อัยการนานาชาติประหลาดใจ ‘อัยการไทย’ สั่งคดียุติธรรมได้อย่างไร เมื่อไม่มีโอกาสเห็นพยานหลักฐานและสถานที่เกิดเหตุ!
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 ระหว่าง 09.00 – 12.00 น. ณ ห้องประชุมชั้นสอง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) สถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ บทบาทพนักงานอัยการในประเทศยุโรป อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้” “มองอัยการต่างประเทศแล้วมองย้อนดูไทย” มี รศ.ดร.ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. ศ.ดร.ณรงค์ ใจหาญ พนักงานอัยการ อาจารย์และนักวิชาการกฎหมายเข้าร่วมประมาณ 80 คน
การเสวนามีอัยการอาวุโสและอาจารย์กฎหมายจากสหพันธรัฐเยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เดินทางมาเป็นวิทยากร บรรยายให้ความรู้และประสบการณ์การทำงานในบทบาทอัยการและการสอบสวนคดีอาญาของแต่ละประเทศ สรุปได้ว่า ในทุกประเทศทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกาและเอเชีย การสอบสวนคดีอาญาทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งได้แบ่งเป็น “ตำรวจฝ่ายคดี” (Judicial Police) แยกต่างหากจาก “ตำรวจฝ่ายป้องกันอาชญากรรม” (Prevention Police)
การกระทำความผิดอาญาทั่วไปที่ไม่มีปัญหาหรือความซับซ้อนอะไร ตำรวจก็ดำเนินการสอบสวนเริ่มคดีไปตามอำนาจหน้าที่ เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีบุคคลากรครอบคลุมทุกพื้นที่และใกล้ชิดเหตุการณ์และสถานที่เกิดเหตุอยู่แล้ว แต่ตำรวจไม่สามารถขอให้ศาลออกหมายค้นหรือหมายจับเองได้ ต้องผ่านการตรวจสอบพยานหลักฐานและให้ความเห็นชอบจากพนักงานอัยการ
อัยการในทุกประเทศจะมีบทบาทสำคัญในการ “เสริม” (Supplementary) การสอบสวนที่ตำรวจ “เริ่มคดี” (Initiation) หรือเข้าตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญบางประเภทที่กำหนดไว้ เช่นคดีที่ตำรวจผู้ใหญ่กระทำความผิด หรือคดีที่มีปัญหา
ประเทศเยอรมัน คดีที่อัยการเข้ารับผิดชอบการสอบสวนเองมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 82 เปอร์เซ็นต์เป็นหน้าที่ของตำรวจ ส่วนที่เหลือเป็นองค์กรอื่นที่มีอำนาจสอบสวน เช่นศุลกากร ฯลฯ
เยอรมันนีมี “อัยการฝ่ายสืบสวน” (Investigative Prosecutor) ทำงานเช่นเดียวกับตำรวจ สามารถตรวจสถานที่เกิดเหตุหรือสอบปากคำพยานเองได้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการสอบสวนที่ตำรวจทำไว้ นอกจากอำนาจสั่งให้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ
บางประเทศกำหนดไว้ในกฎหมายให้เป็นความผิดวินัยหากตำรวจไม่ดำเนินการตามคำสั่งของอัยการ เช่น ประเทศญี่ปุ่น
ในระบบการสอบสวนของญี่ปุ่น ไม่เน้นการใช้อำนาจบังคับ โดยเฉพาะการออกหมายเรียกพยาน แต่จะพยายามสร้างความเข้าใจให้เกิดความร่วมมือเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในชุมชน
สำหรับสำนวนการสอบสวน ตำรวจไม่ต้องทำความเห็นเสนอให้อัยการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากถือว่าเป็นอำนาจของอัยการที่จะพิจารณาตามพยานหลักฐานทั้งที่ตำรวจสอบสวนไว้และที่ได้จากการรวบรวมของอัยการเอง
