‘โกดังพลุเถื่อน’ ระเบิด ! ใครคือผู้รับผิดชอบที่แท้จริง?

ยุติธรรมวิวัฒน์

“โกดังพลุเถื่อน” ระเบิด ! ใครคือผู้รับผิดชอบที่แท้จริง?

 

          พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ระยะนี้ สื่อมวลชนและประชาชนส่วนใหญ่ต่างมุ่งความสนใจไปในเรื่อง “การตั้งรัฐบาล”

ว่าสุดท้ายจะได้ “บุคคล” จาก “พรรคการเมืองใด” เป็น “นายกรัฐมนตรี” มีอำนาจบริหารประเทศเป็นเวลาสี่ปี

จะเป็นคนในรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ที่สุดท้ายคล้ายถูกสั่งให้ “สลัดรักรูปหัวใจ” จากพรรคก้าวไกล

แต่กำลังอยู่ในสภาพ หันซ้ายหันขวา  ไม่รู้ว่าจะเดินไปหาพรรคใดเป็นพวกดี  โดยไม่ให้มีเสียงก่นด่าจากประชาชนผู้สนับสนุนตามมามากมาย

หรือในที่สุด  อำนาจรัฐอาจจะหันกลับไปสู่กลุ่มทหารที่รับผิดชอบบริหารบ้านเมืองกันมานานกว่า ๙ ปีที่ประชาชนแสนเบื่อหน่ายเช่นเดิม!

เรื่องความหวังและความฝันของคนจนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในทุกๆ ด้าน

โดยเฉพาะเรื่องการกระจายอำนาจด้วยการ “เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” “การปฏิรูปกองทัพ” “การปฏิรูปตำรวจ” และอีกมากมาย  ภายใต้แนวคิดและการนำของ “พรรคก้าวไกล”

ได้ถูก “ดับฝัน” นั้นลงด้วยอำนาจของรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารได้ “อำนวยการร่าง” ขึ้น       กำหนดให้อำนาจ สส.ตัวแทนประชาชน ต้องผ่านความเห็นชอบของ “สว.แต่งตั้ง ๒๕๐ คน” อีกด่านหนึ่ง

ซึ่งเป็น “ประชาธิปไตยกำมะลอ” ที่ คสช. ได้ออกแบบหลอกคนไทยให้อยู่ในความสงบชั่วขณะ

แต่ไม่ว่าอย่างไร  เมื่อถึงวันที่ต้องเลือกตั้งใหญ่อีกครั้ง  พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของประชาชนก็จะแสดงให้ผู้คนเห็นเช่นที่ผ่านมาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ในระหว่างนี้ มีเรื่องเศร้าสลดเกิดขึ้นคือการระเบิดของโกดังพลุ มูโน๊ะ  อ.สุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส

ทำให้ประชาชนต้องล้มตายถึง ๑๒ คน บาดเจ็บนับร้อย  บ้านเรือนโดยรอบพังเสียหายย่อยยับ!

ปัญหาคือ คลังพลุประทัดหรือแท้จริงคือดินระเบิดจำนวนมากแบบนี้  มันตั้งอยู่กลางหมู่บ้านและชุมชนได้อย่างไร

หน่วยงานใดและใครคือผู้รับผิดชอบ?

เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า  สถานที่นี่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างเป็นอาคารที่พักอาศัยทั่วไป

ไม่ได้มีการอนุญาตจากนายทะเบียนอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนท้องถิ่น คือ “นายอำเภอ” ให้เป็นสถานที่เก็บหรือจำหน่ายพลุและประทัดไม่ว่าชนิดไหนแต่อย่างใด

สรุปได้ว่าเป็น “โกดังพลุเถื่อน”  ซึ่งไม่มีใครทราบว่าเจ้าของสองผัวเมียได้ขนพลุมาจากที่ใดมาเก็บไว้ในแต่ละช่วงเวลาบ้าง

แต่เป็นที่รู้กันดีในหมู่ประชาชนผู้พักอาศัยในหมู่บ้านว่า สถานที่นี้ได้เก็บพลุประทัดผิดกฎหมายไว้จำนวนมากเป็นระยะ

ประชาชนโดยรอบหวั่นใจว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่ง คงต้องเกิดเหตุระเบิดขึ้นอย่างแน่นอน!

