ตำรวจสั่ง ‘เป่าเมา’ คือ ‘การควบคุมตัว’ ต้องบันทึกภาพเสียงเป็นหลักฐานไว้ จนกว่าจะปล่อยตัวไป หรือส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี
ตำรวจสั่ง ‘เป่าเมา’ คือ ‘การควบคุมตัว’ ต้องบันทึกภาพเสียงเป็นหลักฐานไว้ จนกว่าจะปล่อยตัวไปหรือส่งตัวให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัญหาตำรวจไทยที่ร้ายแรงสารพัดในขณะนี้ ประชาชน ยังไม่เห็น นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ให้ความสนใจในการคิด แก้ไข ปฏิรูป หรือแม้แต่ สังคายนา แต่อย่างใด?
คงปล่อยให้คนไทยเผชิญชะตากรรม ทั้งจากปัญหา พนักงานสอบสวนไม่ยอมรับแจ้งความรับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหายคดีอาญากันง่ายๆ
แต่ละคนต้องเข้าคิวเดินทางเข้ากรุงมาอาศัยสื่อใหญ่ให้ช่วยออกข่าว เพื่อให้หัวหน้าตำรวจผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายตามหน้าที่!
ตำรวจผู้น้อยก็ต้องทะเลาะเบาะแว้งกับประชาชนตามถนนหนทางจากการตั้งด่านตรวจค้นบนทางหลวงแทบทุกสายตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งและคาดโทษไว้ให้ปฏิบัติเป็นกิจวัตรประจำวัน
เพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อถือเชื่อมั่นว่าพวกเขาปฏิบัติหน้าที่กันด้วยความสุจริตใจ ไม่มีใครคิดหวังได้ ส่วนแบ่งเงินรางวัลไปแบ่งปัน หรือ ส่งส่วย ให้ตำรวจผู้ใหญ่กันแต่อย่างใด!
เมื่อหลายวันก่อน ปรากฏคลิป ตำรวจทางหลวง จังหวัดระยองสองคน ยัดข้อหาคนต่างด้าว ชาวกัมพูชาที่นายจ้างพาไปเที่ยวทะเลวันแรงงาน ฐานไม่พกพาสปอร์ต 3 คน มีภาพถ่ายก็ใช้ไม่ได้ ขอเงินสด งดโอน จำนวน 15,000
ผลการเจรจากับนายจ้างผู้พาไปเที่ยวจบที่ 5,000 บาทเท่าที่สามารถจะหามาได้
พยานหลักฐานชัดทั้งความผิดอาญาข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบและเรียกรับทรัพย์สินฯ มาตรา 157 และ 149 โทษสูงถึงประหารชีวิตและวินัยร้ายแรง ต้องไล่ออกหรือปลดออก มีเพียงสองสถาน
แต่ขณะนี้ ตำรวจนักรีดทั้งสองคน ผู้บังคับบัญชาแค่มีคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการสถานีตำรวจทางหลวงอีกที่หนึ่งเท่านั้น!
ผู้บังคับบัญชาอ้างว่าต้อง ตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกันก่อนตามฟอร์ม
ขณะนี้ทั้งสองคนจึงมีสถานะเป็นข้าราชการตำรวจ สามารถแต่งเครื่องแบบพกพาอาวุธปืนได้ไปเรื่อยๆ ทั่วไทย ไม่ได้ถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนแต่อย่างใด?
อีกราย ตำรวจนครบาล ทั้งในและนอกราชการหลายหน่วย สนธิกำลังกับโจรพลเรือน จับนักท่องเที่ยวชาวจีน 5 คนจากโรงแรมย่านดินแดงไปควบคุมตัวไว้ในลานจอดรถ สโมสรตำรวจ
รีดค่าไถ่ 2.5 ล้าน!
จากสองเหตุการณ์ดังกล่าวผสมกับเรื่อง ตำรวจชั้นนายพล หลายคน ถูกกล่าวหาว่าร่วมกัน ฟอกเงิน ที่การสอบสวนทั้งคดีอาญาและวินัยร้ายแรงยังเต็มไปด้วยชุลมุนวุ่นวายที่ประชาชนแสนเบื่อหน่าย เพราะไร้คำอธิบายที่แน่ชัดจากผู้รับผิดชอบในขณะนี้
ก็ได้มีกรณี ดร.สาวใหญ่ ทำงานในบริษัทต่างประเทศมีชื่อเสียง ถูกตำรวจจราจรที่ตั้งด่านสั่งให้เป่าทดสอบความเมาได้ผลเกินค่าที่กำหนดตามกฎหมาย
เธอบอกว่า ไม่ได้โต้แย้งเรื่องผลตรวจ
แต่สงสัยว่าทำไมตำรวจจึงบอกให้เดินไปพบคนสองคนที่ยืนอยู่อีกมุมหนึ่งของการตั้งด่านนั้น?
