แต่งตั้งตำรวจไม่เป็นไปตามหลักอาวุโสขัดรธน. หัวหน้าคสช.ใช้ ม.44 ออกคำสั่งคุ้มครองได้จริงหรือ?
แต่งตั้งตำรวจไม่เป็นไปตามหลักอาวุโส ขัด รธน.
หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ออกคำสั่งคุ้มครองได้จริงหรือ?
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
การเมืองในช่วงเวลานี้กำลังเข้มข้น นักการเมืองแต่ละคนหาเสียงกันอย่างดุเดือด แย่งกันสัญญาจะทำนั่นทำนี่เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นกันมากมาย
แต่ปัญหาคือ สุดท้ายหากได้อำนาจรัฐแล้ว แต่ละพรรคแต่ละคน จะทำ และ ทำได้ จริงหรือไม่?
โดยเฉพาะ การปฏิรูปตำรวจและระบบงานสอบสวนกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น
สองเรื่องนี้ ได้ยินแต่พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมพลังประชาชาติไทย และพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น ที่บอกต่อสาธารณะว่ามีนโยบายในการปฏิรูปตำรวจอย่างมีนัยสำคัญ
นั่นคือการกระจายอำนาจเป็นตำรวจจังหวัด
ส่วนงานสอบสวนต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระ ภายใต้การตรวจสอบที่เข้มงวดจากหลายช่องทาง เพื่อไม่ให้ผู้บังคับบัญชาหรือใครสามารถแทรกแซง “สั่งให้ยัดข้อหาประชาชน” หรือ “ให้สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน” ได้
สำหรับแนวคิดตำรวจจังหวัดคือ ใครเริ่มรับราชการที่ไหน ให้เจริญเติบโตเป็นหัวหน้าสถานีและหัวหน้าตำรวจจังหวัดนั้น ไม่มีการย้ายข้ามจังหวัดหรือภูมิภาคไปมาให้เกิดความชุลมุนวุ่นวายกันเช่นปัจจุบัน
ส่วนพรรคอื่นๆ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ยังไม่ได้ยินการพูดจาอะไรออกมาให้ชัดเจน?
ในบรรดาการแต่งตั้งข้าราชการกระทรวงทบวงกรมต่างๆ นั้น ที่มีปัญหาทำลายขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่มากที่สุดก็คือตำรวจ
เมื่อถึงวาระการแต่งตั้งแต่ละครั้ง ตำรวจแต่ละคนโดยเฉพาะชั้นสัญญาบัตรส่วนใหญ่ต่างเดินคอตกกะปลกกะเปลี้ย!
เพราะไม่มีใครรู้อนาคตและชะตากรรมว่า จะได้เลื่อนตำแหน่งที่ทำงานอยู่และควรได้หรือไม่ ซ้ำยังจะถูกโยกย้ายไปนอกหน่วย นอกจังหวัด หรือนอกภูมิภาคที่ไม่คุ้นเคยและไม่รู้จักผู้คนใกล้ไกลแค่ไหน? การพิจารณาได้เป็นไปอย่างยุติธรรมหรือไม่?
เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งโยกย้ายที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อตำรวจส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะการใช้ลำดับอาวุโสการครองตำแหน่ง วิธีสอบแข่งขัน หรือการประเมินที่เป็นวิทยาศาสตร์อื่นใด!
นำไปสู่ปัญหาการวิ่งเต้นจนตำรวจไม่เป็นอันทำงานการมาหลายสิบปี ต่างไปจากเมื่อก่อนนี้ที่ให้ยึดอาวุโสเป็นลำดับแรก ทำให้มีปัญหาการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การแต่งตั้งให้ไม่ต้องยึดหลักอาวุโสนับแต่ประมาณปี 2530 เป็นต้นมา
ตำรวจบางคนอับจน วิ่งกันจนกระทั่ง คนขับรถแท็กซี่ ที่ขนาดระดับรองผู้บังคับการและรองลงมาในตำรวจภาค 4 รวม 6 คน เชื่อว่าเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์สามารถเชื่อมต่อถึงผู้มีอำนาจได้ หลงจ่ายเงินซื้อตำแหน่งไปรวมกว่าสี่ล้านบาท เป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อปีที่แล้ว
ผิดทั้งอาญาและวินัย แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่ได้ยินว่ามีตำรวจคนใดถูกลงโทษตามกฎหมายเลย?
