‘หมอกระต่าย’ และประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายกันมากมาย เพราะ ‘งานรักษากฎหมายไทยไร้ประสิทธิภาพ’
‘หมอกระต่าย’ และประชาชนต้องบาดเจ็บล้มตายกันมากมาย เพราะ ‘งานรักษากฎหมายไทยไร้ประสิทธิภาพ’
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
เหตุการณ์ที่ หมอกระต่าย ถูกตำรวจหนุ่มซิ่งรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ด้วยความคึกคะนอง ชนจนตายคาทางม้าลาย ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกเศร้าสลดปนความคับแค้นใจให้กับผู้คนทั้งประเทศเมื่อสองสัปดาห์ก่อน
ได้สะท้อนปัญหาการบริหารจัดการเมืองหลวงของประเทศไทยในด้านความปลอดภัยการจราจรอย่างมีนัยสำคัญ
อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันนอกจากปัญหาอาชญากรรมซึ่งเกิดขึ้นมากมายในทุกพื้นที่โดยไม่มีใครรู้จำนวนที่แท้จริง เนื่องจากพนักงานสอบสวนถูกผู้บังคับบัญชาสั่งไม่ให้รับคำร้องทุกข์จากประชาชนออกเลขคดีเข้าสารบบราชการกันง่ายๆ!
เพื่อจะได้ไม่ต้อง “รีบดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานตามกฎหมาย” ส่งให้พนักงานอัยการสั่งคดี “ฟ้องหรือไม่ฟ้อง” โดยเร็วแล้ว!
ความตายของประชาชนจากอุบัติเหตุจราจรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นอย่างมากมายโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคย่านชานเมือง ถือว่าร้ายแรงกว่ากรุงเทพมหานครอย่างมากอีกด้วย!
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจรของไทยได้คร่าชีวิตประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนยากจนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ไปแต่ละปีมากมาย เฉลี่ยกว่า 15,000 คน
ได้รับบาดเจ็บทั้งสาหัสและไม่สาหัสอีกเหลือคณานับ กว่าห้าแสน!
หลังเกิดเหตุสะเทือนใจ การแก้ปัญหาของรัฐบาลก็ทำกันแบบ ไฟไหม้ฟาง ไม่ต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยการที่ นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รองนายกฯ เรียกประชุมสั่งให้กรุงเทพมหานคร เทศบาลและกระทรวงมหาดไทยฝ่ายปกครองสำรวจทางม้าลายและทาสีตีเส้นให้เห็นชัดเจน
รวมทั้งกำชับให้ตำรวจบังคับใช้กฎหมายในการตรวจตราจับกุมผู้ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง
ขอเรียนว่า ปัญหาแท้จริง หาใช่เรื่องคนขับรถมองไม่เห็นทางข้ามแต่อย่างใด
แต่หากเป็นเพราะ คนไทยส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการชะลอความเร็วหรือหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายตามกฎหมายเช่นผู้คนในประเทศที่เจริญทั่วโลกต่างหาก!
และเมื่อการเดินข้ามถนน แม้กระทั่งหมอกระต่ายผู้ลงจากรถแท็กซี่แล้วใช้เวลายืนรอให้ถนนว่างโดยไม่เดินข้ามทางม้าลายตรงจุดนั้นทันที ยังถูกตำรวจขี่รถจักรยานยนต์ชนตายคาที่ได้!
ก็ไม่มีถนนและทางหลวงสายใดในประเทศไทยที่ประชาชนจะสามารถเดินได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะอยู่ริมทางหรือการข้ามถนนในจุดที่ไม่มีทางม้าลาย หรือแม้กระทั่งที่มีไว้ให้เห็นอย่างชัดเจนทั้งกลางวันและกลางคืนก็ตาม!
คนขับรถที่ชนคนบนทางม้าลาย ถ้าไม่สามารถมองเห็นว่าเป็นทางข้ามเนื่องจากเครื่องหมายไม่ชัดเจน ก็ต้องถือว่าเป็นความบกพร่องของหน่วยงานรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็น กทม.หรือเทศบาล ในการไม่ตรวจตราและดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดีที่คนขับรถจะสามารถเห็นได้ในระยะที่กำหนดเพื่อให้ผู้ขับรถสามารถชะลอความเร็วหรือหยุดได้ในกรณีที่มีคนจะข้ามหรือกำลังเดินอยู่
แต่ในข้อเท็จจริงคนส่วนใหญ่แม้เห็นว่าเป็นทางม้าลายก็มักไม่ได้ชะลอความเร็วตามกฎหมายโดยที่ไม่มีตำรวจคนใดดำเนินการจับกุมเหมือนประเทศที่เจริญแล้วต่างหาก
ซึ่งถ้าประเทศไทยมีระบบตำรวจที่ได้รับการปฏิรูปให้ทันสมัย ไม่ถูกผูกขาดรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ตำรวจแห่งชาติเพียงองค์กรเดียว ที่เต็มไปด้วยปัญหาสารพัด
ตั้งแต่การจัดโครงสร้างองค์กรแบบทหารที่มีหน่วยงานซ้ำซ้อนมากมาย มี สายการบังคับบัญชาที่ยืดยาวโดยไม่จำเป็น และเต็มไปด้วยปัญหาการ วิ่งเต้นหรือซื้อขายตำแหน่งแย่งกันไป เป็นหัวหน้าหน่วยหรือหัวหน้าสถานีเพื่อที่จะได้เลื่อนยศและมีโอกาสทุจริต รับส่วยสินบน จนแทบทุกคนถือกันว่าเป็นเรื่องธรรมดา!