บอกเตือนเจ้าของสองผัวเมียเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล

ผู้คนรู้กันทั่วไปว่าโกดังพลุเถื่อนแห่งนี้ได้มีการ “จ่ายส่วยให้ตำรวจผู้ใหญ่” หลายระดับ

เคยถูกฝ่ายทหารจับครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๕๕๙  แต่สุดท้าย อัยการได้สั่งไม่ฟ้องคดี

ซึ่งเรื่องนี้ “คุณนารี  ตัณทเสถียร อัยการสูงสุด” ควรตรวจสอบชี้แจงให้ประชาชนทราบว่า อัยการสั่งฟ้องคดีนั้นตามกฎหมายไม่ได้เพราะเหตุใด?                          

ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าแม้ไปแจ้งความกับตำรวจ  ก็คงไม่มีการดำเนินคดีหรือมีการจัดการตามกฎหมายอะไรให้สภาพอันตรายนั้นยุติลงอย่างเด็ดขาด

ทุกคนต้องดำรงชีวิตกันอย่างหวาผวา  เพราะไม่สามารถพึ่งพาหน่วยงานของรัฐหน่วยใดให้จัดการได้

แน่นอน  เมื่อเกิดการระเบิดขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด  สองผัวเมียที่เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง ย่อมต้องรับผิดทางอาญาข้อหา  “กระทำประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัส”

ไม่ว่าจะตายหรือเจ็บกี่ร้อยคน  ก็เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว

รวมไปถึงต้อง “ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน” ให้กับผู้เสียหายทุกคน

หรือไม่ก็กลายเป็น  “บุคคลล้มละลาย” เพราะไม่สามารถหาเงินมาชดใช้ตามที่ศาลสั่งได้ทั้งหมด        

แต่ที่สำคัญก็คือ  สำหรับเจ้าพนักงานของรัฐ หน่วยงานใดและใครคือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องคอยตรวจสอบตรวจตรามิให้มีการขนค้าและครอบครองพลุประทัดผิดกฎหมายเช่นนี้

มีตำรวจผู้ใหญ่บางคนบอกว่า ฝ่ายปกครองคือนายอำเภอก็ต้องรับผิดชอบด้วย

เพราะมีฐานะเป็นนายทะเบียนอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน ซึ่งรวมถึงพลุ ประทัด และดอกไม้ไฟ

ขอเรียนว่า ถ้านายอำเภอออกใบอนุญาตให้สองผัวเมียเก็บหรือจำหน่ายพลุและประทัดจำนวนมากในสถานที่แห่งนี้ซึ่งไม่มีมาตรฐานในการเก็บตามกฎหมายจนเป็นเหตุให้เกิดระเบิดขึ้น

แน่นอนว่า ย่อมมีความผิดทางอาญาทั้งการปฏิบัติหน้าที่มิชอบและกระทำประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วยเช่นกัน

แต่เมื่อเป็นการลักลอบขนค้าพลุและประทัดจำนวนมากนำมาเก็บไว้อย่างผิดกฎหมายสุดอันตรายเช่นนี้

เหตุใดหัวหน้าสถานี ผู้บังคับการ ไปจนถึง “ผู้บัญชาการตำรวจ” พื้นที่

จึงไม่มีใครคิดดำเนินการสืบสวน “เข้าตรวจค้น“ ยึดของกลางและสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสนอศาลให้ “ออกหมายจับ” ตัวสองผัวเมียมาดำเนินคดี    

เพราะเป็นหน่วยงานที่มี “อำนาจสอบสวนเบ็ดเสร็จ” เพียงหน่วยเดียวเท่านั้น

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :ฉบับวันที่ 7 ส.ค. 2566                              

About The Author