‘รถนำ’ไม่ใช่ ‘รถฉุกเฉิน’ตามกฎหมาย ประชาชนไม่หลีกทางให้ ไม่มีความผิด
“รถนำ”ไม่ใช่“รถฉุกเฉิน”ตามกฎหมาย ประชาชนไม่หลีกทางให้ ไม่มีความผิด
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ระยะนี้มีเรื่องราวอื้อฉาวเกี่ยวกับตำรวจไทยเกิดขึ้นแทบจะเป็นรายวัน จนประชาชนจดจำนำมาวิจารณ์กันไม่หวาดไหว
แต่แทบทุกเรื่อง เกิดแล้วก็ผ่านไป!
ไม่มี ผู้มีอำนาจรับผิดชอบ คนใดพูดจาหรือหาทางแก้ไข หรือแสดงความพยายามในการปฏิรูประบบตำรวจและโครงสร้างอย่างจริงจังแต่อย่างใด
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นอกจากมีหน้าที่ไปนั่งเป็นประธานการประชุม ก.ตร.ตามที่ ผบ.ตร.“จัดวาระให้” ในแต่ละเดือนแล้ว
ประชาชนก็ไม่เคยได้ยินคำพูดอะไร เกี่ยวกับปัญหาตำรวจที่เกิดขึ้นว่า ท่านมองเห็นเหมือนกับประชาชนหรือไม่ และคิดจะจัดการอย่างไร?
นอกจากเรื่องตำรวจ 191 9 นาย ถือหมายค้น พร้อมกับพวก เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ อีก 5 นาย เข้าตรวจค้นและจับตัวชาวจีนในอาคารที่เคยเป็นสถานกงสุลนาอูรู พื้นที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ
ยึด เงินสด 10 ล้านไปเป็นของกลางตามที่ปรากฏในภาพถ่าย
แต่สุดท้ายในบันทึกจับกุมกลับ เหลือเงินแค่ 2.5 ล้าน
ซ้ำยังมีการ รีดเงินนับล้านจากผู้ถูกจับ เป็นรายหัว และปล่อยตัวอีกนับสินคนให้กลับบ้านไป
ในส่วนของเจ้าพนักงานคดีพิเศษที่ไปร่วมตรวจค้น ผู้รักษาการแทนอธิบดีได้มีคำสั่ง พักราชการ ไปทุกนายแล้ว
แต่สำหรับตำรวจ ยังทำแค่ ย้าย สั่งให้ไปปฏิบัติราชการอีกหน่วยงานหนึ่งตามสูตรเท่านั้น?
อีกไม่กี่วันต่อมา ก็เกิดเรื่องงามหน้ากรณี หญิงสาวชาวจีน โพสต์คลิปความประทับใจจากการบริการของตำรวจไทย?
“ถ่ายคลิปไปเธอก็ขำไป” เก็บอาการไม่อยู่
นึกไม่ถึงว่าเสียงเล่าลือในประเทศจีนเรื่อง เมืองไทยหากมีเงินจะจ้างให้ตำรวจทำอะไรก็ได้ จะเป็นความจริง!
แต่แรกที่เธอได้ยินก่อนมาไทยก็ไม่เชื่อ จึงอยากทดสอบดู
ปรากฏว่า “เงินบันดาลได้ทุกสิ่งตามคำร่ำลือของชาวจีนจริงๆ”!
ประทับใจตั้งแต่มีตำรวจหนุ่มไปยืนคอยรับถึงทางออกเครื่องบิน
ช่วยยกกระเป๋าให้ พาเข้าช่องพิเศษเสียเวลาตรวจลงตราแค่ห้านาที มีคนเปิด-ปิดประตูรถให้ ตำรวจหนุ่ม “ขับรถนำ” เปิดสัญญาณไฟเสียงไซเรนดังลั่นไปตลอดทางจนถึงพัทยา
ใช้เวลาแค่หนึ่งชั่วโมงก็ถึงโรงแรมที่พักซึ่งปกติใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง
รถจักรยานยนต์จ่าย 6,000 สำหรับรถยนต์เพิ่มเป็น 7,000 ตามคำพูดในคลิปของเธอ!
