อัยการคืนสำนวน เพราะ ‘การสอบสวนผิดกฎหมาย’ เด็กเยาวชนเป็นผู้ร้าย ไม่ใช่เพราะ ‘ปัญหาอายุ’
อัยการคืนสำนวน เพราะ ‘การสอบสวนผิดกฎหมาย’ เด็กเยาวชนเป็นผู้ร้าย ไม่ใช่เพราะ ‘ปัญหาอายุ’ แต่เหตุคือ ‘ตำรวจผู้ใหญ่ทุจริต’ รับส่วยสินบนแหล่งอบายมุข
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เวลานี้ ผู้คนที่สนใจ คดีน้องชมพู่ กำลังเฝ้ารอดูว่า เอกสารคำพิพากษา ที่ชี้ว่า ลุงพลกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้น้องชมพู่ อดอาหารและน้ำถึงแก่ความตาย ลงโทษจำคุก 10 ปี รวมทั้งกรณีพรากเด็กไปจากบิดามารดาหรือผู้ดูแลฯ จำคุกอีก 10 ปี
คำพิพากษาจะระบุถึง พยานหลักฐานอะไร และ พฤติการณ์การกระทำผิดอย่างไร ที่ทำให้ ประชาชนส่วนใหญ่ “สิ้นสงสัย” ว่าลุงพลเป็นคนกระทำความผิดทั้งสองฐานตามกฎหมายอาญาที่พิพากษาลงโทษ ต่างไปจากคำฟ้องของอัยการ ดังกล่าว?
ซึ่งเราจะได้นำมาศึกษาและเสนอให้ประชาชนทุกฝ่ายได้เข้าใจตรงกันต่อไป
ผู้ชำนาญการและผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนก็ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ผ่านสื่อโดยอาศัย ความเชื่อ และ จินตนาการ เรื่อง พิรุธสารพัด ของลุงพล แทนการยึดถือพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนโดยชอบตามกฎหมายเช่นปัจจุบัน!
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหา พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 ได้ คืนสำนวน คดีเด็กอายุ 14 ที่ยิงกราดประชาชนในห้างพารากอนตายไปสามศพและได้รับบาดเจ็บอีกมากมายเมื่อหลายเดือนก่อน
อัยการได้สั่งให้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ดำเนินการสอบสวนตามกฎหมายให้ถูกต้องตาม ป.วิ อาญา มาตรา 14
คือเป็นกรณี มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นคนวิกลจริต ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ก็ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวผู้นั้นไปให้พนักงานแพทย์ตรวจ แล้ว เรียกแพทย์ผู้นั้นมาให้ถ้อยคำว่าตรวจได้ผลประการใด
ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้มีการส่งตัวเด็กผู้มีเหตุควรเชื่อเช่นนั้นไปให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ตรวจวินิจฉัย
แต่ ไม่ทราบเพราะเหตุใด เขาจึงไม่รอผลการตรวจจากสถาบันกัลยาณ์ฯ ที่ได้ส่งตัวเด็กไปดังกล่าว
ไม่รู้ว่าทำตามคำสั่งของตำรวจผู้ใหญ่ที่เป็น พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ คนใด หรือตัว หัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเอง รีบร้อนอะไร หรือไม่เข้าใจบทบัญญัติของกฎหมาย!
จึงได้แจ้งข้อหาต่อเด็กที่ ตนสงสัยว่าไม่สามารถต่อสู้คดีได้ สรุปการสอบสวนส่งให้อัยการสั่งฟ้องคดี
แต่อัยการเห็นว่า เป็นการสอบสวนที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถสั่งฟ้องได้
ผู้ต้องหาไม่อยู่ในภาวะที่สามารถเข้าใจข้อกล่าวหาและสามารถต่อสู้คดีได้ ตามรายงานของสถาบันกัลยาณ์ฯ
ทำให้เกิดความ ว้าวุ่น ขึ้นในหมู่ประชาชน
ทุกคนกลัวว่า เมื่อรัฐไม่สามารถฟ้องคดีผู้มีปัญหาทางจิตให้ศาลมีคำสั่งคุมตัวไว้ในที่ปลอดภัยได้
จะถูกปล่อยตัวไปก่อเหตุร้ายแรงอะไรในสังคมอีกหรือไม่?
