เปิดผับบาร์ ‘ตีสี่’ มีแต่ ‘ฝรั่งขี้เมา’ ‘คนร้าย’ ใช้บริการ ‘อุบัติเหตุ’ ‘อาชญากรรม’ พุ่ง

ยุติธรรมวิวัฒน์

เปิดผับบาร์ ตีสี่มีแต่ ฝรั่งขี้เมา‘ ‘คนร้ายใช้บริการ อุบัติเหตุ‘ ‘อาชญากรรมพุ่ง

 

                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ขณะนี้ รัฐบาลนายเศรษฐากำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ว่าจะสามารถ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ประชาชนผู้ มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ตามที่ “พรรคเพื่อไทย”โฆษณาหาเสียงโขมงโฉงเฉงไว้เพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง ครั้งที่ผ่านมาหรือไม่?

เพราะนอกจากจะมีปัญหาสำคัญเรื่องขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 มาตรา 9 วรรคท้าย ที่บัญญัติว่า

คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

ประเด็นเรื่อง มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองทั้งเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งหวังว่าจะได้ความนิยมอีกครั้งเมื่อครบสี่ปีและมีการเลือกตั้งใหญ่

คงไม่มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า พรรคเพื่อไทย มีเจตนาเช่นนั้นจริงเพียงใด

ที่สำคัญคือ เป็นกรณีเข้าข่าย อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว หรือไม่?

แต่เมื่อ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบันและอดีต รวมทั้งอาจารย์และนักวิชาการด้านเศรษฐกิจการคลัง นับร้อยคน

ทำหนังสือเป็นหลักฐาน และมีการแสดงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงเช่นนั้นได้

ก็คงไม่มีใครในประเทศนี้ที่จะสามารถเชื่อถือความเห็นได้เท่าผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติ และอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนมากเหล่านี้อีกแล้ว

การตัดสินใจแจกเงินตามนโยบายหาเสียงของ คณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายเศรษฐาทุกคน จึง “มีความเสี่ยงสูง” ว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมายวินัยการเงินการคลังที่สำคัญของชาติ

เป็นเรื่ององค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจต้องทำหน้าที่วินิจฉัย และหากเห็นว่าจะเป็นปัญหาและเป็นภัยต่อชาติในอนาคต ก็ต้องทำหลักฐานแจ้งให้รัฐบาลยับยั้งการดำเนินการ

หากยังมีการฝ่าฝืน “ทุกคนที่มีมติเห็นชอบ” ต้องชดใช้ทางแพ่งหากเกิดความเสียหายทั้งหมด

นอกจากนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่า รัฐจะมีวิธีหาเงินจำนวนมหาศาล 560,000 ล้านบาท มาจากไหน? โดยไม่ใช้วิธีกู้จากสถาบันการเงินต่างๆ ที่ เป็นการสร้างภาระให้กับลูกหลานไทยทุกคน

รายได้ของประเทศทางหนึ่งซึ่ง นายเศรษฐา มองเห็นและเน้นเป็นพิเศษขณะนี้ก็คือ

          “การท่องเที่ยว”

          นโยบายเปิดผับบาร์ถึงตีสี่จึงเกิดมีขึ้น

          หวังให้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่

ปัจจุบันสถานบริการทุกประเภททั่วประเทศที่ได้รับอนุญาตโดยชอบตามกฎหมาย สามารถเปิดได้ถึง ตีหนึ่ง เท่านั้น

เว้นพวกที่อยู่ใน เขตพิเศษ หรือที่เรียกว่า โซนนิ่ง สามารถเปิดได้ถึง ตีสอง

ในกรุงเทพฯ ก็มีที่ถนนรัชดาฯ อาร์ซีเอ และพัฒน์พงศ์ และต่างจังหวัดในเขตเมืองใหญ่บางจุด

แต่ ข้อเท็จจริง สถานบริการในเขตพิเศษทั่วประเทศเหล่านี้ก็มีพฤติกรรม “ปิดนอกเปิดใน” ดื่มสุรากันไปถึงตีสามตีสี่กันเป็นส่วนใหญ่!

