เกี่ยวกับเรา
สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.)
Institute for Justice Reform (IJR)
เป็นที่ยอมรับกันดีว่า ประชาชนคนไทยแม้กระทั่งชาวต่างชาติในปัจจุบันได้รับความเดือดร้อนจากปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาในรูปแบบต่างๆ กันอย่างแสนสาหัส โดยเฉพาะยิ่งปัญหาจากกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น คือตำรวจและระบบงานสอบสวน ที่ถูกผูกขาดโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติและขาดการตรวจสอบจากภายนอกระหว่างสอบสวนอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะโดยพนักงานฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอผู้รับผิดชอบในการปกครองท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งพนักงานอัยการผู้มีหน้าที่นำพยานหลักฐานไปฟ้องคดีต่อศาล
จุดอ่อนของตำรวจและระบบงานสอบสวนประเทศดังกล่าว ซึ่งถือว่าอยู่ในสภาพล้าหลังต่างไปจากประเทศที่เจริญทั่วโลกที่ไม่มีใครจัดตำรวจเป็นองค์กรให้มีชั้นยศแบบทหาร หรือการถูกจัดเป็นเหล่าทัพแบบประเทศไทย นอกจากนั้น การสอบสวนคดีสำคัญหรือคดีที่มีปัญหาล้วนถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยพนักงานอัยการด้วยกันทั้งสิ้น
จุดอ่อนดังกล่าวได้นำไปสู่ความไม่มีประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายรวมไปถึงการทุจริตหรือฉ้อฉลในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การไม่รับคำร้องทุกข์ดำเนินการสอบสวนคดีที่ประชาชนผู้ยากจนเป็นผู้เสียหาย การแจ้งข้อหาโดยปราศจากพยานหลักฐานการกระทำผิดที่ชัดเจน นำไปสู่ความผิดพลาดของพนักงานอัยการในการสั่งคดีฟ้องผู้บริสุทธิ์ หรือแม้กระทั่งการพิจารณาของศาลในการพิพากษาลงโทษจำเลยโดยอาศัยพยานหลักฐานในชั้นสอบสวนเป็นสำคัญ
ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์ของปัญหาที่มีประชาชนร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนอยู่ว่าตนเองตกเป็น “แพะ” ถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดีหรือแม้กระทั่งอัยการสั่งฟ้องคดีหรือศาลมีคำพิพากษาลงโทษโดยที่ตนไม่ได้กระทำผิดกันมากมายตลอดเวลา
ปรากฏการณ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานเหล่านี้โดยไม่ได้รับการแก้ไขหรือปฏิรูปจากผู้มีอำนาจอย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใด ได้ส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมอาญาของชาติไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอย่างร้ายแรงยิ่งในปัจจุบัน และเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)และนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศให้จะดำเนินการ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” เป็นวาระสำคัญที่จะต้องดำเนินการหลังทำ รัฐประหารเมื่อวันที่ 22พ.ค. 2561
เริ่มด้วยการจัดตั้ง “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” (สปช.) ซึ่งมีตัวแทนจากประชาชนทุกภาคส่วนมาร่วมกันพิจารณาเสนอแนวทางปฏิรูป สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ไปจนกระทั่ง “คณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ” ชุดที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน รวมไปถึง “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม” ชุดที่นายอัชพร จารุจินดา เป็นประธานฯ
แต่จนกระทั่งบัดนี้ เวลาได้ผ่านมาเกือบห้าปี มีการจัดทำเอกสารรายงานการพิจารณาต่างๆมากมาย แต่ประชาชนก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ปัญหาตำรวจผู้ใหญ่รับส่วยสินบนหรือรู้เห็นเป็นใจให้มีแหล่งอบายมุข ไม่ว่าจะเป็นบ่อนการพนันและสถานบันเทิงผิดกฎหมาย ก็ยังคงปรากฎอยู่มากมาย ส่วนตำรวจผู้น้อยก็ร่วมกันจับประชาชนด้วยข้อหาต่างๆนำตัวไปต่อรองไปรีดเอาทรัพย์ ปัญหาพนักงานสอบสวนไม่รับคำร้องทุกข์ดำเนินการสอบสวน หรือเรียกรับสินบนเพื่อล้มคดี หรือการสอบสวนที่ไม่เป็นธรรมไม่ได้รวบรวมพยานหลักฐานอย่างครบถ้วนตามกฎหมายยังคงเกิดขึ้นมากมาย
กลุ่มนักวิชาการและประชาชนที่ห่วงใยบ้านเมืองจึงเห็นว่า ความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหากระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลังดังกล่าว คนไทยทุกคนคงจะนิ่งเฉยรอให้ผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดนี้หรือชุดใดแก้ไขปัญหาหรือดำเนินการปฏิรูปตามลำพังไม่ได้อีกต่อไป แม้ในอนาคตจะมีผู้นำรัฐบาลบางคนเห็นความเดือดร้อนของประชาชนและความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูป แต่ก็จำเป็นต้องได้รับการหนุนช่วยจากเครือข่ายประชาชนในการชี้ทิศทางและแนวทางการปฏิรูปที่ถูกต้อง รวมทั้งเสริมพลังให้สามารถยืนหยัดต่อสู้กับกลุ่มอิทธิพลที่ได้รับประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมจากกระบวนการยุติธรรมที่ล้าหลังนี้
เป็นที่มาของการร่วมกันจัดตั้ง “สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” (สปยธ.) หรือ Institute of Justice Reform (IJR) ขึ้น เป็นองค์กรภาคประชาชนในการให้ความรู้ทางวิชาการและการปฏิบัติแก่ประชาชนผู้มีศักยภาพและตื่นรู้ และให้ความช่วยเหลือให้คำแนะนำประชาชนผู้ถูกกระทำหรือได้รับผลกระทบที่ต้องการความช่วยเหลือตามความสามารถที่กระทำได้
นอกจากนั้น ก็จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานงานกับองค์กรเอกชนและเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ต่อสู้รณรงค์ปัญหารายประเด็นต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากระบบงานรักษากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศที่ล้าหลังดังกล่าว รวมพลังช่วยกันผลักดันให้รัฐบาลไม่ว่าชุดปัจจุบันหรือในอนาคตที่จะมาจากการเลือกตั้ง เร่งปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมของชาติให้มีมาตรฐานสากลเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ เพื่อลดความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และทำให้เป็นที่เชื่อถือเชื่อมั่นของประชาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ เป็นการสร้างหลักนิติรัฐ นิติธรรม ฐานรากสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ทำให้สังคมมีความเจริญก้าวหน้าอย่างแท้จริงโดยเร็วที่สุด