ปธ.ศาลฎีกาออกแนวปฏิบัติคุ้มครองผู้เสียหายเหยื่ออาชญากรรมคดีอาญา 12 ข้อ
เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563 นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ได้ออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติต่อผู้เสียหายในคดีอาญา พ.ศ.2563 ระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรให้กระบวนการทางศาลในทุกขั้นตอน การปฏิบัติต่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเหยื่ออาชญากรรมอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประธานศาลฎีกาจึงออกคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อผู้เสียหาย ดังต่อไปนี้
1.ศาลพึงปฏิบัติต่อผู้เสียหายด้วยความเข้าใจและคำนึงถึงศักดิ์ศรีของบุคคล ตลอดจนความปลอดภัยและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกาย จิตใจ ฐานะสถานภาพทางสังคม ความเป็นอยู่ และการดำรงชีวิตของผู้เสียหาย อันเนื่องมาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาทางศาล
หลักทั่วไป
2.ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลพึงรับฟังความคิดเห็นหรือความกังวลใจของผู้เสียหายด้วยความเมตตาและเข้าใจ และด้วยความเป็นกลางโดยปราศจากอคติที่มีต่อทุกฝ่ายในคดี
3.เมื่อเห็นเป็นการจำเป็น ศาลอาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลจัดทำข้อมูลประวัติของผู้เสียหาย ผลกระทบหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อผู้เสียหาย ความคิดเห็นหรือความกังวลใจของผู้เสียหาย ตลอดจนพฤติการณ์อื่นใดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศาลเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคดี
กรณีผู้เสียหายร้องขอคุ้มครองความปลอดภัย ให้ดำเนินการตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการคุ้มครองและค่าตอบแทนพยานในคดีอาญา พ.ศ.2548 หรือศาลอาจมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลดำเนินการตามความเหมาะสม
4.ศาลพึงอธิบายถึงสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของผู้เสียหาย ขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณา รวมถึงแจ้งความคืบหน้าและการสิ้นสุดของการดำเนินกระบวนพิจารณาให้ผู้เสียหายทราบ
5.ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ คดีเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว คดีที่ผู้เสียหายเป็นเด็กหรือเยาวชน หรือคดีที่มีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนหรือสังคม ศาลพึงระมัดระวังไม่ให้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ต้องหาหรือจำเลย กับผู้เสียหายและพยาน โดยจัดห้องพักผู้เสียหายและพยานเหล่านั้นแยกต่างหากจากห้องพักพยานทั่วไป รวมถึงอาจจัดให้มีการสืบพยานผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ หรือสืบพยานแบบไม่เผชิญหน้า เท่าที่ไม่ขัดแย้งต่อกฎหมาย
การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย
6.ในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ศาลพึงคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน และสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้เสียหาย โดยอาจสอบถามความคิดเห็นของผู้เสียหาย เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว
7.ในกรณีที่มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ศาลอาจกำหนดมาตรการกำกับดูแลความประพฤติของผู้ถูกปล่อยชั่วคราว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิทธิของผู้เสียหาย เช่น (1) ห้ามยุ่งเกี่ยวหรือติดต่อกับผู้เสียหายไม่ว่าด้วยวิธีการใด (2) ห้ามปรากฏตัวให้ผู้เสียหายเห็นโดยจงใจ (3) ห้ามเข้าไปในสถานที่ที่ผู้เสียหายอยู่อาศัย (4) ห้ามสืบหาหรือตรวจสอบความเป็นไปของผู้เสียหาย
การเยียวยาความเสียหาย
8.ศาลพึงให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้เสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งให้ทราบถึงสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เสียหายตามสมควรในการดำเนินการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ค่าตอบแทน หรือการช่วยเหลืออย่างอื่นที่จำเป็น
9.ศาลพึงช่วยเหลือแนะนำผู้เสียหายในการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทระหว่างผู้เสียหายกับจำเลย เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เป็นธรรม รวดเร็ว และเป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่าย
การพิพากษาคดี
10.ในการกำหนดโทษ ศาลพึงรับฟังความคิดเห็นของผู้เสียหายและคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายประกอบด้วยเสมอ ในกรณีที่จะพิพากษารอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษและคุมความประพฤติจำเลย หากผู้เสียหายยังไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งกำหนดให้การขวนขวายชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงื่อนไขในการคุมความประพฤติจำเลยด้วย และอาจวางเงื่อนไขให้จำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายด้วยก็ได้
11.เมื่อมีคำพิพากษา ศาลพึงแจ้งผลคำพิพากษาพร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาให้ผู้เสียหายทราบโดยเร็ว โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายการบังคับค่าสินไหมทดแทน
12.กรณีที่มีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และจำเป็นต้องมีการบังคับคดี ให้เจ้าหน้าที่ศาลให้คำแนะนำและช่วยเหลือผู้เสียหายในการดำเนินการเพื่อบังคับคดี รวมทั้งการประสานงานแจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียหาย หรือขอข้อมูลจากองค์กร หน่วยงาน หรือบุคคลอื่นใด เพื่อประโยชน์แก่การยึดอายัดทรัพย์สินของจำเลยหรือบังคับคดีโดยวิธีการอื่นต่อไป