‘บุ้ง’สละชีวิตสู้’กระบวนการยุติธรรมอำมหิต!’ อย่าให้ชีวิตของน้องต้องสูญเปล่า
‘บุ้ง’สละชีวิตสู้’กระบวนการยุติธรรมอำมหิต!’ อย่าให้ชีวิตของน้องต้องสูญเปล่า
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
การเสียชีวิตจากการอดอาหารเป็นเวลานาน ของ “บุ้ง”
เนติพร เสน่ห์สังคม หญิงสาวนักเคลื่อนไหวผู้มี หัวใจเด็ดเดี่ยวและมุ่งมั่น ในการต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคมไทยเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนส่วนใหญ่
หวังให้เกิดการ เปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมในระดับปฏิรูปโครงสร้างและระบบงาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยุติธรรมทั้งแพ่งและอาญาที่เธอได้สัมผัสด้วยตัวเองในฐานะลูกสาวผู้พิพากษาแต่เยาว์วัย วิ่งเล่นพบเห็นเรื่องราวต่างๆ ในบริเวณศาลเป็นเวลานาน
รวมถึงการที่เธอได้มาประสบกับ ความอยุติธรรม ด้วยตัวเองเมื่อเริ่มเคลื่อนไหวกับเพื่อนนักเรียนมัธยมในนามกลุ่ม “นักเรียนเลว”
เรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการยกเลิกระเบียบที่เธอเห็นว่าเป็นการกดขี่และไม่มีความจำเป็นสำหรับการศึกษาหาความรู้ของเด็กและเยาวชน จนประสบความสำเร็จในหลายเรื่อง
ต่อมาเธอได้พัฒนาความคิดก้าวหน้าขึ้น ขยายบทบาทการต่อสู้เข้าสู่ประเด็นการปฏิรูปสังคมไทย
ได้เข้าร่วมกับมวลชนดำเนินกิจกรรมเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ มากมาย
สุดท้ายส่งผลทำให้เธอถูกตำรวจ ยัดข้อหา ความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112
โดยไม่แน่ชัดว่าเธอได้กระทำอย่างไรที่เข้าข่ายเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนั้น
คือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ข้อเท็จจริงของการกระทำที่ตำรวจนำมากล่าวหา มาจากเรื่องที่เธอร่วมกับเพื่อนทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม
ซึ่งก็มีปัญหาว่าเป็นการกระทำเข้าองค์ประกอบตามความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่บัญญัติไว้จริงหรือไม่?
ข้อยุติในเรื่องนี้จะมีได้ด้วยการวินิจฉัยของศาลและน่าจะสู้กันถึงชั้นฎีกา ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนาน
แต่ความที่เธอเชื่อว่า การกระทำนั้นไม่ได้เป็นความผิดมาตรา 112
ทำให้เกิดความคับแค้นใจ และส่งผลทำให้มีความเคลื่อนไหวในการพ่นสีที่แผ่นป้ายผ้าหน้ากระทรวงวัฒนธรรมในเวลาต่อมา
ขอให้ถอดถอนศิลปินแห่งชาติคนหนึ่งซึ่งมีพฤติกรรมที่เธอเห็นว่า ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นศิลปินของประชาชนอีกต่อไป
ทำให้ถูกดำเนินคดีอาญาข้อหาทำลายทรัพย์สิน มั่วสุมเกินสิบคน และผิด พ.ร.บ.การชุมนุมเพิ่มขึ้น
ส่งผลทำให้เธอเกิดความคับแค้นใจเป็นทวีคูณ!
สุดท้ายเธอได้มีเหตุการณ์ต่อว่าปะทะคารมกับตำรวจศาล
นำไปสู่การถูกสั่ง จำคุกหนึ่งเดือนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
และถูกถอนประกันด้วยเหตุว่าได้ทำผิดเงื่อนไขการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เธอได้รับโทษจำคุกครบกำหนดไปแล้ว
แต่การถอนประกันในความผิดมาตรา 112 ทำให้เธอต้องถูก “จำคุกล่วงหน้า” โดยที่ยังไม่มีคำพิพากษาชี้ชัดถึงที่สุดว่า เธอได้กระทำความผิดตามมาตรา 112 จริงหรือไม่?
เธอเห็นว่า เป็น ความอยุติธรรมที่สุดจะทนทาน!
จึงได้เริ่ม อดอาหารในเรือนจำต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจนอาการทรุดหนักลงเกินแก้ไข และต้องเสียชีวิตในที่สุด
สาเหตุการเสียชีวิตของเธอไม่จำเป็นที่ใครจะต้องขวนขวายไปตั้งข้อสังเกตว่าถึงแก่ความตายเพราะอะไรกันแน่แต่อย่างใด?
การตรวจชันสูตรศพก็ว่าไปให้ครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมาย
แต่ เหตุที่ตาย ใครๆ ก็รู้ว่าเกิดจาก ภาวะหัวใจล้มเหลว ตามรายงานของแพทย์ผู้ตรวจชันสูตรที่ชี้ชัด
ส่วน “พฤติการณ์ที่ตาย” ก็สรุปได้โดยอาศัยคำพยาน
คือเกิดจาก การอดอาหารต่อเนื่องกันเป็นเวลานานของเธอจนกระทั่งสิ้นใจ!
บางคนบอกว่า เมื่อเธอไม่ยอมกินอาหารเองแล้วถึงแก่ความตาย ก็คงโทษใครไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ พัศดีผู้ควบคุมหรือแพทย์ผู้ตรวจรักษาคนใดไม่ได้นั้น ก็ใช่
แต่ ประเด็นที่ประชาชนผู้รักความยุติธรรมส่วนใหญ่ตั้งคำถามก็คือ ทำไมเธอจึงอดอาหารจนตัวตาย เธอทำไปเพื่ออะไร?
เธอหวังผลเพียงกดดันให้ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ได้กลับไปดำรงชีวิตมีอิสรภาพเช่นเดิม
หรือเป็นการทำเพื่อประกาศให้คนไทยทั้งชาติรวมทั้งชาวโลกได้รู้ว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงที่เธอต้องการให้มีการปฏิรูปครั้งใหญ่กันแน่!
ประเด็นนี้ สุจริตชนผู้รักความยุติธรรมส่วนใหญ่คงตอบได้ไม่ยาก
ปัญหาก็คือ การสละชีวิตของเธอเพื่อคนส่วนใหญ่ เพื่อหวังส่งผลให้ระบบความยุติธรรมของไทยถูกปฏิรูป จะเกิดได้จริงหรือไม่เพียงใด?
เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือนักกฎหมายสาขาวิชาชีพใดต้องตระหนัก และช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
เพราะ “บุ้ง”-เนติพร เสน่ห์สังคม ได้ใช้ชีวิตและร่างกายที่ไร้ลมหายใจของเธอแสดงให้ผู้คนเห็นเป็นหลักฐาน “วัตถุพยาน” ว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปครั้งใหญ่
ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนคนหนุ่มสาวชาวไทยผู้รักความยุติธรรมทั้งชาติ ต้องไม่ปล่อยให้การสละชีวิตของเธอครั้งนี้ต้องสูญเปล่า
เรื่องราวชีวิตของเธอต้องถูกเล่าขาน
เป็นตำนานการต่อสู้กับ “ความอยุติธรรม” ของหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งสละชีวิตเพื่อคนส่วนใหญ่ บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอาญาไทย.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 20 พ.ค. 2567