ถ้าแค่รัฐบาลเริ่มปฏิรูปตำรวจด้วยการ “ตราพระราชกฤษฎีกาโอนตำรวจทางหลวง” ให้ไปอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของกรมทางหลวง ควบคุมให้ทำหน้าที่ตรวจตรารักษาสภาพทางให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ปล่อยให้มีรถบรรทุกหนักวิ่งกันจนถนนเสียหายหรือพังทลาย เครื่องหมายพื้นทางเสียหาย รวมทั้งมีป้ายหรือไฟผิดกฎหมายบ้าๆ บอๆ สารพัดติดตั้งอยู่ริมทาง ดูแลอุปกรณ์ความปลอดภัยแม้กระทั่งสายไฟไม่ให้ถูกลักขโมยไปจนส่องแสงสว่างกลางคืนไม่ได้
การขับรถของประชาชนก็จะไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นง่ายๆ ทำให้ผู้คนต้องถูกรถชนตายกันเป็นเบือปีละถึงหนึ่งหมื่นห้าพันเช่นทุกวันนี้อย่างแน่นอน
ผู้รู้และอาจารย์นักวิชาการคนไหนบอกว่า ปัญหาอยู่ที่ จิตสำนึกของประชาชน ทั้งคนขับรถและคนเดินถนน ต้องมีวินัยให้มากกว่านี้เหมือนที่ประเทศที่เจริญแล้วเขามีกัน ปัญหาอุบัติเหตุในประเทศไทยก็จะลดน้อยลง
คนเหล่านั้นควรจะ เลิกสอนหนังสือ หรือออกมา ให้ความเห็นโง่ๆ แบบนี้ได้แล้ว!
เพราะ จิตสำนึกเคารพกฎหมายของประชาชน จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้รักษากฎหมายไม่บังคับใช้อย่างจริงจังจนกระทั่งการปฏิบัติตามกฎหมาย กลายเป็นนิสัย ของคนส่วนใหญ่ โดยไม่ต้องมีใครมาคอยตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาซึ่งไม่สามารถทำได้อย่างแท้จริง
และที่สำคัญ จิตสำนึกเคารพกฎหมาย ต้องทำให้มีขึ้นในกลุ่มตำรวจทุกระดับ โดยเฉพาะตำรวจผู้ใหญ่ ให้ได้เสียก่อนเป็นเบื้องต้น
ตำรวจคนใดที่ฝ่าฝืนกฎหมายไม่ว่าในเรื่องใด รัฐและสังคมต้องถือว่า เป็นบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติ ในการเป็นตำรวจไม่ว่าระดับใดอีกต่อไป
ไม่ใช่บางคน “เคยเป็น” หรือแม้กระทั่ง “เป็น ผบ.ตร.” หรือ ผบช.อยู่ แต่ก็ไปร่วมวง “แก๊งซ่องโจร” เปลี่ยนความเร็วหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หวังช่วยให้บอสรอดคุกที่เป็นข่าวอื้อฉาว และ ป.ป.ช.ก็ยังไม่ชี้มูลอะไรออกมาเสียทีจนกระทั่งป่านนี้!
นอกจากนั้น ระบบงานตำรวจประเทศไทยในปัจจุบันที่แสนล้าหลัง เนื่องจาก การจัดโครงสร้างองค์กรที่ใหญ่โต และมีการปกครองตามชั้นยศและ วินัยที่ครอบจักรวาลแบบทหาร ไม่สอดคล้องกับบทบาทในการทำงานเป็นผู้รักษากฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระบวนการยุติธรรม ได้ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย
คนมีอำนาจหรือมีเงินในประเทศไทยส่วนใหญ่ ไม่กลัวกฎหมาย เพราะเชื่อว่า แทบทุกคดีเคลียร์ได้”
โดยเฉพาะการขับรถด้วยความประมาทชนรถหรือคนบาดเจ็บ ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรในสังคมไทย!
ถ้าเกิดเหตุใครขับชนรถจักรยานยนต์หรือชนคนยากจนบนถนนเปลี่ยวโดยเฉพาะยามค่ำคืนไม่มีใครเห็น หนีได้ เป็นหนี!
เพราะเชื่อว่า จะไม่มีตำรวจคนใดสนใจสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีคนจนอย่างจริงจังแต่อย่างใด!
หรือหากในที่สุดถูกสืบรู้ตัว ก็ยังสามารถ วิ่งเต้นเคลียร์กับตำรวจผู้ใหญ่ได้ หากมีเส้นสายเชื่อมโยงถึง
จ่ายเงินคนเจ็บให้เป็นที่พอใจ ก็ไม่ต้องถูกดำเนินคดีสรุปสำนวนเสนอให้อัยการสั่งฟ้องต่อศาลพิพากษาลงโทษแต่อย่างใด
หากรายใดถึงตาย ก็เพียงแต่จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น โดยที่คดีอาญาก็ยังสามารถจบได้ โดยทำให้คนตายเป็นฝ่ายขับรถประมาทหรือประมาทร่วม ก็ทำได้!.
ที่มา : นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ : ฉบับวันที่ 7 ก.พ. 2565