‘ห้องเปลี่ยนความเร็ว ตร.’ ปปช.ปราบทุจริตช้าและไม่ชัวร์

ยุติธรรมวิวัฒน์

ห้องเปลี่ยนความเร็ว ตร.’ ปปช.ปราบทุจริตช้าและไม่ชัวร์

 

                                                            พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

 

ช่วงเวลานี้นอกจาก คดีตู้ห่าว อดีตไกด์ชาวจีนจากแผ่นดินใหญ่ผู้ได้สัญชาติไทย ซึ่งถูกตำรวจเสนอศาลออกหมายจับข้อหา สมคบค้ายาเสพติด นำไปสู่การอายัดทรัพย์สารพัดมีมูลค่า ร่วมห้าพันล้าน

ข้อเท็จจริงของพฤติการณ์ไม่ได้เป็น ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดใด ซึ่งต้องรับโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา

แต่ว่าเป็นข้อหา สมคบ ตามบทบัญญัติเฉพาะของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

นัยว่าการสืบสอบของตำรวจพบพยานหลักฐาน ทางพฤตินัย ในการเป็นเจ้าของสถานบริการ พื้นที่ตำรวจนครบาล สน.ยานนาวา ที่เปิดโดยไม่ได้รับอนุญาต

รวมทั้งรู้เห็นเป็นใจให้มีการค้าและเสพยาเสพติดในสถานที่นั้น

คดีนี้ในที่สุด อัยการจะสามารถสั่งฟ้องและแสดงพยานหลักฐานให้ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา “รับฟังจนสิ้นสงสัย” และพิพากษาลงโทษได้จริงหรือไม่?

เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ต่างสงสัยและคอยติดตาม

เช่นเดียวกับการสอบสวนหลายคดีที่เป็นข่าวครึกโครม ซึ่งสุดท้ายอัยการได้สั่งไม่ฟ้องหรือศาลพิพากษายกฟ้องไป

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะ รัฐบาลมุ่งหมายไปที่การยึดทรัพย์ของเจ้าตัวและเครือข่าย ซึ่งถูกอายัดไว้ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นหลัก

แม้ว่าความผิดอาญาจะไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาล

ลงโทษข้อหาสมคบได้ แต่กฎหมายใหม่ได้บัญญัติให้ ผู้ถูกกล่าวหามีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่า ทรัพย์ทั้งหมดที่อายัดไว้ได้มาด้วยความสุจริต

ผิดไปจาก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฉบับเดิมที่ผูกกับความผิดอาญาที่ศาลต้องมีคำพิพากษาลงโทษเท่านั้น จึงจะยึดทรัพย์ได้

การพิสูจน์ทรัพย์ กว่าห้าพันล้าน ว่าได้มาจากประกอบอาชีพต่างๆ ที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมมานาน กว่าสิบปี

ไม่ได้มีพฤติการณ์นำ เงินส่วยสกปรก ของ ตำรวจผู้ใหญ่หรือนักการเมืองคนใดที่ซุกซ่อนไว้หลังเกษียณ หรือระหว่างมีอำนาจจำนวนมากมา “ฟอก” ให้ในรูปของการดำเนินธุรกิจที่สุจริต เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย

หากทรัพย์ใดพิสูจน์ได้แน่ชัด รัฐก็คืนให้ไป ไม่ได้มีปัญหาอะไร

เป้าหมายแท้จริงของการดำเนินคดีข้อหาสมคบค้ายาเสพติด จึงเป็นการยึดทรัพย์ตามกฎหมายใหม่ ส่วน “ความผิดฐานสมคบ” แม้ในที่สุดจะหลุดรอดได้เหมือนหลายๆ คดี โดยมีที่ศาลพิพากษาลงโทษอาจไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เป็นไร!