ระบบการสอบสวนของประเทศเกาหลี อัยการมีอำนาจมากทั้งการสืบสวนและสอบสวน ส่งผลทำให้ปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าพนักงานรัฐลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด มีการดำเนินคดีกับนักการเมืองหลายคนแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี แต่ปัจจุบันได้มีความพยายามในการลดอำนาจของอัยการลง ให้เริ่มคดีได้เฉพาะความผิดบางประเภท ได้แก่ การกระทำผิดอาญาของเจ้าพนักงานรัฐระดับสูง การกระทำผิดทางเศรษฐกิจ คดีขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และคดีที่ตำรวจผู้ใหญ่กระทำผิดอาญา (Crimes committed by police officer)
ในตอนท้ายของการเสวนา ศ.ดร.ณรงค์ ใจหาญ ได้กล่าวว่า เมื่อฟังการบรรยายได้ความรู้จากอัยการหลายประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่าระบบการสอบสวนส่วนใหญ่จะคล้ายกันคือ อัยการเป็นผู้มีบทบาทในการตรวจสอบการสอบสวนคดีอาญาสำคัญหรือมีปัญหา ไม่ได้ปล่อยให้ตำรวจรับรู้และรวบรวมพยานหลักฐานฝ่ายเดียวเช่นประเทศไทย แต่ปัญหาคือ เราจะนำตัวอย่างเหล่านี้มาปฏิรูประบบการสอบสวนของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร?
ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ได้กล่าวว่า ประเทศต่างๆ เหล่านี้ ตำรวจเขาเป็นระบบพลเรือนทั้งสิ้น ทั้งฝ่ายป้องกันอาชญากรรมและตำรวจฝ่ายคดี และการปฏิบัติหน้าที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าทุกคนกระทำด้วยความสุจริต ที่มาคุยมาเสวนาแลกเปลี่ยนกันก็เป็นเรื่องประสิทธิภาพเป็นสำคัญ ปัญหากระบวนการยุติธรรมของทุกประเทศเหล่านี้จึงมีน้อยมาก
ส่วนประเทศไทย เป็นที่รู้ทั่วกันว่าตำรวจผู้ใหญ่ไม่ได้ทำงานกันด้วยความสุจริต แต่ละคนมีพฤติกรรมรับส่วยสินบนจากผู้กระทำผิดกฎหมายหลายรูปแบบมากมาย ซ้ำปัจจุบันได้ผูกขาดอำนาจสอบสวนไว้โดยไม่มีหน่วยใดสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา ผู้ว่าฯ นายอำเภอ หรือแม้กระทั่งพนักงานอัยการ ก็รู้เห็นพยานหลักฐานระหว่างการสอบสวนและตรวจสถานที่เกิดเหตุไม่ได้
ประกอบกับการใช้ระบบยศและการปกครองแบบทหารแม้กระทั่งในระบบงานสอบสวน ทำให้ผู้ปฏิบัติสามารถถูกสั่งให้รวบรวมพยานหลักฐานโดยมิชอบ หรือแม้กระทั่งให้ “สอบสวนทำลายพยานหลักฐาน” ได้ ก่อให้เกิดปัญหาต่อกระบวนการยุติธรรมในทุกขั้นตอนทั้งอัยการและศาลมากมาย
ในการพูดคุยเสวนา อัยการต่างประเทศเหล่านี้ต่างรู้สึกแปลกใจที่ได้ทราบว่า อัยการไทยไม่มีอำนาจเข้าตรวจสอบการสอบสวนของตำรวจหรือเริ่มดำเนินคดีเองได้ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดร้ายแรงหรือคดีที่มีปัญหามากเพียงใด!
ไม่มีแม้กระทั่งอำนาจตรวจและเห็นสถานที่เกิดเหตุคดีใดๆ แม้จะเกิดความสงสัยในพยานหลักฐานที่ตำรวจสอบสวนรวบรวมส่งไปให้
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว “อัยการไทย” จะสั่งคดีให้เกิดความยุติธรรมตามความจริงที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริงได้อย่างไร?