มาปีนี้ก็มีปัญหา สองผัวเมียนักธุรกิจ ที่ประสบปัญหาอ้างว่าสามารถจะช่วยให้ได้รับการแต่งตั้งโยกย้ายตามที่ต้องการได้ มีตำรวจ 10 นายหลงเชื่อ จ่ายเงินไปรวม 1 ล้านห้าแสนบาท
เหล่านี้คือพวกที่มีปัญหา เพราะ จ่ายแล้วไม่ได้ตามสัญญา
การปฏิรูปตำรวจและงานสอบสวนในฐานะเป็นเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรมทางอาญาชั้นต้นของประเทศนั้น จึงเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสำคัญถึงขนาดบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
บังคับให้รัฐบาลต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปให้แล้วเสร็จในหนึ่งปีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้คือใน วันที่ 6 เมษายน 2561
หากไม่แล้วเสร็จตามกำหนด ให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจเป็นไป ตามหลักอาวุโสทั้งหมด
ทุกคนคงจำคำพูดของ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายในเรื่องนี้เมื่อประมาณเกือบสองปีที่ผ่านมาได้ว่า ถ้าการปฏิรูปตำรวจไม่เสร็จตามกำหนด การแต่งตั้งตำรวจต้องเป็นตามหลักอาวุโสแบบ ไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม!
พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ประธานคณะกรรมปฏิรูปตำรวจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 260 ได้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ตำรวจใหม่ เสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาไปก่อนครบกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีประมาณสองสามเดือน
นายกฯ ดูแล้วยังไม่พอใจ จึงได้ตั้งให้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานอีกชุดหนึ่งพิจารณาใหม่ทั้งหมด รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับการสอบสวนด้วย
ผลสุดท้ายปรากฏว่า คณะกรรมการชุดนี้ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจและการสอบสวนไม่เสร็จภายในหนึ่งปีตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติบังคับไว้ในมาตรา 260 วรรคสาม
เมื่อใกล้ถึงวาระแต่งตั้งตำรวจแทนคนเกษียณประจำปี นายกรัฐมนตรีจึงได้ออกประกาศสำนักนายกฯ ในวันที่ 25 ก.ค.2561 ใช้ชื่อเรื่องว่า “หลักเกณฑ์การแต่งตั้งโยกย้ายตามหลักอาวุโส”
เป็นการแต่งตั้งตามหลักอาวุโสทั้งหมด หรือใช้อาวุโสเพียง 33 เปอร์เซ็นต์กันแน่?
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงมีปัญหาเรื่อง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นำไปสู่การร้องเรียนของตำรวจผู้ได้รับผลกระทบหลายคน แม้กระทั่งชั้นนายพลระดับรองผู้บัญชาการที่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งตามอาวุโส และอาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ประกาศดังกล่าวเป็นโมฆะ
เป็นที่มาให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตามที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 รับรองไว้ในมาตรา 265 วรรคสอง
ออกคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 20/2561 คุ้มครองว่า หลักเกณฑ์การแต่งตั้งตำรวจที่กำหนดไว้ในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ
ปัญหาคือ การใช้อำนาจมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าว ถูกขยายความตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 265 วรรคสอง ถึงขนาดว่า สามารถออกคำสั่งรับรองประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้จริงหรือ?
ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 5 บัญญัติว่า
“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้”.
ที่มา: ไทยโพสต์ คอลัมน์: เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: Monday, March 04, 2019