เมื่อองค์กรรักษากฎหมายกลายเป็น ‘รังโจร’ ‘พรรคใด’ สนใจ ‘ปฏิรูป บ้างหรือไม่?
เมื่อองค์กรรักษากฎหมายกลายเป็น “รังโจร” “พรรคใด” สนใจ “ปฏิรูป” บ้างหรือไม่?
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีองค์กรรักษากฎหมายซึ่งประชาชนไม่สามารถเชื่อถือและไว้วางใจได้!
ซ้ำเลวร้ายถึงขนาดหลายคน หวาดผวา เห็นตำรวจระดับต่างๆ ตามถนนหนทางแล้วกลัวว่าจะ ถูกยัดข้อหา หรือ ยัดของกลาง ให้ โดยเฉพาะยาเสพติด
แม้เผลอกระทำผิด ก็อาจถูกจับ รีดทรัพย์ จนหมดตัวกันทั้งรถและครอบครัว!
ไม่ว่าจะเป็นองค์กรรักษากฎหมาย แบบธรรมดา หรือ แบบพิเศษ ที่นิยมเรียกชื่อกันโก้เก๋เป็น ภาษาต่างประเทศ?
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐบาลทุกยุคสมัยได้ปล่อยให้ปัญหางานรักษากฎหมายหมักหมกและสะสมตัวเพิ่มมากขึ้นตลอดมา
หัวหน้าผู้รักษากฎหมายแต่ละคนโดยเฉพาะในองค์กรที่มี ตำรวจยศนายพล ระดับต่างๆ แบบทหาร อยู่อย่างคราคร่ำ ไม่น้อยกว่า 500 คน!
กลายเป็นกลุ่มคนที่สร้างปัญหาต่อประชาชน “รวมทั้งตำรวจผู้ปฏิบัติงาน” ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฎหมายได้
ไม่ว่าจะเป็นการ ดูดซับทรัพยากรและงบประมาณ ของหน่วยงานในรูปของเงินเดือน ค่าตอบแทนมากมาย รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างและบำรุงรักษาอาคารสำนักงานที่เรียกกันโอ่อ่าว่า กองบัญชาการ
หลายแห่งใหญ่โต สุดหรูหรา!
แต่หาคุณค่าต่อประชาชนและตำรวจผู้ปฏิบัติงานทั้ง “การตรวจป้องกันอาชญากรรม” และ “การสอบสวนคดี” ในพื้นที่ ซึ่งมี “พนักงานสอบสวนผู้ไร้อนาคต” ทำงานกันแบบ “ซังกะตายไปวันๆ” ไม่ได้
ซ้ำหลายแห่งได้กลายเป็น รังโจร ของ ตำรวจชั้นนายพล ไปก็มี!
เป็นที่ซ่องสุมพบปะปรึกษาหารือของนายบ่อนและผู้ประกอบธุรกิจผิดกฎหมายและ “ให้ความคุ้มครอง”
มีตำรวจทั้งหญิงชายแย่งกันนั่งหน้าห้องคอยชงกาแฟ รับแขก รับซอง จัดอาหารหวานคาวจากร้านดัง คอยเดินตามรับใช้ไม่ให้คลาดสายตา เปิด-ปิดประตูรถ ถือหมวก กระเป๋า ถือโทรศัพท์ให้ ฯลฯ
หวังเพียงเพื่อให้ชีวิตราชการของตนได้เจริญก้าวหน้า
ถ้าเป็นระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.ขึ้นไป ถึงขนาดออกระเบียบให้นำ “ตำรวจระดับต่างๆ ไปรับใช้ที่บ้านได้จนตาย”!
โดยไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นเรื่อง “น่าละอาย” แต่อย่างใด
เพราะเมื่อตนไม่ได้ปฏิบัติราชการแล้ว มีความชอบธรรมอะไรในการนำตำรวจไปคอยรับใช้กันยันบ้านเช่นนั้น?
