หน้าที่อัยการคือ’ตรวจสอบการสอบสวน’ไม่ใช่’ตรวจสำนวน”หรือ “ไปร่วมสอบสวน’-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ไม่มีใครแน่ใจได้ว่า ความเห็นต่างเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองหลายเรื่องที่บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งทำให้ผู้คนแบ่งเป็นฝักฝ่ายคาราคาซังมากว่าสิบปี สุดท้าย จะจบลงด้วยความสงบสุขอย่างไร?
แต่อาจกล่าวได้ว่า การสะสมตัวของปัญหาได้เดินมาถึงจุดที่ ประชาชนจำนวนมาก ต้องการ “ปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่” โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลัง ต่างไปจากชาติที่เจริญทั่วโลกแบบสุดกู่ เป็นที่รู้กันดีว่า ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะคนยากจน หรือ ฝ่ายที่ไร้อำนาจรัฐ อย่างแสนสาหัส!
สำหรับคนรวยหรือ กำลังมีอำนาจขณะนี้ อาจไม่รู้สึกอะไร เพราะเป็นฝ่ายได้เปรียบในการใช้กระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะกลไกในชั้นสอบสวนให้เป็นประโยชน์ต่อตน โดยจะ แทรกแซง หรือแม้กระทั่ง สั่งการ ให้ผลสุดท้ายถูกสรุปออกมาอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้กล่าวหาหรือเมื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาก็ตาม!
ปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญานั้น อาจกล่าวได้ว่า แม้กระทั่งเพื่อนบ้านแทบทุกประเทศก็มีระบบที่ก้าวหน้ากว่าไทย โดยเฉพาะหัวใจสำคัญคือการตรวจสอบการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยพนักงานอัยการในคดีสำคัญตั้งแต่เกิดเหตุ ล้วนถูกกำหนดไว้ให้สอดคล้องกับหลักสากลด้วยกันทั้งสิ้น
ไม่มีประเทศใดในโลกที่รัฐปล่อยให้วัตถุพยานและการสอบปากคำบุคคลต่างๆ ว่ารู้เห็นอะไรหรือไม่อย่างไร อยู่ในความรับรู้ของตำรวจฝ่ายเดียว ซ้ำยังปราศจากการตรวจสอบจากภายนอกอย่างสิ้นเชิงเหมือนประเทศไทย!
ปัจจุบัน แม้แต่คดีฆ่าคนตาย ฝ่ายปกครองผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอหัวหน้าผู้รักษาความสงบในพื้นที่ก็ ไม่มีใครรู้ว่าได้เกิดเหตุร้ายกับประชาชนในเขตปกครองของตน รวมทั้งไม่มีส่วนเข้าไปรู้เห็นอะไรในที่เกิดเหตุ สาเหตุของการเกิด การเก็บรวบรวมพยานหลักฐานหรือเกี่ยวข้องกับการสอบสวนอะไรทั้งสิ้น?
เมื่อมีประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนและความอยุติธรรมจากการสอบสวนอย่างแสนสาหัส ไม่ว่าจะเป็นการไม่รับคำร้องทุกข์ การสอบสวนที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือเก็บรวบรวมพยานหลักฐานไม่ครบถ้วน!
ผู้ว่าฯ นายอำเภอ ก็ได้แต่ทำหนังสือ ทำหน้าที่คล้ายไปรษณีย์ ส่งคำร้องนั้นไปให้ ผบก.ตำรวจจังหวัด หรือหัวหน้าสถานีดำเนินการไปตามหน้าที่แล้วบอกให้รายงานผลเพื่อทราบเท่านั้น
เช่นกรณี นางสาวสุณิสา เชิดสกุล พีอาร์สาวคนหนึ่งในเมืองพัทยาที่มีปัญหากับแฟนชาวฝรั่งเศส ถูกไล่ทำร้ายจนตกจากคอนโดมิเนียมชั้น 5 ลงมาสลบ ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลอยู่หลายสัปดาห์ เมื่อร่างกายหายดีแล้วได้นั่งรถเข็นไปแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจพัทยาให้สอบสวนดำเนินคดี
แต่กลับมีปัญหาพนักงานสอบสวน ไม่ยอมรับแจ้งความ บอกว่าแฟนฝรั่งมาแจ้งก่อนแล้วว่ากระโดดลงมาเอง และไม่สามารถดำเนินการอะไรให้ได้ จนกระทั่งแฟนชาวฝรั่งเศสกลับประเทศของตนไป ไม่กลับมาจนกระทั่งป่านนี้!
นอกจากนางสาวสุณิสาจะไปร้องเรียนผ่านสื่อโทรทัศน์หลายช่องจนเหนื่อยล้าสุดระอาแล้ว ก็ยังได้ไปร้องเรียนให้ตำรวจกองปราบดำเนินการ และ พยายามไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รวมทั้งได้ทำหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2562 ถึง นายอำเภอบางละมุง ให้ตรวจสอบการสอบสวนให้ความเป็นธรรม หรือ ใช้อำนาจตามข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยในการเข้าควบคุมการสอบสวนเอง
ส่วนตำรวจจังหวัดและตำรวจภาคนั้น เธอและครอบครัวกลับไม่ได้คิดพึ่งพาอาศัยอะไร!
