กฎหมายปฏิรูปตำรวจยังถูกแช่แข็ง! จับตา’ลุงตู่’จะทำตามสัญญาหรือหมกเม็ดตบตาประชาชน?

viaryar

การปฏิรูปตำรวจ เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนทุกฝ่ายต่างรอคอยว่ารัฐบาลคสช.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.จะผลักดันให้สำเร็จเป็นจริงได้ในยุคนี้

หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่บังคับใช้นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม(ตำรวจ) มี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธานฯ และเมื่อดำเนินการเสร็จก็ได้เสนอ ต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อ 28 มี.ค.2561

แต่ต่อมา นายกรัฐมนตรี ก็ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ขึ้นมาอีก โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และมีพล.อ.บุญสร้าง เป็นกรรมการด้วย

จากนั้น เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2561  คณะกรรมการฯชุดนายมีชัย  ได้พิจารณาเสร็จสิ้นเรียบร้อยสมบูรณ์แล้วทุกขั้นตอนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา นำส่งอย่างเป็นทางการไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.)

และเมื่อวันอังคารที่ 25 ธ.ค. 2561 ภายหลังการประชุมครม. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. ซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ สาระสำคัญที่น่าสนใจ คือ 1.เมื่อมีการจับกุมผู้ต้องหาห้ามมิให้นำผู้ต้องหามาแถลงข่าวเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต

2.ในการสอบสวนจะต้องมีการถ่ายบันทึกวิดีโอและเสียงโดยตลอด เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกล่าวหาและเจ้าหน้าที่ 3.ในการสอบสวนนอกจากจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ต้องมีพนักงานอัยการอยู่ด้วยใน 2 กรณีคือ กรณีที่มีโทษรุนแรง และกรณีที่ผู้ต้องหามีความจำเป็นและเรียกร้องอยากจะให้ทางอัยการเข้ามาทำการสอบสวนด้วย

4.การกำหนดระยะเวลาในการที่จะส่งสำนวนไปสู่ชั้นศาล จะต้องมีระยะเวลาที่ระบุไว้อย่างชัดเจน และ5.ให้ผู้ที่จะต้องแจ้งความสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งความและร้องทุกข์ผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ได้

โฆษกรัฐบาล บอกว่า หลังจากนี้จะมีการส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.… ฉบับนี้ เป็นร่างกฎหมายของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ที่มีนายอัชพร จารุจินดา เป็นประธานฯ

ที่น่าแปลกใจเมื่อวันที่ 25 ม.ค.62 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี(ในขณะนั้น) กล่าวถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาล ว่า ที่ผ่านมามีผลงานที่รัฐบาลทำออกมามากมาย ยิ่งปีสุดท้ายเป็นปีที่รัฐบาลพยายามเก็บงานหลายเรื่องเหมือนกับการตัดชุวิวาห์ มันต้องใช้เวลาในการตัดเย็บ ดีไซน์ การชุน และสุดท้ายจะเห็นผลในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนแต่งงาน

มีหลายนโยบายที่เปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศจำนวนมาก แม้แต่เรื่องของตำรวจที่หลายคนเรียกร้อง ซึ่งเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผ่านเรียบร้อย ที่เป็นการปฏิรูปตำรวจที่สำคัญนายกอบศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจสอบคำพูดของนายกอบศักดิ์ พบว่า ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ หรือร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.…  ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสนช.แต่อย่างใด และครม.ก็ยังไม่เสนอเข้าสู่วาระการประชุมของสนช.ด้วยซ้ำ ทั้งที่ผ่านมติครม.มาแล้วกว่า1เดือน

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และ ร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ  ก็ยังไม่นำเสนอเข้าที่ประชุมครม.แต่อย่างใด โดยสลค.ได้ส่งย้อนกลับไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)อีก  ทั้งที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ เรียบร้อยแล้ว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจทั้ง 2 ฉบับ   คาดว่าน่าจะไม่มีการนำเข้าที่ประชุม ครม.ในยุคนี้ เนื่องจากกฎหมายทั้งสองฉบับถูกต่อต้านจากตำรวจอย่างมาก และรัฐบาลน่าจะหลีกเลี่ยงเรื่องดังกล่าว ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่ากฎหมายปฏิรูปตำรวจเข้าสู่ชั้น สนช.แล้วนั้น เป็นกฎหมายฉบับอื่นที่เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ

ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มีสาระสำคัญในหลายประเด็น เช่น แยกงานสอบสวน มี ผบช., ผบก.และ ผกก.สอบสวน รับผิดชอบ ตัดอำนาจ ผบช.พื้นที่   ให้ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน แพทย์พยาบาล และการศึกษาโรงเรียนตำรวจต่างๆ เป็นตำรวจไม่มียศแบบทหาร

ให้โอนหลายหน่วยงานไปยังกระทรวงและส่วนราชการที่รับผิดชอบ เช่น ตำรวจป่าไม้ไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยุบตำรวจรถไฟ และตำรวจจราจรไปเทศบาลนครและเมืองใหญ่

ในเรื่องการแต่งตั้ง ก็กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อตำรวจส่วนใหญ่ ป้องกันมิให้มี การขายตำแหน่ง ให้ประชาชนร่วมประเมินผลการปฏิบัติงานของตำรวจในพื้นที่ ฯลฯ ถือว่าดีขึ้นระดับหนึ่ง

แต่น่าเสียดาย ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับนี้ กลับถูกเตะไปให้ตำรวจใหญ่ยำใหญ่กันอีก  ส่วนร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ.… ก็ยังไม่นำเข้าสนช.แต่อย่างใด

ในขณะที่กฎหมายปฏิรูปตำรวจไม่มีมีความคืบหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวกับประชาชน ระหว่างตรวจราชการที่สวนพฤกษาศาสตร์พุแค ต.พุแค อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมาตอนหนึ่งว่า วันนี้ผมทำตามสัญญาแล้วหรือยัง ทำแล้วใช่ไหมตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นานใช่ไหม  และอย่ารังเกียจทหารกันให้มากนักเลย เพราะถ้าไม่มีคนเหล่านี้จะอยู่กันอย่างไร ใครจะช่วยประชาชนเวลาเดือดร้อน

ส่วนตำรวจไม่ดีที่ไปเรียกเงินเรียกทอง พอข่าวนี้ออกมาทุกวันก็เลยเกลียดตำรวจทั้งหมด ก็ทำให้ตำรวจบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ถามว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความสงบเรียบร้อยได้หรือไม่ หากตำรวจทั้งประเทศน้อยใจหยุดไม่ทำงาน ก็ทำให้โจรเยอะขึ้นมาอีก อย่างน้อยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เพราะยังมีตำรวจดีๆ ทำงานอยู่พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

กลายเป็นว่าไปโทษสื่อเสนอข่าวตำรวจรีดไถ ทำให้ประชาชนเกลียดตำรวจจนทำให้บังคับใช้กฎหมายไม่ได้ แทนที่จะเร่งปฏิรูปตำรวจ-ต้นทางกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายสุจริตและเที่ยงธรรม

ต้องจับตาว่าก่อนเลือกตั้งซึ่งรัฐบาลจะแถลงปิดจ๊อบผลงาน พล.อ.ประยุทธ์-นายกรัฐมนตรี จะเร่งผลักดันกฎหมายปฏิรูปตำรวจเข้าสู่การพิจารณาของสนช.เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในรัฐบาลนี้ หรือจะหมกเม็ด ตบตา ประชาชน?

About The Author