คดี ‘ดิไอคอน’ ‘ฉ้อโกงประชาชน’ อย่างไร? ผู้คนอยากฟังคำอธิบาย

 

คดี ‘ดิไอคอน’ ‘ฉ้อโกงประชาชน’ อย่างไร? ผู้คนอยากฟังคำอธิบาย

 

พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ปัจจุบันทั้งคนไทยและชาวต่างชาติล้วนขาดความเชื่อถือเชื่อมั่นต่อ กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ของประเทศในทุกขั้นตอน ส่งผล กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ อย่างร้ายแรง!

คดีแตงโม คือตัวอย่างหนึ่งของความไม่เชื่อถือไม่เชื่อมั่นนั้น ซึ่งข้อเท็จจริงยังมีคดีลักษณะนี้ที่ “รอการค้นหาความจริง” จากรัฐ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรมอยู่อีกนับร้อยนับพัน!

คดีน้องแตงโมตกเรือจมน้ำตาย มีหลายคนแม้กระทั่งแพทย์ผู้สนใจพยายามขอให้มีการสอบสวนคดีใหม่ เพื่อให้อัยการแก้ไขคำฟ้องเป็น “ข้อหาฆาตกรรม”

จากการที่ตำรวจแห่งชาติสอบสวนและเก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ เชื่อได้บ้าง ไม่น่าเชื่อบ้าง แล้วสรุปว่าเป็น “การกระทำประมาท” มีปัญหาประชาชนจำนวนมากสงสัยว่า จริงหรือไม่?

อัยการได้สั่งฟ้องสองผู้ต้องหาสำคัญคือ ปอ และโรเบิร์ต ไปในฐานะผู้ผลัดกันขับเรือ ซึ่งศาลก็ได้มีคำพิพากษาว่ากระทำผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกปอ 5 ปี 8 เดือน และโรเบิร์ต 4 ปี 4 เดือน แต่ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี

ปัญหา คนกระทำความผิดอาญาและศาลมีคำพิพากษาจำคุก แต่ไม่ต้องติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว ไปนอนห้องพิเศษโรงพยาบาลตำรวจชั้น 14 จนพ้นโทษก็มี! เป็นเรื่องเป็นราวอยู่จนกระทั่งบัดนี้

ส่วนคนที่อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้องคดีหรือศาลยังไม่ได้มีคำพิพากษา แต่ต้อง “ติดคุกล่วงหน้า”

เพราะว่าไม่ได้รับการประกันตัวตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เพื่อจะได้มีโอกาสต่อสู้คดีอย่างยุติธรรมตามกฎหมาย เนื่องจาก “ตำรวจคัดค้าน” ต่อศาลไว้ อ้างว่าน่าเชื่อจะหลบหนี กลับมีให้เห็นทั่วประเทศมากมาย!

แซม และ มิน เป็นรายล่าสุดที่เพิ่งหลุดจาก “บ่วงคดี” ทำให้ได้มีอิสรภาพกลับคืนมา จากการที่อัยการสั่งไม่ฟ้องข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนกับบริษัท ดิไอคอนฯ และผู้บริหารอีก 16 คน

เพราะเหตุใดอัยการจึงสั่งไม่ฟ้องทั้งที่ ประกาศตัวเป็นบอสไม่ต่างกันยังไม่มีใครอธิบาย?

และทำไมจึง สั่งฟ้องผู้ต้องหาที่เหลือทุกคนว่าฉ้อโกงประชาชนและอีกหลายข้อหาที่แจ้งเพิ่มขึ้นมาภายหลัง

อัยการก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลอะไรให้ประชาชนฟังและเข้าใจเช่นเดียวกัน?

แม้ว่าคำสั่งไม่ฟ้องในส่วนของแซมและมิน ยังไม่เป็นที่สุด เพราะอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษยังสามารถทำความเห็นแย้งเสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณาได้ และน่าจะทำเช่นนั้นแน่นอน

แต่ ข้อเท็จจริงไม่น่าจะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนคำสั่งกลายเป็นฟ้องได้แต่อย่างใด

เพราะเมื่ออัยการผู้รับผิดชอบคดีที่โฆษกสำนักอัยการฯ บอกว่าได้ทำงาน อ่านสำนวนการสอบสวนกว่า 300,000 แผ่น กันอย่างหามรุ่งหามค่ำ และเห็นว่า พยานหลักฐานไม่พอฟ้องทั้ง 2 คน

ถ้าอัยการสูงสุดกลับเห็นว่าหลักฐานพอฟ้อง และมีคำสั่งให้ฟ้องคดีซึ่งถือเป็นที่สุดในกระบวนการยุติธรรมชั้นสอบสวน

อัยการผู้รับผิดชอบคดีที่เคยมีคำสั่งไม่ฟ้องมีหน้าที่ต้องกลับไปก้มหน้าร่างคำฟ้องใหม่พร้อมทั้งนำตัวแซมและมินไปฟ้องต่อศาล แสดงพยานหลักฐาน ที่ตนเห็นว่าไม่พอฟ้อง พิสูจน์การกระทำผิดของทั้งสองคนตามข้อกล่าวหาเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษเช่นเดียวกับผู้ต้องหาอีก 16 คน

หนทางที่จะทำให้ศาลสิ้นสงสัยและพิพากษาลงโทษ ในความเป็นจริงแทบเป็นไปไม่ได้!

กระบวนการทำความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการผู้รับผิดชอบคดี เป็นเรื่องที่มีปัญหามาช้านาน!

