‘กัญชา’ ไม่ใช่ ‘ยาเสพติด’ คือ ‘ความคิดวิปริต’ ผิดไปจาก ‘ชาวโลก’
‘กัญชา’ ไม่ใช่ ‘ยาเสพติด’ คือ ‘ความคิดวิปริต’ ผิดไปจาก ‘ชาวโลก’
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัญหากลุ่มทุนจีนสีเทา พากันเข้ามาเปิดบ่อนพนันและผับบาร์ค้ายาเสพติด ในเมืองใหญ่ของไทย ไม่ว่าจะเป็นภูเก็ต พัทยา และกรุงเทพมหานครนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกันมานาน นับสิบปี
โดยเป็นที่รู้กันดีว่า มี ตำรวจผู้ใหญ่ ทั้งในและนอกราชการหลายคนให้การสนับสนุน
เดินสายหากินกับแก๊งทุนจีน จากแผ่นดินใหญ่เหล่านี้ จนทำให้พลตำรวจเอกบางคนมีฐานะร่ำรวยเข้าขั้น “มหาเศรษฐี” ไปก็มี!
จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องจับตาว่า รัฐบาลจะสามารถกวาดล้างและ “สืบสาวถึงตัวการใหญ่” ทั้งในและนอกเครื่องแบบ มาลงโทษตามกฎหมายได้หรือไม่?
ปัญหา กัญชา ซึ่งเคยถูกรัฐไทยกำหนดให้เป็น ยาเสพติด ชนิดหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2522
สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และความคิดของรัฐบาลทุกชาติทั่วโลกนำไปสู่การทำข้อตกลง ระหว่างประเทศ 3 ฉบับ คือ- อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961 แก้ไขโดยพิธีสาร ค.ศ.1972
– อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1971 และ
– อนุสัญญาต่อการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ.1988
โดยมีเป้าหมายเพื่อความปลอดภัย และปกป้องสุขภาวะชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ
ผูกพันให้รัฐภาคีต้องจัดตั้ง ระบบควบคุมยาเสพติดที่มีหลักประกันทั้งการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย รวมทั้งมาตรการป้องกันมิให้ประชาชนนำไปใช้ในทางที่ผิด
แต่ไหนแต่ไร ประชาชนชาวไทยทุกเพศวัยไม่เคยมีปัญหาเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาว่าเป็นยาเสพติด คือ เป็นพืชมีพิษ “เสพแล้วเมาหลอน” “เสพแล้วติด” จริงหรือไม่?
เพราะ ถ้าไม่มีปัญหาและข้อมูลหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ว่าเป็นเช่นนั้นจริง รัฐไทยในอดีตคงไม่กำหนดให้เป็นยาเสพติดประเภทห้าอย่างแน่นอน
รวมทั้งทุกประเทศทั่วโลกก็คงไม่ทำอนุสัญญาตกลงกันในการป้องกันการสูบเสพกัญชา ซึ่งถือว่าเป็นยาเสพติดประเภทหนึ่งจนกระทั่งบัดนี้
แต่อยู่ดีๆ ก็มีพรรคการเมืองหนึ่งใช้เรื่องกัญชามาหาเสียงบอกว่าถ้าได้รับเลือกเข้าไป จะทำให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดอีกต่อไป!
ในขณะที่พืชกัญชายังคงเป็นยาเสพติดตามกฎหมาย และในความเป็นจริงของการออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2522 ก็ยังคงกำหนดให้เป็นยาเสพติดประเภทห้า ผู้เสพ ผู้ผลิต ผู้ครอบครอง หรือค้า มีโทษทางอาญา
ต่อมาก็ได้มีการออกประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ ไม่ปรากฏชื่อพืชกัญชาเป็นยาเสพติดอีกต่อไป
แต่ก็มีปัญหาว่า ยังคงเป็น พืชเสพติดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับเดิม อยู่
จึงได้มีการใช้อำนาจของรัฐมนตรีว่าการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับใหม่ในวันที่ 8 ก.พ.2565 ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภทห้า
โดยไม่ปรากฏชื่อพืชกัญชาเป็นยาเสพติดเช่นเดิม
ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายอะไรมาควบคุมการปลูกและสูบเสพกัญชาของประชาชนเลย!
ประเทศไทยจึงได้เข้าสู่สภาวะ กัญชาเสรี ตามนโยบายของพรรคการเมืองและรัฐบาลอย่างแท้จริง
คำว่า กัญชาเพื่อการแพทย์ คงจะสายเกินไปสำหรับสังคมไทยในขณะนี้ ที่ประชาชนและชาวต่างชาติแห่กันมา พี้กัญชา เพื่อสันทนาการ หรือการเสริมสร้างสุขภาพตามนโยบายของรัฐบาลกันมากมายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
ปัจจุบัน Thailand จึงเป็น “แดนสวรรค์กัญชา” ซึ่งไม่สามารถหาได้ที่ไหนบนโลกใบนี้!
ปัญหาที่จะตามมาจากการที่ประเทศไทยไม่กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดก็คือ
การถูกลงโทษตามมาตรา 14 ของอนุสัญญา ค.ศ.1961 มาตรา 19 ของอนุสัญญา ค.ศ.1971 และมาตรา 22 ของอนุสัญญา ค.ศ.1988 โดยถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่ละเมิดอนุสัญญา เช่นเดียวกับประเทศอัฟกานิสถาน อุรุกวัย และแคนาดา
รวมทั้งจะถูกจับตาโดยองค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) และองค์การตำรวจสากล (Interpol) ในการนำเข้า-ส่งออกและพิกัดสินค้าต่างๆ ไปจนถึงถูกจำกัดสิทธิ์การเข้าถึงยารักษาโรค
นอกจากนั้น อาจถูกจำกัดความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ หรือถูกจับตาและตั้งคำถามให้ต้องชี้แจงในเวทีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องทุกระดับ
การไม่กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด จึงเป็น “ความคิดที่วิปริต” ผิดไปจากความคิดและความเข้าใจของชาวโลกซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับประเทศและลูกหลานไทยอย่างมากมายในอนาคต.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 21 พ.ย. 2565