‘พงส.’ ขอลาออก บอก ‘เบื่อระบบงานสอบสวน’ กระบวนการยุติธรรมกำลังพินาศ!
“พงส.” ขอลาออก บอก “เบื่อระบบงานสอบสวน”กระบวนการยุติธรรมกำลังพินาศ!
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีพนักงานสอบสวนระดับ รอง สว. สังกัด สภ.อำเภอชะอำ นายหนึ่งยื่นหนังสือขอลาออก
บอกเหตุผลอย่างตรงไปตรงมาว่า เบื่อระบบงานสอบสวน ต้องการไปประกอบอาชีพอื่น
การทำงานในแต่ละวันนอกจากต้องระวังเรื่องกฎหมายแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามระเบียบ คำสั่ง และนโยบายของผู้บังคับบัญชาสารพัดมากมาย
ซ้ำยัง ไร้อนาคต!
แต่ละนายทำงานเป็นพนักงานสอบสวนสะสมความชำนาญกันนานแค่ไหน ก็ไม่มีโอกาสเป็น หัวหน้าพนักงานสอบสวน หรือหัวหน้าสถานี
ทั้งที่เป็นงานในหน้าที่ และบางตำแหน่งก็อยู่ในอำเภอหรือจังหวัดที่ตนเองทำงานมาแสนนาน
เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าพนักงานสอบสวนหัวหน้าสถานีเหล่านี้ อาจกล่าวได้ว่า ในทางพฤตินัยตำรวจผู้ใหญ่ได้สงวนไว้สำหรับตำรวจสายงานอื่นที่ไม่ใช่พนักงานสอบสวนโดยเฉพาะ!
ไม่ว่าจะพวก รอง ผกก.ป้องกัน รอง ผกก.สืบสวน รอง ผกก.จราจร หรือแม้แต่ ตร.ฝ่ายอำนวยการ และพวก ตร.หน้าห้อง โดย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ทางกฎหมายและมีประสบการณ์ในการทำงานสอบสวนในพื้นที่ใดมาอย่างต่อเนื่องอะไร
ใคร มีเส้นสายและ “ปัจจัยความรัก” ครบตามจำนวน ก็เป็น หัวหน้าพนักงานสอบสวน หัวหน้าสถานี เลือกที่อยู่ได้อย่างสบาย!
ส่งผลทำให้พนักงานสอบสวนซึ่งส่วนใหญ่ กว่าร้อยละ 90 เป็นผู้มีคุณวุฒิปริญญาทางกฎหมายจากมหาวิทยาลัย ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น รองสารวัตรสอบสวน สารวัตร รองผู้กำกับ หรือแม้แต่ระดับผู้กำกับ สุดเบื่อหน่าย
หลายคนอดทนนานเข้าจนรู้สึก อับอายตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาและพ่อค้าประชาชน
คนที่มีคดีมีเรื่องการทำงานผสมเข้าไป ก็ตัดสินใจฆ่าตัวตายให้พ้นๆ ปัญหาไป!
ส่วนคนที่ยังพอมีช่องทางประกอบอาชีพอื่นได้ ก็ใช้วิธีลาออก
ก่อนจะถูก ปลดออก หรือ ไล่ออก ไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ!
ทั้งที่บางคนไม่ได้มีพฤติกรรมทุจริตหรือเจตนากระทำผิดกฎหมายอะไร
ระบบงานสอบสวนของตำรวจไทยอยู่ในสภาพเลวร้าย เพราะอยู่ในระบบชั้นยศและการปกครองด้วยวินัยแบบทหาร
ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของงานในฐานะที่เป็น “เจ้าพนักงานยุติธรรม” ตามประมวลกฎหมายอาญา
ในแต่ละวัน “ผู้บังคับบัญชาบ้าอำนาจ” สามารถจับผิดและลงโทษทางวินัยได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า
เช่น ผมยาว รองเท้าไม่มัน ฟันไม่ขาว ไม่เข้าแถวตามเวลาหรือมาช้า มองเห็นผู้บังคับบัญชามาแต่ไกลแล้วไม่รีบไปกราบสวัสดี รายงานตัวทำความเคารพ สำนวนครบเวลาไม่ขออนุมัติขยาย ฯลฯ
คนมีความรู้กฎหมายทำงานขยันขันแข็งด้วยความสุจริตแค่ไหน ก็ใช่ว่าจะรอด!
ปัญหาสำคัญของพนักงานสอบสวนประเทศไทยจึงไม่ใช่เรื่องเงินเดือนและค่าตอบแทนอย่างที่ผู้มีอำนาจและนักการเมืองหลายคนเข้าใจแต่อย่างใด
เพราะในความเป็นจริง ทุกระดับได้รับกันมิใช่น้อย เมื่อเทียบกับข้าราชการอื่นในอำเภอและจังหวัด
มีทั้ง เงินประจำตำแหน่ง พงส. เริ่มตั้งแต่ 12,000 15,000 17,000 ไปจนถึง 20,000 สำหรับระดับ ผกก.สอบสวน
รวมทั้งเงินที่เรียกว่า ค่าสำนวน คดีง่ายๆ รัฐจ่าย 500 ยากหน่อย 1,000 ไปจนถึง 1,500 เดือนหนึ่งเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าห้าพันหรือกว่านั้น
แต่ส่วนใหญ่มัก ได้กันไม่ครบ เพราะถูกเจ้านายในจังหวัดหักหัวคิวไว้ตามนิสัย เพราะเห็นว่าพวกนี้ได้เงินกันง่ายทั้งที่เป็นงานในหน้าที่
ตำรวจจบใหม่บางคนอายุแค่ยี่สิบสองยี่สิบสามปี ก็มีเงินเดือนและค่าตอบแทนราชการ 30,000 บาทต่อเดือนเป็นอย่างน้อยแล้ว
สูงกว่าข้าราชการหน่วยอื่นและแม้แต่บริษัทเอกชนส่วนใหญ่มากมาย
งานสอบสวนในสถานีตำรวจต่างจังหวัดส่วนใหญ่ก็แสนสบาย ไม่ได้มีคดีอาญาร้ายแรงเกิดขึ้นชุกชุมอะไร
แต่ที่ไม่มีใครอยากเป็นพนักงานสอบสวน ก็เพราะเป็นงานที่ ไร้อนาคต
โจทย์ปฏิรูปตำรวจของ “พรรคก้าวไกล” หากมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลก็คือ
นำตำรวจออกจากระบบการปกครองบังคับบัญชาและวินัยแบบทหารในงานที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานตามมาตรฐานวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล อำนวยการ การศึกษา พิสูจน์หลักฐาน งานนิติวิทยาศาสตร์ ฯลฯ
ทบทวน “คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง” ทุกตำแหน่งให้ตรงตามคุณวุฒิปริญญาเป็นมาตรฐานสากล
ตำแหน่งสอบสวนและงานกฎหมายในทุกระดับโดยเฉพาะ “หัวหน้าพนักงานสอบสวน” ต้องเป็นผู้มีคุณวุฒิปริญญาทางกฎหมาย
ทุกคนเจริญก้าวหน้ามาจากการสะสมประสบการณ์ทำงานใน “สายสอบสวน” เท่านั้น
ไม่ใช่หลายคนไม่มีความรู้ทางกฎหมาย แต่ใช้วิธี “จ่ายความรัก” มาเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน หรือหัวหน้างานกฎหมาย วินิจฉัยผิดๆ ถูกๆ
ส่งผลทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยเดินไปสู่ความพินาศ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกันอย่างแสนสาหัสอยู่ทุกวันนี้!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 10 ก.ค. 2566