การจัดโครงสร้างองค์กรและระบบการปกครองตำรวจแบบทหารที่ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการทำงาน ในฐานะเจ้าพนักงานยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา
คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ตำรวจไทยไม่สามารถปฏิบัติงานรักษากฎหมายตามอำนาจที่แต่ละคนมีอยู่ได้
เอาแค่ปัญหาง่ายๆ หลักคิดการบริหารงานตำรวจแบบทหารในการแบ่งผู้ปฏิบัติงานออกเป็น ชั้นสัญญาบัตร
ส่วนที่เหลือทั้งหมด กว่า 170,000 คน เรียกกันว่า ชั้นประทวน หรือ Noncommissioned ซึ่งหมายถึง ผู้ไม่มีอำนาจ
มีหน้าที่ทำงาน ปฏิบัติการรบ ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเท่านั้น
ตำรวจชั้นประทวน แต่ละคนจะทำงานรักษากฎหมายตามหน้าที่กันด้วยความมั่นใจและภาคภูมิใจเป็นที่เชื่อถือยอมรับของประชาชนได้อย่างไร?
นอกจากนั้น ความคิด “อุตริ” ในการแยกกรมตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รักษาความสงบภายในของชาติ (ministry of interior) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ยิ่งพากันลงเหวไปใหญ่!
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวง รวมไปถึงผู้ว่าฯ กทม. ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ซึ่งเป็น “หัวหน้าหน่วยการปกครองแต่ละท้องที่” ไม่สามารถสั่งงานและตรวจสอบควบคุมหัวหน้าหน่วยตำรวจในจังหวัดและอำเภอได้!
“กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” ที่เป็นหัวใจของข้อมูลและข่าวสารการรักษาความสงบในทุกตำบลและหมู่บ้านมาช้านาน ก็ไม่สามารถทำงานกับ “ตำรวจ” ได้อย่างสนิทใจเช่นแต่ก่อน
เป็นความผิดพลาดที่สร้างความเสียหายต่อการรักษาความสงบและกระบวนการยุติธรรมอาญาชาติอย่างร้ายแรงนับแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
ปัญหาตำรวจจึงสะสมตัวมากขึ้นทุกขณะ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกันแสนสาหัส
ความพยายามในการแก้ปัญหาตำรวจหลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ด้วยการจัดตั้ง
ศูนย์ดำรงธรรม ไม่ว่าระดับกระทรวง จังหวัด และอำเภอ ตามคำสั่งของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้
เนื่องจาก เขียนไว้ลอยๆ ให้ผู้อำนวยการศูนย์ คือผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ มีอำนาจสั่งข้าราชการทุกหน่วยงานในพื้นที่รับผิดชอบ ได้
แต่เมื่อไม่มีอำนาจ “ให้คุณให้โทษ” “สั่งย้าย” หรือแม้แต่ “เปลี่ยนหน้าที่” ตำรวจคนใดในจังหวัดหรืออำเภอได้แม้แต่คนเดียว
ตำรวจผู้ใหญ่ไม่ว่าระดับใดจึงไม่ได้ให้ความสนใจปฏิบัติตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอสั่งหรือแจ้งเรื่องอะไรอย่างจริงจังทั้งสิ้น
ประชาชนร้องเรียนปัญหาตำรวจไป ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยให้มีบ่อนพนัน สถานบริการผิดกฎหมาย ตำรวจไม่รับแจ้งความออกเลขคดี ไม่มีการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วนตามกฎหมาย
ศูนย์ดำรงธรรมก็ทำได้แค่เป็น บุรุษไปรษณีย์ ส่งคำร้องนั้นให้หัวหน้าตำรวจพื้นที่จัดการและรายงานผลให้ทราบ
เป็นพฤติกรรมแบบ ลิงหลอกเจ้า ไปวันๆ เท่านั้น!
ปัญหาองค์กรรักษากฎหมายประเทศไทย กลายเป็น รังโจร มีตำรวจชั้นนายพลระดับต่างๆ หลายคนทั้งในและนอกราชการ มีชื่อย่อทั้ง จ.จาน และอีกสารพัดตัวอักษรเป็น หัวหน้า
ความชั่วช้าของ หัวหน้าโจรมีเครื่องแบบ ติดเครื่องหมายแวววาวเหล่านี้ ได้ถูกเปิดเผยออกมาให้ประชาชนได้รับรู้อยู่เป็นระยะผ่านสื่อออนไลน์
ไม่ใช่การเริ่มดำเนินการของหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. หรือองค์กรต้นสังกัดแต่อย่างใด
และก็ยังไม่มี “หัวหน้าพรรคการเมือง” ใดแสดงเจตนาหรือพูดว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะจัดการปัญหาหรือว่าจะ “ปฏิรูปตำรวจ” และ “การสอบสวน” ของประเทศโดยด่วนอย่างไร?.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 3 เม.ย. 2566