบสวนตามสั่งให้ยัดข้อหาประชาชน

                การสั่งราชการตำรวจและงานสอบสวนที่วิปริตและผิดกฎหมายเช่นนี้ มีเกิดขึ้นมากมาย

เป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา นางวนิดา เหล่าออง ได้ยื่นฟ้องพนักงานสอบสวน สภ.อ.อำนาจเจริญ 3 คนต่อศาลอาญาคดีทุจริตภาค 3 มี พ.ต.ท. พ.ต.ต.สว.สอบสวน และ พ.ต.อ. ผกก.สอบสวน เป็นจำเลยที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบในการแจ้งข้อหาฉ้อโกงต่อเธอ มีผู้กล่าวหาว่านำโฉนดที่ดินของคนอื่นมาเป็นทรัพย์ประกันการกู้ยืมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของโฉนด

ทั้งที่ข้อเท็จจริงบิดาเธอผู้เป็นเจ้าของโฉนดได้ให้ความยินยอมแล้ว จึงไม่มีพยานหลักฐานการกระทำผิดที่จะแจ้งข้อหาได้ แต่พนักงานสอบสวนไม่ยอมสอบพยานสำคัญปากนี้ที่จะยืนยันความบริสุทธิ์ให้เธอ กลับแจ้งข้อหาตามที่ตำรวจผู้ใหญ่ระดับภาคสั่งมา ทำให้ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

คดีนี้คณะพนักงานสอบสวนชุดใหม่ตามที่เธอร้องขอความเป็นธรรมต่อ ผบก.ให้เปลี่ยน ไม่อยากเอามือไปซุกหีบ จึงกลั้นใจสรุปสำนวนเสนอให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง  เพราะพ่อของเธอได้ยืนยันว่าเป็นผู้ลงชื่อยินยอมให้นำโฉนดไปเป็นทรัพย์ประกันเอง

ปัจจุบันคดียังคงอยู่ที่สำนักงานอัยการจังหวัด   ผ่านมาหลายเดือนแล้ว ก็ยังไม่ได้สั่งคดีให้ความเป็นธรรมกับเธอเสียที

อัยการคงรีๆ รอๆ คิดมากว่า ถ้า “สั่งไม่ฟ้อง” ก็ต้องส่งให้ ผบช.ตำรวจภาค หรือ ในความเป็นจริงก็คือ ผกก.สอบสวนผู้น่าสงสาร” เป็นผู้ตรวจเสนอ รอง ผบช.ลงนามตามประกาศ คสช. 115/2557

ซึ่งหากถูกเสนอแย้งไปยัง อสส.ไม่ว่าจะมั่วหรือไม่ ก็อาจทำให้ถูกเพ่งเล็งได้ อัยการหลายจังหวัดจึงยึดคติ “สั่งฟ้อง” ถือหลัก ปลอดภัยไว้ก่อน  แม้ผู้บริสุทธิ์ได้รับความเดือดร้อน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ถือว่าได้ทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดแล้ว

ระยะนี้ตำรวจระดับรอง ผบก.ลงไปถึงรอง สว.ประเทศไทย แต่ละคนต่างจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เพราะเป็นช่วงเวลาของการแต่งตั้งทั้งเลื่อนตำแหน่งและโยกย้าย

สำหรับคนที่ไม่มี เงิน หรือ เส้นสายอยู่ในเครือข่ายอุปถัมภ์ ไม่มีใครสามารถเลือกตำแหน่งที่ต้องการได้ไม่ว่าจะเลื่อนหรือย้าย และไม่มีใครแน่ใจในชะตากรรมว่า หลังเดือนตุลา.นี้ ตนและครอบครัวจะต้องเก็บข้าวของเดินทางไปทำงานรักษากฎหมายที่ไหนกันบ้าง ไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัด ต่างหน่วย หรือภูมิภาคที่ไม่คุ้นเคยต่อภูมิประเทศและผู้คนเลยในชีวิต

สำหรับการแต่งตั้ง รอง ผบ.ตร.ไปจนถึง ผบก.ที่ผ่านมติ ก.ตร.ไปแล้ว ก็มีปัญหาตำรวจผู้ได้รับผลกระทบร้องเรียนว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างน้อยสองราย

รายแรก พ.ต.อ.พรพันธ์ ทิมขำ รอง ผบก.ภ.จว.ชุมพร ได้ทำหนังสือร้องทุกข์เมื่อ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา ถึงประธาน ก.ตร. ว่า ในการแต่งตั้งดังกล่าวมีตำแหน่ง ผบก.ทั่วประเทศว่าง 85 ตำแหน่ง ตนเองมีอาวุโสลำดับที่ 41  แต่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง

ซึ่งถ้าหากหลักเกณฑ์แต่งตั้งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ตนเองต้องได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบก.ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งแน่นอน

ฉะนั้น จึงขอให้ดำเนินการให้มติ ก.ตร.ดังกล่าวเป็นโมฆะ และมีมติแต่งตั้งใหม่ให้เป็นตามหลักอาวุโสตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดจากลำดับที่ 1 ไปจนถึง 85 อย่างเคร่งครัด

ในวันเดียวกัน พล.ต.ต.ศรายุทธ พูลธัญญะ รรท รอง ผบช.ตชด. ก็ได้ร้องทุกข์ต่อประธาน ก.ตร.เช่นกันว่า  ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งดังกล่าว เนื่องจากหลักเกณฑ์ไม่ได้เป็นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และขอให้มติ ก.ตร.นั้นเป็นโมฆะเช่นกัน

ปัญหาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยตำรวจแห่งชาติเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามนั้น นับเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการร้องเรียนร้องทุกข์ตามมาหลังการแต่งตั้งตำรวจ รอง ผบก.ไปจนถึง รอง สว.อีกมากมายหลายพันตำแหน่ง

ปัญหานี้ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับปราบโกง” ได้บอกว่า ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน!

หากตำรวจคนใดคิดว่าตนถูกละเมิดหรือ “ถูกโกง ได้รับความเสียหาย การปฏิบัติไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ก็สามารถใช้สิทธิตามมาตรา 213 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยได้  

                ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินนั้น ไม่ต้องคิดไปยื่นร้องเรียนเรื่องอะไรให้เสียเวลา!                                   

                ในการยื่นคำร้องต่อศาล ก็ควรอ้าง อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการร่างฯ เป็นพยาน     ให้ศาลเรียกมาให้ถ้อยคำ ช่วยอธิบาย ว่า

รัฐธรรมนูญมาตรา 260 วรรคสามนี้ มีเจตนารมณ์ที่แท้จริงอย่างไร?

                และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำหนดหลักเกณฑ์แต่งตั้ง แบ่งให้พวกอาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์เช่นทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งได้สร้างปัญหาความไม่เป็นธรรมให้เกิดขึ้นมากมายมาหลายสิบปีนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวหรือไม่?.

 

About The Author