ส่วน สถานบันเทิงเถื่อน คือพวกผับบาร์ที่นายทะเบียนไม่ได้อนุญาตตามกฎหมาย ก็สามารถเปิดได้โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขเรื่องการเข้าใช้บริการหรือสถานที่และเวลาใดๆ ทั้งสิ้น!

 เงื่อนไขเดียวที่สถานบันเทิงทั้งชอบและไม่ชอบตามกฎหมายทั่วไทยต้องปฏิบัติก็คือ

การ จ่ายส่วย ให้ ตำรวจหัวหน้าหน่วยทั้งสถานี บก. และ บช. ครบ ตามจำนวนที่ตกลง และ ตรงเวลา อย่าให้ต้องติดตามทวงถามให้เสียเวลาและอารมณ์เท่านั้น

ถ้าจ่ายแล้ว ปัญหาเรื่องจะมีตำรวจคนใดไปสืบจับ หรือแม้กระทั่งตรวจตรา

รับรองว่าไม่มีอย่างแน่นอน!

ส่วนฝ่ายปกครอง คือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และกรมการปกครองส่วนกลางนั้น ตำรวจผู้ใหญ่บอก ไม่สามารถควบคุมได้

การตรวจจับผับบาร์ผิดกฎหมายของกรมการปกครองที่ออกเดินสายไปจับ

ทั้งในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

จึงเป็นเหตุให้เกิดความระส่ำระสายในหมู่ นายพลตำรวจส่วย และ สื่อทรชน ประเภท กะลิ้มกะเหลี่ยนิวส์ เป็นอย่างมาก

ความพยายามในการกำจัดขวากหนาม รวมทั้ง “ขบวนการใส่ความอย่างเป็นระบบ” จึงเกิดขึ้น

เช่นกรณีที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้ยิน รอง ผบ.ตร.คนหนึ่งบอกว่า จะพิจารณาทบทวนการออกคำสั่งให้ตำรวจไปช่วยราชการในกรณีการถูกฝ่ายปกครองจับแหล่งอบายมุขในพื้นที่

เพราะเท่าที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้  ไม่มีความเป็นธรรมในการออกคำสั่งที่เหมือนเป็นการลงโทษทัณฑ์ตำรวจผู้รับผิดชอบรูปแบบหนึ่ง

เพราะฝ่ายปกครองก็ต้องร่วมรับผิดชอบในฐานะนายทะเบียนสถานบริการในส่วนภูมิภาคด้วย

นอกจากนั้น ฝ่ายตำรวจจังหวัดเชียงใหม่ยังได้ตรวจพบว่า ฝ่ายปกครองชุดจับกุมเองก็มีปัญหา

หลังจับแล้วก็ไปนั่งดื่มกินเหล้าที่ผับบาร์ซึ่งเปิดเกินเวลาฉลองความสำเร็จ เข้าข่ายความผิดมาตรา 157 คือ เป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

มีตำรวจ บก.ปปป. หรือป้องกันปราบปราบการทุจริต รับลูก ให้ข่าวทันทีว่า

กรณีนี้ได้ส่งตำรวจไปสืบสวนหาพยานหลักฐานว่ามีการ กระทำผิดอาญาจริงหรือไม่?

ประชาชนต้องคอยติดตามดูว่า “องค์กรอาชญากรรม” ที่ผูกขาดอำนาจสอบสวนไว้ และไร้การตรวจสอบจากภายนอกอย่างสิ้นเชิง

จะใช้ อำนาจผูกขาด นั้น เพื่อหยุดยั้งการปฏิบัติหน้าที่ของกรมการปกครองตามที่พี่น้องประชาชนเรียกร้องให้รัฐเร่งจัดการได้หรือไม่?

นโยบายเปิดผับบาร์ถึงตีสี่ นอกจากจะมีแต่พวก “ฝรั่งขี้เมา” “คนร้าย” และ “คนไม่ทำงาน” ไปใช้บริการ ทำให้สังคมเกิดปัญหาอาชญากรรม และอุบัติเหตุตามมาสารพัดแล้ว

 ยังไม่สามารถกำจัดปัญหาตำรวจหัวหน้าสถานี “รีดส่วย” ส่งให้ตำรวจผู้ใหญ่ตามลำดับชั้นกันได้อย่างแท้จริงอีกด้วย.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 6 พ.ย. 2566

About The Author