การสอบสวนคดีอาญาประเทศไทยมีปัญหาประชาชน ไม่เชื่อถือ มาช้านาน

เนื่องจากอำนาจสอบสวนการรวบรวมพยานหลักฐานได้ ถูกผูกขาดไว้กับตำรวจแห่งชาติ เพียงหน่วยงานเดียว

และ ตำรวจผู้เป็นพนักงานสอบสวนก็เป็นข้าราชการที่มียศและอยู่ในระบบการปกครองแบบทหาร

ซ้ำยังไร้การตรวจสอบจากภายนอกแม้แต่พนักงานอัยการผู้มีหน้าที่ฟ้องคดีเช่นการสอบสวนในประเทศที่เจริญทั่วโลกอย่างสิ้นเชิง!

ประชาชนจึงไม่ไว้ใจว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในแต่ละคดีที่สำคัญ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง หรือมีผู้บังคับบัญชาคนใดสามารถสั่งหันขวาซ้ายกันอย่างไรได้?

เช่นคดีที่มีการสอบสวนอย่างวิปริตยาวนาน และสุดท้ายอัยการได้สั่งไม่ฟ้อง บอส ตามข้อกล่าวหาว่าขับรถประมาทเป็นเหตุให้ชน นายดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐตร.จราจร สน.ทองหล่อ ถึงแก่ความตาย

นายเนตร นาคสุข อัยการผู้สั่งไม่ฟ้องคดีชี้แจงยืนยันว่า เป็นการสั่งคดีที่ถูกต้องสอดคล้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนของตำรวจทุกประการ!

ไม่ได้ทำผิดกฎหมายหรือระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดอะไรแม้แต่น้อย

เมื่อหลักฐานในสำนวนการสอบสวนยืนยันว่า บอสได้เมา และไม่ได้ขับรถเร็วถึง 177 กม.ต่อชั่วโมง ตามรายงานของสำนักงานพิสูจน์หลักฐานครั้งแรก

เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ผู้ตรวจพิสูจน์และออกรายงานเป็นหลักฐาน ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนใหม่หลังจากได้เข้าไปใน ห้องเปลี่ยนความเร็ว สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน

กลับกลายเป็นว่า ไม่แน่ใจในรายงานนั้น!

รวมทั้งความเร็ว 79 กม.ต่อชั่วโมงที่คำนวณใหม่ โดยใช้สูตรของอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ใน ห้องเปลี่ยนความเร็ว พร้อมกับ พลตำรวจเอก พลตำรวจโท และพลตำรวจตรี รวมทั้งอัยการและทนายความรวมสี่ห้าคน ที่รุมกันให้คำแนะนำ ก็อาจเป็นไปได้!

เมื่อพยานหลักฐานวิทยาศาสตร์ในคดีที่สำคัญ ถูกสอบสวนใหม่ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ

การสั่งไม่ฟ้องคดีบอสของ นายเนตร นาคสุข อัยการ จึงถูกต้องตามพยานหลักฐานและกฎหมาย

แต่พยานหลักฐานที่ได้เกิดขึ้นโดยมิชอบ จากการ กระทำของ “แก๊งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ทั้งกลุ่มตำรวจและทหารชั้นผู้ใหญ่

มี “พลตำรวจเอก” คนหนึ่งรับอาสาไปเดินงานหว่านล้อมและเกลี้ยกล่อมตำรวจผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ถึง “ห้องเปลี่ยนความเร็ว”

เป็นความผิดอาญาทั้งข้อหา ซ่องโจร และ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 มีโทษ จำคุกถึงสิบปี

แต่การสืบสอบคดีอาญาของ ป.ป.ช.จนกระทั่งป่านนี้ ก็ยังไม่ได้มีการออก หมายเรียก ใครเป็นผู้ต้องหา หรือว่า เสนอศาลออกหมายจับ เช่นที่ตำรวจดำเนินคดีกับประชาชนแม้แต่คนเดียว

ป.ป.ช.หรือที่เรียกว่า “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในราชการ” นั้น

นอกจากจะปราบปรามการทุจริต “ช้า”

ประชาชนยัง “ไม่เชื่อ” ว่าจะสามารถนำตัวผู้กระทำผิดที่เป็นตำรวจและทหารชั้นผู้ใหญ่มาดำเนินคดี รับโทษตามกฎหมายบ้านเมืองได้อย่างแท้จริงด้วย.

ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 5 ธ.ค. 2565

About The Author