ตำรวจไทย กับ ‘หมายไม่จับ'(คนรวยส่วยถึง)
ตำรวจไทย กับ “หมายไม่จับ”(คนรวยส่วยถึง)
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาช่วงบ่าย ได้มีโอกาสฟังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายตอบกระทู้สดของนายธีรัชชัย พันธุมาศ สส.พรรคก้าวไกล แทนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ผบ.ตร.โดยตรงแต่เพียงผู้เดียว?
เป็นกระทู้ถามเกี่ยวกับปัญหาการสอบสวนคดีบอสและการดำเนินคดีอาญากับ “แก๊งซ่องโจรพลตำรวจเอก” เปลี่ยนความเร็ว!”
รวมทั้ง “ไอ้โม่งผู้บงการ” และ “นายพลตำรวจผู้สั่งย้ายนายตำรวจที่พยายามตามจับบอสให้พ้นจากหน้าที่ไป” ซึ่งนายธีรัชชัยได้เคยอภิปรายตั้งข้อสังเกตรวมทั้งตั้งกระทู้ถามไว้
“ซ่องโจรใหญ่แก๊งนี้” กลุ่มที่มีหลักฐานการกระทำผิดอาญาชัดเจนประกอบด้วยพลตำรวจเอก ๒ คน พลตำรวจตรี ๑ คน อัยการ ช. และทนายความ
โดยร่วมกันใช้สถานที่ราชการคือห้องทำงานสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งตั้งอยู่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นที่ก่ออาชญากรรมในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๙
“พูดจาเกลี้ยกล่อมและหว่านล้อมกดดัน” พ.ต.ท.ธนสิทธิ์ แตงจั่น (ยศขณะนั้น) นักวิทยาศาสตร์ผู้ตรวจพิสูจน์และออกรายงานเรื่องความเร็วของรถบอสขณะชน ให้คำนวณใหม่!
และแก้ไขความเร็วรถเฟอรารี่ที่ชนรถจักรยานยนต์ของ ดต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ จนถึงแก่ความตายเพราะขับตัดหน้า? ให้ถูกต้องตามหลักวิชาที่อ้างว่าทันสมัย!
จากที่ได้รายงานไว้ ๑๗๗ กม.ต่อชั่วโมง ทำให้กลายเป็น ๗๙ กม.ต่อชั่วโมงแทน!
หรือจะบอกแค่ “ไม่แน่ใจในรายงานนั้น” ก็ได้
ทั้งนี้ เพื่อที่จะใช้เป็นหลักฐานส่งพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบตามที่ได้สั่งให้สอบเพิ่มเติมสั่งไม่ฟ้องตามหนังสือแนบคำร้องของกรรมาธิการการยุติธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากข้อเท็จจริงกลายเป็นว่า
บอสไม่ได้ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนดคือ ๘๐ กม.ต่อชั่วโมงในเขตเมืองตามที่ถูกกล่าวหาว่าประมาทแต่อย่างใด และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากถูกการดำเนินคดี
แต่ฟังรองนายกรัฐมนตรีอยู่เป็นเวลานานแล้ว ก็ไม่ได้ความกระจ่างอะไร!
มีแต่การพูดวกไปวนมาเรื่องความพยายามตามหาที่อยู่และจับตัวบอสตามหมายศาลซึ่งตำรวจและอัยการกำลังดำเนินการผ่านกระทรวงต่างประเทศอย่างขมีขมัน
ส่วนแก๊งซ่องโจรที่ร่วมกันกระทำผิดกฎหมาย คำตอบทุกเรื่องสรุปได้ว่า อยู่ระหว่างดำเนินการของหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างจริงจังทั้งสิ้น
ก็ไม่รู้ว่า แต่ละคนจะถูก ปปช.ออกหมายเรียกมาแจ้งข้อหาดำเนินคดีอาญา และ “จับตัว” ส่งให้อัยการฟ้องศาลทุจริตได้เมื่อใด?
ปัจจุบัน “กฎหมาย ปปช.ประเทศไทย” ได้กลายเป็นปัญหาในการดำเนินคดีอาญาต่อข้าราชการที่กระทำผิดกฎหมายโดยเฉพาะข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการหน้าที่โดยมิชอบอย่างยิ่ง!