เรื่องนี้ได้กลายเป็นไวรัลที่สร้างความสนใจให้กับผู้คนในประเทศจีนอย่างมากและอยากจะมาเที่ยวไทยไปตามๆ กัน
แต่กลายเป็นเรื่องใหญ่ของคนไทยในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเธอได้โพสต์คลิปนี้ออกไป
ก็เป็นอย่างที่ นายตู้ห่าวกล่าวไว้
“กูมีปืน กูมีเงิน” “อยู่เมืองไทย จะทำอะไรก็ได้”!
ซึ่งหมายความว่า ทั้งกฎหมายและตำรวจผู้รักษากฎหมายทุกระดับล้วนแต่พูดคุยกันได้
ทุกเรื่อง จ่ายครบ จบได้!
“รถนำ” ซึ่งเป็นคำพูดที่ติดปากผู้คนในประเทศไทยนั้น อันที่จริงไม่มีปรากฏอยู่ในตัวบทกฎหมายใดทั้งสิ้น
ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 4 (19) มีแต่คำว่า รถฉุกเฉิน
คือรถที่ใช้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันทีไม่มีใครคาดฝัน
ตามกฎหมายได้แก่ รถดับเพลิง รถพยาบาล และ รถที่รัฐอนุญาตให้ใช้สัญญาณไฟวับวาบและเสียงไซเรนเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ เท่านั้น
นอกจากรถฉุกเฉินทุกคันต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงมีการอนุญาตกันมากมายอย่างไร้การควบคุม จน มั่วไปหมด แล้ว!
การใช้สัญญาณไฟและเปิดเสียงไซเรน ก็ต้องเป็นไป เพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในเหตุฉุกเฉินสาธารณะแต่ละเรื่อง ตามความจำเป็น ไม่ใช่ ใช้กันจนมั่ว เช่นที่เป็นอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน
การใช้รถฉุกเฉิน ในการแล่นด้วยความเร็วมากนั้น ไม่ว่าจะเป็นรถดับเพลิง รถพยาบาล และรถตำรวจไประงับเหตุร้าย
ในทุกประเทศทั่วโลกถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผู้ขับรถและผู้อยู่บนถนนทุกคนต้องหลีกทางให้
และตามกฎหมายผู้ขับรถฉุกเฉินสามารถขับฝ่าฝืนข้อห้ามในทุกเรื่องได้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายหรือสัญญาณไฟ
แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนรถอื่นขึ้นได้!
สำหรับประเทศไทย กฎหมายจราจรมาตรา 76 ผู้ขับคนและคนเดินเท้าทุกคนพบเห็น มีหน้าที่ต้องหลบและหลีกทางให้ในทันทีเช่นกัน
ใครไม่ปฏิบัติตามนั้น มีความผิดทางอาญาตามมาตรา 148 มีโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
แต่ รถนำของตำรวจ หรือแท้จริงคือ รถอำนวยความสะดวก นั้น
แม้จะเป็นรถราชการที่ได้รับอนุญาตจากรัฐจัดเป็นรถฉุกเฉินไว้
ถ้าตำรวจผู้ขับรถคนใด ใช้รถโดย “เปิดไฟหรือเสียงไซเรนขอทางโดยไม่มี “เหตุฉุกเฉินสาธารณะ”
ไม่ว่าจะเป็นการขับนำนักการเมืองหรือตำรวจผู้ใหญ่ “ไม่ว่าจะเป็นระดับใดแม้แต่ ผบ.ตร.ทั้งในปัจจุบันและที่เกษียณแล้ว” ไปประชุมหรือเป็นประธานงานต่างๆ ไปตรวจราชการ ไปตีกอล์ฟ หรือแม้แต่นำแม่บ้านตำรวจไปร่วมกิจกรรม ฯลฯ
ก็ “ไม่ใช่การใช้สัญญาณไฟและเสียงไซเรนที่ชอบตามกฎหมาย” ซึ่งประชาชนจะต้องหลบหรือหลีกทางให้เสียเวลาทำมาหากินกันแต่อย่างใด.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 23 ม.ค. 2566