ยิงกันสนั่นศาล การป้องกันแท้จริงคือ ‘ความยุติธรรม’ -พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

ยุติธรรมวิวัฒน์

ปัญหาความรุนแรงในสังคมไทยโดยไม่ได้เกิดเหตุจลาจลหรือสงครามอะไรในปัจจุบันนั้น ไม่มีใครบอกได้อย่างแน่ชัดว่าอยู่ใน ระดับใด? เป็นภัยคุกคามต่อประชาชนรวมไปถึง ความมั่นคงของชาติ มากน้อยเพียงใด?

เนื่องจาก สถิติอาชญากรรม หรือ การรับแจ้งความคำร้องทุกข์ จากประชาชนของตำรวจหน่วยต่างๆ กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้น

เป็นคนละเรื่องกันอย่างสิ้นเชิง

ประมาณกันว่า มากกว่าที่ปรากฏเป็น ตัวเลข นับสิบเท่า!

อย่างกรณี นายพลชนแล้วหนี นั้น จนกระทั่งป่านนี้  ก็ยังไม่ได้ยิน พงส.ผู้รับผิดชอบ รวมทั้ง พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ ซึ่งเรียกกันว่า ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ คนใดพูดหรือให้สัมภาษณ์ว่า ได้แจ้งข้อหา ชนแล้วหนี  เหมือนที่ตำรวจปฏิบัติกับประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด?

และในการขับรถชนรถจักรยานยนต์ที่จอดขวาง นอกจากข้อหาทำให้เสียทรัพย์แล้ว ยังผิด พ.ร.บ.จราจร มาตรา 43 (8)  ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น มี โทษจำคุกถึงสามเดือน ตามมาตรา 160 วรรคสาม พนักงานสอบสวนไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้เช่นกัน

กระบวนการยุติธรรมอาญาไทยที่มีปัญหา   พนักงานสอบสวนผู้เป็นตำรวจมียศและวินัยแบบทหาร ละล้าละลังหรือไม่ดำเนินคดีกับคนมีเงิน มีอำนาจหรือเส้นสายเช่นนี้ ได้ส่งผลให้มีความรุนแรงในสังคมรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

ประชาชนผู้คับแค้นใจ โดยเฉพาะคนยากจนหรือไร้อำนาจ ตั้ง ศาลเตี้ย เพื่อชำระความด้วยอาวุธหรือกำลังเท่าที่จะทำได้

หากมีเงินก็จ้างให้คนอื่นกระทำ หรือหากเป็นคนจนหรือบุคคลต่างด้าวก็ลงมือเอง!

ทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาผู้คนทำร้ายและฆ่าฟันกันสารพัดรูปแบบแทบไม่เว้นแต่ละวัน

และปัจจุบัน ความรุนแรงได้ลุกลามเข้าไปในเขตศาลด้วย!

ปรากกการณ์ที่ ผู้เสียหาย กระโดดตึกศาลตายเมื่อไม่นานมานี้ที่ศาลอาญารัชดาฯ สะท้อนว่าปัญหากระบวนการยุติธรรมไทยอยู่ในขั้นวิกฤติร้ายแรง

และปัญหาได้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ถึงขนาดมีการ ใช้อาวุธยิงตัวเองและผู้อื่นในศาล

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ แห่งจังหวัดยะลา ก็ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองข้างบัลลังก์หลังจากอ่านคำพิพากษายกฟ้องจำเลยคดีฆ่าผู้อื่น 5 คน ด้วยเหตุผลว่าพยานหลักฐานไม่ชัดเจนเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยในคดีฆ่า 5 ศพได้

โพสต์แถลงการณ์ระบายความในใจก่อนตัดสินใจว่า  มีปัญหาการแทรกแซง อธิบดีพยายามให้ลงโทษจำเลยทั้งที่ตนเห็นว่าพยานหลักฐานยังเคลือบแคลงไม่สิ้นสงสัย

แต่เมื่อไม่ยอมทำตาม โดยพิพากษายกฟ้องไป คงส่งผลให้ชีวิตราชการมีปัญหาอย่างร้ายแรงเป็นแน่

และเมื่อวันที่ 13 พ.ย. พล...ธารินทร์ จันทราทิพย์  อดีตรองจเรตำรวจ ก็ได้ใช้อาวุธปืนยิงทนายจำเลยตาย 2 ศพ บาดเจ็บอีกหลายคนในห้องพิจารณาของศาลจังหวัดจันทบุรี

สาเหตุมาจากการฟ้องคดีแพ่งเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินในอำเภอท่าใหม่ 3,800 ไร่ ที่ในปี 2515 นายสมพล โกศลานันท์ ได้แสดงเจตนาขายในราคาถูกให้กับพระกิติวุฒโฑ เพื่อนำไปใช้ในกิจการของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุเผยแพร่พุทธศาสนาในราคาไร่ละ 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 12 ล้านบาท

หลังตกลงกัน พระกิตติวุฒโฑได้รวมเงินบริจาคจากประชาชนมาจ่ายได้เพียง 8 ล้าน จึงยังไม่ได้โอนกัน

หลังจากนั้นในปี 2538 นายสมพลก็เสียชีวิต และไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ในการหาเงินมาชำระค่าที่ดินที่เหลือ

ในปี 2548 พระกิตติวุฒโฑก็มรณภาพ โดยก่อนนั้นก็ได้บอกให้น้องชายคือนายบุญช่วยเข้ามาดูแลแทน

แต่สุดท้ายนายบุญช่วยได้กลายเป็นเจ้าของที่ดินผืนนี้ไปตามคำพิพากษาของศาลจากการทำสัญญาประนีประนอมยอมความของทายาทบางส่วน?