เนื่องจากแต่ละคดีมีขั้นตอนการดำเนินการที่ต่างไปจากประชาชนมากมาย
เริ่มจากกำหนดให้แสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อความแน่ใจก่อนได้นานนับปี และกว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนการชี้มูลเพราะไต่สวนจนสิ้นสงสัย! ก็อีกหลายปีไปจนกระทั่งมีการดำเนินการส่งให้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลและสืบพยานจนถึงเวลาอ่านคำพิพากษา ก็ใช้เวลานานนับสิบหรือกว่าสิบปี!
สรุปว่า การสอบสวนคดีของ ปปช.รวมทั้ง ปปท. แค่ขั้นตอนการแจ้งข้อหา ก็ใช้เวลานานกว่ากรณีที่ประชาชนถูกตำรวจกล่าวหานับสิบนับร้อยเท่า!
วกเข้าสู่เรื่องหลักที่จะพูดคุยในวันนี้คือ กรณี เสี่ยโจ้ ผู้ถือบัญชีส่วยตำรวจสารพัดหน่วยตามภาพด้านล่างและยังมีอีกมากกว่านี้ไว้ในมือ
ตำรวจกองปราบจับกุมเสี่ยโจ้ได้ตามหมายศาลจังหวัดสงขลาที่ ๖๐/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ในข้อหาฟอกเงินจากการค้าน้ำมันเถื่อน เมื่อคืนวันที่ ๔ พ.ย.๖๔ ที่ผ่านมา มีการจัดแถลงข่าวผลการจับกุมในวันรุ่งขึ้นอย่างเอิกเกริก
ถูกควบคุมตัวในคืนนั้นไปส่งให้อัยการจังหวัดสงขลาดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาล
แต่เหตุการณ์กลายเป็นว่า อัยการได้สั่งไม่ฟ้องคดีนี้แล้ว ทำให้ต้องปล่อยตัวไปตามกฎหมาย
เพราะได้ตรวจสอบข้อมูลของตำรวจทุกหน่วยทุกระบบรวมทั้ง Crime ที่ทันสมัยทั้งหมายใน (หมายที่สถานีขอต่อศาล) และหมายนอก (หมายที่หน่วยอื่นส่งมาหรือศาลออกเอง) แล้ว ไม่พบว่ามีหมายจับคดีใดที่จะทำให้สามารถจับและควบคุมตัวเสี่ยโจ้ไว้ได้อีกต่อไป
ทั้งที่ในความเป็นจริง ยังมีหมายจับของศาลจังหวัดปัตตานีคดีปลอมตราประทับไม้ที่พิพากษาให้จำคุก ๑ ปี ๙ เดือนอยู่
แต่ไม่มีใครทราบว่า เหตุใดหมายจับฉบับนี้จึงไม่ปรากฎเป็นข้อมูลอยู่ในสารบบตำรวจหน่วยใดทั้งสิ้น?
ทำให้ผู้คนสงสัยว่า เมื่อศาลออกหมายจับแล้ว ได้ส่งให้ตำรวจจัดการตามหน้าที่หรือไม่?
ซึ่งต่อมาศาลก็ได้รีบออกเอกสารชี้แจงว่าได้ส่งหมายนี้ให้ ผบก.ตำรวจจังหวัดปัตตานีไปแล้วเมื่อวันที่ ๙ ต.ค. ๒๕๕๗
ปัญหาก็คือ เมื่อ ผบก.จังหวัดได้รับหมายแล้ว ได้สั่งการและตรวจสอบให้ใครและตำรวจหน่วยใดจัดการตามหมายจับฉบับนี้และบันทึกเข้าสารบบหมายจับของหน่วยงานหรือไม่ และสั่งอย่างไร?
ไม่ว่าจะเป็นการสั่งให้ รอง ผบก. ผกก.สืบสวน และ ผกก.หัวหน้าสถานีทุกแห่งในจังหวัด เร่งสืบจับตัวบุคคลตามหมายรายงานผลการปฏิบัติให้ทราบทุกระยะ
รวมทั้งทำหนังสือส่งให้ ผบช.ตำรวจภาคทราบเพื่อสั่งการให้ ผบก.สืบสวนและทุกจังหวัดในสังกัดสืบจับอีกทางหนึ่ง
และถ้ายังจับไม่ได้ ก็ต้องทำหนังสือส่งให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรดำเนินการ “ออกประกาศสืบจับ” ส่งให้ตำรวจทุกหน่วยและทุกสถานีทั่วประเทศทราบและช่วยกันสืบจับตัวมาให้ได้ภายในอายุความต่อไป
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 15 พ.ย. 2564