ศาลสั่งจำคุก 3 ปี ‘เจ้าของร้านเพชร’ ให้การเท็จกล่าวหา ‘พ่อค้าไก่ย่าง’ ฉกเพชร 15 ล้าน
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2565 ศาลอาญาธนบุรี มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.1150/2562 ที่นายพิสิษฐ์ สุวรรณพิมพ์ อาชีพพ่อค้าไก่ย่าง จ.นครพนม อดีตจำเลยคดีวิ่งราวเพชรมูลค่า 15 ล้านบาท เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.บุญญรัตน์ รัศมีสุขานนท์ จำเลยที่ 1 บริษัท กาแล็คซี่ไดมอนด์ จำกัด จำเลยที่ 2 นายดีวัง กุมาร ชีวันทิลาล ซังกาวี จำเลยที่ 3 นางประยอม ตันสถาพร จำเลยที่ 4 ในความผิดฐานนำความเท็จฟ้องผู้อื่น ฯ และเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 175, 177
พฤติการณ์กล่าวหาคดีนี้ สรุปว่า เมื่อเดือนเม.ย. 2560 พนักงานอัยการ ยื่นฟ้องโจทก์คดีนี้ เป็นจำเลยต่อศาลอาญาธนบุรี ในข้อหาวิ่งราวทรัพย์และหน่วงเหนี่ยวกักขัง จากที่เกิดเหตุมีคนร้ายคือนายแดง วิ่งราวทรัพย์แหวนเพชร 4 รายการ ของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบอาชีพขายเพชรที่นำไปขายให้นายแดง ที่บ้านแห่งหนึ่ง ย่านภาษีเจริญ โดยคนร้ายได้กักขังจำเลยที่ 1 ไว้ในบ้านแล้วได้หลบหนีไปพร้อมถาดแหวนเพชร
ภายหลังเมื่อมีการแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจได้ส่งรูปบัตรประชาชนของโจทก์ที่เคยใช้สำหรับเปิดใช้มือถือ ให้จำเลยที่ 1 ดู แล้วแจ้งว่าโจทก์คือนายแดง และได้มีการสอบจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นแม่บ้านเป็นพยาน โดยเมื่อเดือน ก.ค. 2560 จำเลยที่ 1 ขอเข้าเป็นโจทกก์ร่วมคดีดังกล่าว และบริษัทจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 มอบอำนาจจำเลยที่ 1 ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย ซึ่งภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 4 ได้เข้าการเบิกความคดีดังกล่าว โดยการเบิกความนั้นเป็นเท็จ ปรักปรำให้โจทก์ต้องได้รับโทษทางอาญา
โดยชั้นตรวจฟ้อง ศาลมีคำสั่งรับฟ้องเฉพาะข้อหาเบิกความเท็จ ตาม ป.อ.มาตรา 177 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 และ 4 ส่วนข้อหาอื่นให้ยก และยกฟ้องจำเลยที่ 2-3 ขณะที่ชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 และ 4 ให้การปฏิเสธ
โดยศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วเห็นว่า การที่จะเบิกความเท็จ ตาม ป.อ.มาตรา 177 ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนาคือรู้อยู่แล้วว่าข้อความที่นำมาเบิกความนั้นเป็นเท็จ โดยจำเลยที่ 1 เบิกความเป็นพยานในคดีดังกล่าวซึ่งยืนยันว่าโจทก์คือนายแดงคนร้ายที่วิ่งราวทรัพย์ โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ไม่ใช่นายแดง ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวหากศาลฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความจะมีผลให้ได้รับโทษ จึงเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม มาตรา 177 วรรคสอง
สำหรับจำเลยที่ 4 ไม่ปรากฏว่าเคยพบกับนายแดงมาก่อนเกิดเหตุ อีกทั้งในวันเกิดเหตุได้พบกับคนร้าย 2 ครั้งแต่ละครั้งใช้เวลาไม่นาน และเมื่อมีการวัดความสูงเปรียบเทียบโจทก์กับคนร้าย ภายหลังจำเลยที่ 4 จึงเบิกความใหม่ว่าโจทก์ไม่ใช่คนร้าย เมื่อไม่ปรากฏเหตุจูงใจที่จะทำให้เห็นได้จำเลยที่ 4 มีเจตนาเบิกความอันเป็นเท็จ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 4 กระทำผิดหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยให้ ตามประมวลกฎหมายวิธิจารณาความอาญา (ป.วิ.อ.) มาตรา 227 วรรคสอง