แต่สุดท้ายตำรวจน่าจะเห็นท่าไม่ดี จึงได้บอกกันให้ส่งตัวดำเนินคดี ไม่มีการพูดคุยอะไรอีกต่อไป
ทำให้เกิดการใช้กำลังยื้อยุดฉุดกันดันตัวเธอเข้าไปในรถ
เธอจึงเตะถีบไปโดยสัญชาตญาณโดนหน้าตำรวจคนหนึ่ง
ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางการจับกุมตามที่ตำรวจแจ้งข้อหาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่เธอต้องต่อสู้แสดงข้อเท็จจริงให้อัยการและศาลทราบ และเชื่อว่าเธอไม่ได้มีเจตนาเช่นนั้น
แต่ปัญหาที่สำคัญก็คือ การสั่งให้ผู้ขับรถที่มี พฤติการณ์อันควรเชื่อว่าเมา เป่าทดสอบว่ามีแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่กำหนดตามกฎหมายหรือไม่
ถือเป็นการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานจราจรตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142 ในการควบคุมตัวบุคคลผู้มีพฤติการณ์เช่นนั้นไว้และสั่งให้เป่าทดสอบ
ถ้าใครไม่ยอม เป่า เมื่อมีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าเมา กฎหมายให้ สันนิษฐานว่าเมาไว้ก่อนตามวรรคสี่ ตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวไปส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีได้ทันที
การสั่ง “เป่าเมา” จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยที่ตำรวจผู้ใช้อำนาจจะต้องไม่สั่งให้ผู้ใดเป่าทดสอบกันง่ายๆ หากไม่มี พฤติการณ์อันควรเชื่อว่าเมา ที่สามารถบันทึกพฤติการณ์นั้นเป็นหลักฐานได้
ไม่ใช่ทำกันมั่วๆ จนกลายเป็นเรื่องสนุกสนานกันเช่นปัจจุบัน!
และที่สำคัญ หลังจาก พ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและการ กระทำให้บุคคลสูญหาย ออกมาบังคับใช้ในปี 2565
การควบคุมตัวบุคคลของเจ้าพนักงานไม่ว่าจะเป็นการจับกุม ตรวจค้น ตรวจความเมา หรือตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด
มาตรา 22 บัญญัติให้ต้องบันทึกภาพและเสียงต่อเนื่องไว้จนกว่าจะปล่อยตัวไปหรือส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี
รวมทั้งต้องมีการแจ้งให้นายอำเภอและอัยการจังหวัดทราบทันทีตามวรรคสอง
กรณีเป็น การควบคุมตัวบุคคลในเขตกรุงเทพมหานครต้องแจ้งให้กรมการปกครองและอัยการพื้นที่ทราบ เพื่อตรวจสอบว่าการควบคุมตัวเป็นไปโดยชอบตามกฎหมายไม่มีการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่ว่าจะเป็น การทำร้าย การปกปิดชะตากรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ของบุคคลผู้ถูกควบคุมตัว
หากไม่บันทึกภาพเสียงอย่างต่อเนื่องไว้ และไม่มีการแจ้งให้ฝ่ายปกครองและอัยการทราบทันที
เจ้าพนักงานผู้รับผิดชอบในการถูกควบคุมตัวก็ต้องแสดงข้อเท็จจริงบันทึกไว้ว่ามี “เหตุสุดวิสัย” อย่างไรในการไม่บันทึกหรือบันทึกไม่ต่อเนื่องจนได้ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน และแจ้งให้ฝ่ายปกครองและอัยการทราบทันที โดยไม่มีเจตนาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด
รวมทั้งกลับกลายเป็น “ผู้มีหน้าที่พิสูจน์” ว่าไม่ได้มีใครทำร้าย เจตนาปกปิดชะตากรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ถูกควบคุมตัวนั้น
กฎหมายป้องกันการทรมานฯ จึงเป็นเรื่องที่ตำรวจผู้ใช้อำนาจควบคุมตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นการจับกุม ตรวจค้น ตรวจความเมา หรือตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด จะต้องให้ความสนใจปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ทุกคนไม่สามารถใช้อำนาจควบคุมตัวละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน สั่งให้ทำโน่นทำนี่กันมั่วๆ โดยง่ายได้เช่นเดิม โดยไม่ต้องมีหลักฐานการปฏิบัติให้ใครสามารถตรวจสอบได้ หรือมีความรับผิดชอบตามกฎหมายอะไรเช่นที่เคยปฏิบัติกันมาอีกต่อไป.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 6 พ.ค. 2567