‘อัยการ’ ต้องยกระดับ ‘มาตรฐานการสั่งฟ้อง’ เพื่อคุ้มครอง ‘น้องแตงโม’ และประชาชน

ยุติธรรมวิวัฒน์

‘อัยการ’ต้องยกระดับ’มาตรฐานการสั่งฟ้อง’ เพื่อคุ้มครอง’น้องแตงโม’และประชาชน

                                                                                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

กรณีอัยการจังหวัดนนทบุรีได้ตีกลับสำนวนการสอบสวน 5 ลัง ของตำรวจภูธรภาค 1 ซึ่งได้ใช้ตำรวจชั้นนายพลรวมทั้งผู้คนและเวลาดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานกันมา นานกว่าสองเดือน

โดยสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมถึง 20 ประเด็น!

เพื่อให้เกิดความชัดเจนและ สิ้นสงสัย ในคดีที่ผู้ต้องหาสามคนบนเรือถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า กระทำประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 มีโทษจำคุกถึงสิบปี

คือ อัยการผู้มีหน้าที่ตรวจสอบพยานหลักฐานและฟ้องคดีต่อศาลต้องการทราบว่า ผู้ต้องหาทั้งสามนั้น แต่ละคน ได้กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังอย่างไร ที่เป็นเหตุให้น้องแตงโมพลัดตกจากเรือเร็วไปตรงจุดและเวลาใด และทำให้จมแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแก่ความตาย!

ไม่ใช่ชัดเจนแค่ข้อหา กะปิ น้ำปลา ที่ปรากฏในการแจ้งเพิ่มเติมเพื่อให้ดูจริงจัง

เนื่องจากใน เอกสารการสอบสวน 5 ลัง ที่ตำรวจขนและแบกหามกันขึ้นรถส่งไปให้อัยการ ยังไม่เห็นพยานหลักฐานที่ชัดเจนตามข้อกล่าวหาว่าประมาทนั้นกันแต่อย่างใด?

ไม่ว่าจะเป็นการ ร่วมกระทำ หรือ ต่างกระทำกันอย่างวิปริตคนละนิดคนละหน่อย! ก็ตาม

การส่งคืนสำนวนพร้อม คำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมอย่างละเอียด เช่นนี้ ถือเป็นเรื่องดี และเป็นมิติใหม่ในการทำงานของ อัยการไทยผู้รับผิดชอบในเขตจังหวัดนนทบุรี

ซึ่ง ควรที่อัยการทุกจังหวัดและทุกเขตทั่วประเทศจะได้ “ยกระดับมาตรฐานการสั่งฟ้องคดี” ในลักษณะเดียวกับที่อัยการจังหวัดนนทบุรีได้ดำเนินการไป

คือ เมื่อไม่มีความแน่ใจว่า จะสามารถสั่งฟ้องและ “พิสูจน์การกระทำผิดของผู้ต้องหาให้ศาลพิพากษาลงโทษได้”

ก็ไม่ควรสั่งฟ้องกันมั่วๆ ไปตามหน้าที่! เพราะมี ความเกรงใจตำรวจผู้ใหญ่ไม่ว่าระดับใด ที่ได้ บากหน้ามาติดต่อขอคำแนะนำหรือประสานงาน

หรือแม้กระทั่งบางคน ขอร้องให้ช่วยสั่งฟ้อง เพื่อจะได้ไม่ต้องมีปัญหาจากการปฏิบัติที่ทุจริตหรือผิดพลาด และแม้กระทั่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย!

อ้าง คติวิปริต ผิดถูกขอให้ไปว่ากันในชั้นศาลกันดีกว่า ซื้อเวลาต่อสู้คดีทั้งสามศาลไปได้หลายปี

รวมทั้งด้วยเหตุที่อัยการไทยมี ข้อจำกัดต่างๆ มากมายในการปฏิบัติงาน

ตั้งแต่การ ไม่มีโอกาสเห็นหรือรับรู้สัมผัสพยานหลักฐาน และแม้กระทั่งสถานที่เกิดเหตุ ในการค้นหาความจริงเพื่อความยุติธรรมอย่างรอบด้าน

จึงทำให้ อัยการไทยส่วนใหญ่ ต้อง หลับตาสั่งฟ้องคดีไป ตามที่ตำรวจสรุปสำนวนเสนอมา

ซึ่งไม่มีใครแน่ใจหรือรู้ว่า เป็นพยานหลักฐานจริงหรือเท็จ และรวบรวมเสนอมาครบถ้วนหรือไม่มากน้อยเพียงใด?

รวมทั้งไม่ต้องการให้ ผู้บัญชาการตำรวจภาคผู้สั่งการสอบสวนบางคดี”มีความเห็นแย้ง”เสนอให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้องหากอัยการจังหวัดจะมีคำสั่งไม่ฟ้องเพื่อรักษาความถูกต้องและความยุติธรรมตามกฎหมาย!

แต่เมื่ออัยการบางคนสั่งฟ้องกันมั่วๆ ไป แล้วในที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง ความเดือดร้อนเสียหายก็จะเกิดกับผู้ต้องหาที่ถูกแจ้งข้อหาโดยปราศจากพยานหลักฐานการกระทำผิดที่ชัดเจน

หรือแม้กระทั่ง เป็นผู้กระทำความผิดในข้อหาอื่นที่ร้ายแรงกว่าไม่ว่าจะเป็นเจตนาฆ่า หรือการประทุษร้ายลวนลามที่ส่งผลทำให้น้องแตงโมพลัดตกจากเรือไปและจมน้ำถึงแก่ความตาย!

ก็จะไม่มีใครสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตามข้อเท็จจริงเหล่านี้ที่เกิดขึ้นได้อีกต่อไป!

ส่วนกรณีที่มี ส.ส.คนหนึ่ง บอกเป็นนัยว่า จะเปิดเผย หลักฐานการกระทำผิดที่แท้จริงในสภา โดยยืนยันว่า

พฤติการณ์ที่ตายของน้องแตงโมไม่ได้เกิดจากความประมาทตามที่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหากันแต่อย่างใด!

ได้เปิดคลิปเมื่อไหร่ จะได้ตกตะลึงกันทั้งสภาและประเทศ!

รวมทั้งที่มีบางคนบอกว่า ได้มีการสร้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือแม้กระทั่ง มีการลักศพน้องแตงโม ออกจากสถานที่ราชการ

มาช่วยกัน สร้างหลักฐานใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการสอบสวน!

เป็นเรื่องชวนให้คนไทยทั้งประเทศสนใจและเฝ้าติดตามกันแทบไม่กะพริบตา

ปัญหาที่น่าคิดก็คือ หลายคนแม้กระทั่ง ส.ส. พบหลักฐานการกระทำผิดอาญา แต่ก็ไม่กล้าส่งให้ตำรวจ หรือ แม้แต่อัยการ ให้ดำเนินการตามกฎหมาย

เพราะกลัว ตำรวจผู้ใหญ่จะทำหาย!

หรือไม่ยอมรวมเข้าไว้ในสำนวนการสอบสวนและส่งให้อัยการอ่านหรือดู

ต้องใช้วิธี เก็บรักษาไว้เป็นความลับ รอจังหวะนำไปแสดงในสภา ต่อหน้า ส.ส. 500 คน รวมทั้งประชาชนที่ชมการถ่ายทอดการประชุมแทน

เป็น สภาวะล้มละลายในความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ชั้นสอบสวน

 สร้างความปั่นป่วนและความไม่สงบสุขอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน!.

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์  คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 9 พ.ค. 2565

About The Author