เมื่อ นายอำนาจ เจริญศรี นายอำเภอบางละมุง ได้รับคำร้องเรียนแล้ว ก็ได้ทำหนังสือลงวันที่ 24 กันยายน 2562 ถึง ผกก.สภ.เมืองพัทยา ให้ตรวจสอบรายงานผลมาให้ทราบใน 7 วัน
แต่จนกระทั่งบัดนี้ น.ส.สุณิสาก็ยังไม่ได้รับคำตอบจาก “ใคร” หรือ “หน่วยงานใด” เลยว่า การตรวจสอบปัญหาการสอบสวนตามที่ร้องเรียนดำเนินการไปถึงไหน? และขณะนี้เธอได้กลายเป็นคนพิการต้องนั่งรถเข็นไปตลอดชีวิต ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส!
ระบบงานสอบสวนที่ไร้การตรวจสอบและควบคุมจากภายนอกเช่นนี้ จึงส่งผลให้ตำรวจไทยเกิดอาการ อำนาจเป็นพิษ กันมากมาย
หลายพื้นที่มีการเปิดบ่อนพนันและแหล่งอบายมุขสารพัด โดยไม่ต้องเกรงกลัวทหารหรือฝ่ายปกครองแต่อย่างใด?
เพราะไม่ว่าใครจะจับบ่อนใหญ่แค่ไหน สถานบันเทิงเถื่อนและเปิดเกินเวลาหรือค้ามนุษย์ค้าทาสอะไร สุดท้าย เจ้าพนักงานผู้จับต้องส่งให้คนที่อยู่เบื้องหลังแหล่งอบายมุขเหล่านั้นเป็นผู้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานประกอบการดำเนินคดีทั้งสิ้น
ต่อปัญหาระบบงานสอบสวนที่เลวร้ายนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ชุดที่ นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธาน ได้ร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติม ป.วิ อาญา ที่สำคัญคือ
1.มาตรา 121/1 คดีที่ให้อัยการร่วมสอบสวนตั้งแต่ พงส.ได้รับแจ้งเหตุ (1) คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่สิบปีขึ้นไป (2) คดีที่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีร้องขอ โดยให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานอัยการ
2.มาตรา 121/2 คดีที่มีการร้องเรียนว่าพนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ พนักงานอัยการอาจทำการสอบสวนโดยแจ้งให้พนักงานสอบสวนร่วมสอบสวนได้
3.มาตรา 136 การถามหรือสอบปากคำ “ผู้ต้องหา” ในคดีที่มีที่มีโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องไว้
การแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ อาญานี้ ถือว่ามีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง แต่ สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมโดยคณะกรรมการชุดที่นายมีชัยเป็นประธานกำลังพิจารณาเสนอต่อนายกรัฐมนตรีอยู่ขณะนี้เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์สอดคล้องกับมาตรฐานสากลก็คือ
1.“กระทรวงทบวงกรมที่เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายใด ให้มีอำนาจสอบสวนความผิดนั้นด้วย โดยไม่ตัดอำนาจของพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจที่จะสอบสวนไปตามหน้าที่ของตน” เป็นการกระจายอำนาจสอบสวนเฉพาะทางให้ทุกหน่วยงาน ทำให้การบังคับใช้กฎหมายในความรับผิดชอบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2.การบันทึกภาพเสียงการสอบปากคำบุคคล ต้องให้กระทำในทุกคดีที่มีโทษจำคุกสามปีขึ้นไป เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจเสนอศาลออกหมายจับ และต้องรวมถึง ผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ ผู้เสียหาย และประจักษ์พยานทุกปาก ซึ่งมีความสำคัญต่อคดีอย่างมากด้วย
3.อัยการต้องเข้า ตรวจสอบการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ในทุกคดีที่เห็นว่าสำคัญหรือจำเป็น ตั้งแต่เกิดเหตุ ไม่ใช่ให้ ไปร่วมสอบสวน ตามที่ตำรวจแจ้งนัดหมาย และ ต้องไม่กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำเพื่อปิดทางการตรวจสอบที่แท้จริงเอาไว้
เพราะหน้าที่ของอัยการทั่วโลกคือ ตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญตั้งแต่เริ่มสอบสวนเพื่อควบคุมให้พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานอย่างครบถ้วน
ไม่ใช่ให้นั่ง รออ่านสำนวน หรือแม้กระทั่ง นิยายสอบสวน รวมทั้งให้ไป สังเกตการณ์สอบสวน ทำหน้าที่เหมือน ผู้ช่วยพนักงานสอบสวน ตามที่บางคนพยายามแก้ไขโดยคิดว่าเป็นการปฏิรูปแล้วแต่อย่างใด!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, October 14, 2019