เมื่อทายาทคนอื่นรู้เข้า ก็ได้ดำเนินการฟ้องคดีเพื่อที่จะให้ที่ดินกลับเป็นของมูลนิธิตามเจตนาของนายสมพลเจ้ามรดก

เป็นที่มาทำให้ พล...ธารินทร์ เข้าไปเกี่ยวข้องกับการฟ้องคดี เนื่องจากอดีตภรรยาผู้รับมอบอำนาจจากทายาทขอให้ช่วยเหลือในการรวบรวมพยานหลักฐานพิสูจน์ความจริง

แต่สุดท้ายกลับเป็นฝ่ายแพ้คดี และผู้เกี่ยวข้องยังถูกฟ้องอาญาตามมาอีนุงตุงนังอีกด้วย

นี่น่าจะเป็นจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ พล.ต.ต.ธารินทร์เกิดความคับแค้นใจจนทนไม่ไหว!

ในการนัดของศาลวันเกิดเหตุ ได้วางแผนซ่อนปืนพกเข้าไปในห้องพิจารณา

เมื่อสบโอกาสก็ชักออกมากระหน่ำยิงทนายโจทก์สองคนถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บอีกหลายคน

ยิงกลางศาลจันท์

แต่หลังเกิดเหตุ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นเวลานานเท่าใด   พล.ต.ต.ธารินทร์ก็ได้ถูกนายธนากร ธีรวโรดม เสมียนทนายใช้อาวุธปืนของ ร.ต.อ.ขจร บรรจง รอง สวป.สภ.เมือง ตำรวจประจำศาลที่ ยื่นให้ ลั่นไกผ่านประตูกระจกครั้งแรก 3 นัด และตามเข้าไปซ้ำให้แน่ใจอีก 3 นัด

เหตุการณ์ก่อนยิงและขณะยิงของนายธนากร มีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพเอาไว้เห็นได้ชัด

นายธนากรรับปืนจาก ร.ต.อ.ขจร ที่ ชักออกจากซองยื่นให้

ไม่ได้ถูกยื้อแย่งไปตามที่รายงานกับผู้บังคับบัญชาหรือให้การแต่อย่างใด

พฤติการณ์การยิงของนายธนากรดังกล่าว จะถือว่าเป็น การป้องกันชีวิตของตนเองหรือผู้อื่นสมควรแก่เหตุ หรือ  ร่วมกันฆ่าคนตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือไม่อย่างไร?

รวมทั้งภาพร่าง พล.ต.ต.ธารินทร์ที่นอนตะแคงอยู่ที่ม้านั่งท้ายห้องหลังถูกยิง ปรากฏถูกใส่กุญมือติดกันทั้งสองข้าง

กุญแจมือถูกใส่ไว้แล้วมอบตัวก่อนถูกยิง หรือว่า พล...ธารินทร์ยังถือปืนอยู่ จึงถูกนายธนากรยิงหกนัดแล้วไม่ตาย จึงมีคนเข้าไปจับใส่กุญแจมือเพื่อป้องกันอันตราย ยังไม่มีตำรวจผู้ใหญ่คนใดออกมาอธิบาย!

คำให้การไม่ว่าของบุคคลใด ก็คงไม่สามารถสรุปได้เท่ากับภาพเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถที่ปรากฏให้ผู้คนได้เห็นกันทั่วไป

พล.ต.ต.ธารินทร์

หลังเกิดเหตุ สำนักงานศาลยุติธรรมได้กำหนดมาตรการเพิ่มขึ้นอีกมากมายในการรักษาความปลอดภัยบริเวณศาล

นายกสภาทนายความเสนอว่า ราชการควรอนุญาตทนายทั่วประเทศพกพาปืนติดตัวได้เพื่อใช้ในการป้องกันชีวิตของตนเองที่เสี่ยงต่อการถูกประทุษร้ายจากการเดินสายไปว่าความทั่วราชอาณาจักร!

มาตรการต่างๆ ที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนดขึ้นนั้น อันที่จริงก็เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติอยู่แล้วทั้งนั้น

แต่ประเทศไทยมีคนเดินขึ้นศาลทั้งแพ่งและอาญาในแต่ละวันมากมาย ต่างไปจากประเทศใดในโลกที่ไม่ค่อยมีคดีเกิดขึ้นมากนัก

ถ้าพนักงานรักษาความปลอดภัยจะตรวจตรากันอย่างถี่ยิบ ไม่ว่าจะเป็นโจทก์ จำเลย พยาน อัยการ และทนาย หรือประชาชนผู้สนใจเข้าไปรับฟังคดีทั่วไป หรือแม้กระทั่ง ตำรวจหรือทนายที่นำรถเข้าไปจอดในบริเวณศาล ซึ่งอาจมีการเก็บปืนไว้ในรถนั้น

ก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดเช่นนั้นไปได้กี่วัน?  แต่วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงทั้งในศาลและนอกศาลอย่างแท้จริงที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ให้ความสนใจก็คือ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

หัวใจสำคัญก็คือ การทำให้คำให้การต่างๆ โดยเฉพาะใน ชั้นสอบสวน มี ความเป็นวิทยาศาสตร์  เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเกิดความเชื่อถือเชื่อมั่นในระบบความยุติธรรมทุกขั้นตอนอย่างแท้จริง

ยิงกันสนั่นศาล

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 18 พ.ย. 2562

About The Author