ขอเรียนว่า กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับเด็กและสุขภาพจิตของไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องวิธีการจัดการต่อบุคคลผู้มีปัญหาทางจิต หรือแม้แต่เด็กและเยาวชนอายุต่างๆ กันอย่างที่หลายคนเข้าใจ
ต่อกรณีคดีเด็กอายุ 14 พนักงานสอบสวน ก็ต้องรอไว้จนกระทั่งการรักษาเด็กยืนยันว่า เขาสามารถเข้าใจข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีได้ ภายในกำหนดอายุความ 20 ปี
กฎหมายที่สามารถใช้ในการควบคุมบุคคลผู้มีปัญหาทางจิตไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กอายุเท่าใด ก็คือ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ส่วนที่ 2 ผู้ป่วยคดี มาตรา 36 ที่บัญญัติว่า
“ภายใต้บังคับมาตรา 14 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สถานบำบัดรักษารับผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ควบคุมและบำบัดรักษา โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาหรือจำเลย จนกว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหายหรือทุเลาและสามารถต่อสู้คดีได้……
……. เมื่อจิตแพทย์ผู้บำบัดรักษาเห็นว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการบำบัดรักษาจนความผิดปกติทางจิตหายหรือทุเลา และสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ให้รายงานผลการบำบัดรักษาต่อพนักงานสอบสวนหรือศาลทราบโดยไม่ชักช้า”
ต่อปัญหาเรื่องเด็กกระทำผิดอาญา ไม่ว่าจะมีอายุเท่าใด ประมวลกฎหมายอาญาก็ได้บัญญัติให้มีความรับผิดทางกฎหมายไว้ลดหลั่นกันไปอย่างเป็นธรรมตามวัย
เริ่มตั้งแต่ มาตรา 73 อายุยังไม่เกินสิบปีไม่ต้องรับโทษ แต่ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กนั้นให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองเด็กเพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพ
มาตรา 74 อายุยังไม่เกินสิบห้าปี จะมี มาตรการแก้ไข ต่างๆ ที่ไม่เรียกว่าเป็นการลงโทษทางอาญา โดยเป็นอำนาจพิจารณาของศาล
มีตั้งแต่การเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง มาตักเตือน วางข้อกำหนดในการดูแลไม่ให้ก่อเหตุร้ายภายในระยะเวลาไม่เกินสามปี และกำหนดจำนวนเงินที่ต้องชำระเมื่อเด็กก่อเหตุร้ายครั้งละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือส่งตัวเด็กนั้นไปยังสถานฝึกอบรมที่จัดตั้งขึ้นตามเวลากำหนด
มาตรา 75 อายุกว่าสิบห้าปีแต่ต่ำกว่าสิบแปดปี ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรลงโทษก็ให้พิจารณากำหนดมาตรการและวิธีปฏิบัติเช่นเดียวกับเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปี แต่ ถ้าเห็นควรลงโทษก็ให้ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง
มาตรา 76 อายุเกินสิบแปดปีแต่ไม่เกินยี่สิบปี ศาลมีอำนาจ ลดโทษลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งได้
เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายในการลงโทษเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดซึ่งถูกแก้ไขใหม่ใน ปี พ.ศ.2551
ซึ่งข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่มีเหตุผลอย่างยิ่งในการที่รัฐปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนผู้กระทำผิดอาญา โดยอยู่บนหลักปรัชญาว่า มนุษย์ทุกชีวิตมีค่า
โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ผู้ไม่ได้มี เถยจิต และยังมีชีวิตอีกยาวไกล
จึงให้โอกาสแก้ไข ไม่ลงโทษเท่าคนอายุเกินยี่สิบปีที่กระทำผิด ซึ่งถือว่าเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดรู้ชอบแล้ว
ปัญหาเด็กกระทำผิดมากขึ้นในสังคมไทย ไม่ใช่เป็นเพราะกฎหมายกำหนดอายุเด็กสูงเกินไปคือสิบห้าปี จึงควรลดมาเหลือแค่สิบสองปีเช่นที่มีบางคนเข้าใจ
เพราะกฎหมายอาญาได้บัญญัติวิธีปฏิบัติรวมทั้งการลงโทษเด็กและเยาวชนลดหลั่นกันไปอย่างเหมาะสม มีความเป็นสากล
แต่สาเหตุของปัญหาที่สำคัญ เป็นเพราะระบบงานตำรวจของไทยเต็มไปด้วยตำรวจผู้ใหญ่ที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจ และที่สำคัญคือ จิตสำนึกในการเป็นผู้รักษากฎหมาย ซ้ำยังมีพฤติกรรมทุจริตกันมากมาย
ส่งผลทำให้เด็กและเยาวชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลวร้าย ทุกเมืองใหญ่เต็มไปด้วยแหล่งอบายมุขและยาเสพติด
เช่นเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา กรมการปกครองได้ไปจับผับเถื่อนขนาดใหญ่ในท้องที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
พบทั้งผู้ใหญ่เข้าใช้บริการร่วมกับ เด็กและเยาวชนเกือบห้าร้อยคน รวมแล้วกว่าหนึ่งพัน!
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ผบ.ตร และ นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี
ถ้ามีความจริงใจต่อประชาชนโดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ควรให้ความสนใจในการกวาดล้างจับกุมแหล่งอบายมุขผิดกฎหมายเหล่านี้ที่ประชาชนรู้ดีว่าเปิดกันได้เพราะมี ตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับรับส่วยสินบนทั้งทางตรงและทางอ้อม อยู่
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 8 ม.ค. 2567