ศาลจึงพิพากษาว่า น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 177 วรรคสอง ให้จำคุก 3 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4
สำหรับคดีเพชรถูกโจรกรรม มูลค่ากว่า 15 ล้านบาท เกิดเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2559 ในบ้านแห่งหนึ่งเขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ และตำรวจติดตามไปจับกุมตัวนายพิสิษฐ์ ได้ที่บ้านเช่าในจังหวัดนครพนม เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2560 และถูกอัยการยื่นฟ้องเป็นจำเลย และถูกขังที่เรือนจำพิเศษธนบุรี ระหว่างการพิจารณาคดีเป็นเวลา 7 เดือน 10 วัน จนกระทั่งศาลอาญาธนบุรีพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2560 จึงปล่อยตัวสู่อิสรภาพ
ต่อมาฝ่ายโจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2561 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2561 จากนั้นฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้ขอยื่นฎีกา คดีแพะชิงเพชรจึงคดีสิ้นสุดในวันที่ 24 ธ.ค. 2561
ดังนั้นนายพิสิษฐ์ จึงได้นำคดีไปร้องเรียนหลายหน่วยงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม และมายื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีนี้ด้วยตัวเอง โดยศาลอาญาธนบุรี พิพากษาลงโทษจำคุก น.ส.บุญญรัตน์ จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ฐานเบิกความเท็จ เป็นเวลา 3 ปี ดังกล่าว
ภายหลังศาลอาญาธนบุรี มีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี น.ส.บุญญรัตน์ รัศมีสุขานนท์ จำเลยที่ 1 ฐานเบิกความเท็จ ตาม ป.อ.มาตรา 177 แล้ว ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ โดยมีหลักประกัน 150,000 บาท
ด้านนายพิสิษฐ์ เปิดเผยภายหลังรับฟังคำพิพากษาของศาลนาน 2 ชั่วโมงว่ า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ.2560 ขณะกำลังเตรียมของขายไก่ย่างอยู่ที่ จ.นครพนม ได้มีตำรวจจากกรุงเทพฯ บุกเข้าไปจับกุมที่ร้าน โดยกล่าวหาว่าลักเครื่องเพชร ของ น.ส.บุญญรัตน์ จากบ้านพัก ในหมู่บ้านนิศาชลท้องที่ สน.บางเสาธง ไปจำนวนหลายรายการ มูลค่าหลายล้านบาท ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกับคู่กรณีมาก่อน แต่คู่กรณีก็ชี้ตัว และให้ปากคำเท็จต่อพนักงานสอบสวนตลอดจนให้การเท็จต่อศาลว่า เราลักเอาทรัพย์สินของเขาไป ขณะเข้าไปขอเลือกซื้อเครื่องเพชรที่บ้าน เป็นเหตุให้ถูกศาลตัดสินจำคุกฟรี นานถึง 7 เดือน 10 วันกว่าที่ญาติพี่น้องและภรรยา จะช่วยกันหาหลักฐานมาโต้แย้งยืนยันให้ศาลเชื่อว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนได้รับอิสรภาพออกมา
“หลังออกจากเรือนจำ จึงเดินหน้าเข้าร้องทุกข์ต่อกระทรวงยุติธรรม สํานักงานตํารวจแห่งชาติ และสื่อมวลชน จนได้รับเงินเยียวยามาประมาณ 180,000 บาท จากการที่ต้องลำบากติดคุกโดยที่ไม่ได้กระทำความผิดนาน 7 เดือน 10 วัน และสามารถฟ้องกลับคู่กรณีได้ในข้อหาให้การเท็จ วันนี้ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาคู่กรณี มีความผิดจริงต้องโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา คู่กรณีกำลังยื่นหลักฐานการประกันตัวและจะขออุทธรณ์สู้คดีต่อ ซึ่งผมและทนายความ ก็พร้อมสู้ต่อ เนื่องจากยังไม่ได้เรียกร้องเอาค่าชดเชยทางแพ่ง อย่างไรก็ตาม ในวันที่คู่กรณีดำเนินการเอาผิดกับเราทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์ เขาเรียกร้องค่าเสียหายสูงถึง 15 ล้าน 8 แสนบาท ทางฝ่ายเราก็จะเรียกร้องเอาค่าชดเชยความเสียหาย ที่ต้องติดคุกฟรีในมูลค่าไม่แตกต่างกัน ขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขในใจ ขอปรึกษากับทนายความก่อน” นายพิสิษฐ์ กล่าว