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของตำรวจแห่งชาติที่ฉวยโอกาสหลังการปฏิวัติยึดอำนาจ ปี 2557 เสนอให้หัวหน้า คสช. ออกคำสั่งแก้ไข ป.วิ อาญา มาตรา 145 จากเดิมที่เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ไปเป็นของผู้บัญชาการตำรวจภาคในเวลาแค่ข้ามคืน!

ตำรวจสุดแสนดีใจ เลยพยายาม “โชว์แย้ง” สร้างผลงานกันใหญ่

คดีที่ไม่มีพยานหลักฐานแม้แต่แค่พอฟ้องในความเห็นของอัยการผู้รับผิดชอบคดี ซึ่งที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดมักไม่ทำความเห็นแย้งให้เสียเวลาทั้งต่อตัวผู้ต้องหาและข้าราชการผู้เกี่ยวข้องอะไร คดีสามารถจบได้ในเวลาไม่กี่วันหรือแค่สัปดาห์

ผู้บัญชาการตำรวจภาคก็ไม่ยอมให้จบไปง่ายๆ

ทำให้ผู้ต้องหาและญาติพี่น้องต้องเสียเวลารอกันต่อไปอีกนานนับปี!

เป็นกระบวนการยุติธรรมวิปริตที่ต้องได้รับการปฏิรูปครั้งใหญ่

ตำรวจและพนักงานสอบสวนไม่ว่าหน่วยใด จะแจ้งข้อหาหรือเสนอศาลออกหมายจับใคร ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ โดยมั่นใจว่า

“เมื่อได้แจ้งข้อหาหรือจับตัวใครมาแล้ว จะสามารถสั่งฟ้องคดีต่อศาลพิสูจน์การกระทำผิดให้พิพากษาลงโทษได้เท่านั้น”

แก้ปัญหาตำรวจจับตัวประชาชนมาดำเนินคดีหรือแม้กระทั่งนำไปคุมขังไว้แล้วอัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลพิพากษายกฟ้อง ผู้คนได้รับความเดือดร้อนกันอย่างแสนสาหัส หลายครอบครัวต้องถึงกับวิบัติ โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่ร้ายแรงอะไรเลยเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อกล่าวถึงเรื่องนี้ ในส่วนของคดีที่อัยการสั่งฟ้อง 16 บอส โดยมีความเห็นว่าข้อหาหลักคือ “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” นั้น “มีพยานหลักฐานในระดับพอฟ้อง”

ตามคำกล่าวหาของบุคคลที่ตำรวจบอกว่าเป็นผู้เสียหาย?

แต่บางรายกลับออกมาร้องเรียนภายหลังว่า “บันทึกคำให้การในเอกสารการสอบสวนไม่ตรงกับเจตนาของการแจ้งความเรื่องสินค้าที่อยู่ในคลังบางส่วนเป็นของตน เกรงจะถูกอายัดไว้”

ต้องการแก้ไขให้ถูกต้องว่า ไม่ได้ถูกบริษัทฉ้อโกงแต่อย่างใด

แต่ก็ไม่มีใครสนใจบันทึกคำให้การนี้ไว้ให้สำนวนนำไปประกอบการพิจารณา

ตำรวจพนักงานสอบสวนทุกสถานีทั่วไทยพิมพ์คำให้การตามแบบฟอร์มที่ตำรวจผู้ใหญ่จัดทำส่งไป เพื่อให้ผู้ที่บอกว่าเป็นผู้เสียหายลงชื่อไว้ในสมุดบันทึกประจำวัน มีใจความสำคัญโดยสรุปว่า

“ผู้แจ้งได้เสียเงินให้กับบริษัทไปแล้ว มาทราบความจริงภายหลังว่าเป็นการชักชวนให้คนมาร่วมลงทุนมากกว่าการเน้นขายสินค้า โดยรู้อยู่แก่ใจว่าสินค้าดังกล่าวไม่สามารถขายให้กับบุคคลอื่นได้ เพราะเป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ และไม่มีชื่อเสียง มีราคาสูงกว่าท้องตลาด”

เป็นคำกล่าวหาที่มีปัญหาว่า เป็นข้อเท็จจริงของการกระทำความผิดอาญาข้อหาฉ้อโกงประชาชนจริงหรือ?

เพราะผู้ซื้อสินค้าที่สามารถนำไปขายออนไลน์ได้ ทำเป็นอาชีพเลี้ยงครอบครัวกันมานานหลายปี ก็มีมากมายนับหมื่นนับแสนคน!

แต่กลับไม่ได้ถูกสอบปากคำไว้เพื่อสิ้นสงสัยว่า “ใครขายได้ ใครขายไม่ได้” ด้วยเหตุอะไร มีใครเจตนาโกงใครมาแต่ต้นหรือไม่ อย่างไร?

ซึ่งประเด็นนี้ยังไม่เคยมีคำอธิบาย ทั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติผู้เริ่มคดีเสนอศาลให้ออกหมายจับ และ “คัดค้านการประกันตัว” ทำให้ผู้ต้องหาทุกคนต้อง “ติดคุกล่วงหน้า” ถูกลดทอนความสามารถในการรวบรวมพยานหลักฐานต่อสู้คดีจนกระทั่งปัจจุบัน

กรมสอบสวนคดีพิเศษผู้รับผิดชอบการสอบสวนในเวลาต่อมา หรือแม้แต่ “อัยการผู้รับผิดชอบคดี” ที่มีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 16 คน

ก็ไม่เคยอธิบายให้ประชาชนได้รับทราบและเข้าใจด้วยเช่นกัน?.

          ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์  เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 13 ม.ค. 2568

About The Author