‘ผู้นำตำรวจชั่ว’ กับการย้ายตำรวจแบบทำลายชีวิต และครอบครัว!

ยุติธรรมวิวัฒน์

‘ผู้นำตำรวจชั่ว’กับการย้ายตำรวจแบบทำลายชีวิตและครอบครัว!

                                                                                    พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

          การออกคำสั่งเลื่อนตำแหน่งและแต่งตั้งโยกย้าย ตำรวจไทยผู้มียศแบบทหารตั้งแต่ชั้นนายพลไปจนถึงร้อยตำรวจตรี ประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งน่ามีรวมกว่าครึ่งหมื่นตำแหน่งที่เพิ่งผ่านพ้นไป

ท่ามกลาง การวิ่งเต้นหาเส้นสาย หรือแม้กระทั่งข่าวการซื้อขายต่อรองที่เกิดขึ้นอย่างชุลมุนวุ่นวาย ไม่ต่างจากทุกปีที่ผ่านมา!

ซ้ำยังได้ยินว่า “ราคาแพงหูฉี่” กว่าทุกปีอีกด้วย!

ใครคว้าตำแหน่งสำคัญที่หมายปองไปครองได้ ไม่ว่าจะ ด้วยเหตุที่เป็น “หน่อเนื้อเชื้อไขลูกหลานนักการเมืองหรือตำ รวจผู้ใหญ่” ที่ปูทางวางอนาคตอันสดใสไว้ให้

หรือแม้ไม่ใช่ แต่เป็นตำรวจที่ “ได้นำเสนอ” ให้เจ้านายผู้มีอำนาจเห็นว่า “เป็นพวกมีความสามารถ” เหมาะต่อการเลื่อนชั้นไปดำรงตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้

ก็จะพากันดีใจไปทั้งครอบครัว รวมถึงญาติสนิทและมิตรสหาย พากันมาห้อมล้อมและเลี้ยงฉลองตามไปส่งเป็นขบวนเพื่อรับตำแหน่งใหม่กันมากมาย

ส่วน คนที่อาวุโสทำงานมานานกว่า ซึ่งไม่ได้ตามหวัง เพราะยังถูกจัดเป็น “ผู้ไร้ความสามารถ”!

หรือ “รวบรวมเอกสารประกอบการแต่งตั้ง” ได้ไม่มากพอ!

ต่างก็เดินคอตกกะปลกกะเปลี้ย จิตใจและร่างกายอ่อน เพลียไร้เรี่ยวแรงทำงานการไปตามๆ กัน!

ได้แต่อดทนรอ “นั่งนับปี” เพื่อที่จะได้เข้าหลักเกณฑ์อาวุโส 33 เปอร์เซ็นต์ ทำให้มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นโน่นเป็นนี่

ซึ่งถ้าไม่ดิ้นรน ในที่สุดก็คงไม่พ้น “ฝ่ายอำนวยการ” ได้อีกหนึ่งชั้นยศก่อนเกษียณ”!

ยิ่งคนที่ไม่ได้ลุ้นไม่ได้หวังในการเลื่อนตำแหน่งอะไร ซ้ำ ยังถูกย้ายไปต่างหน่วย ต่างจังหวัดหรือต่างภูมิภาคโดยไม่สมัครใจ ทำให้จากลูกเมียและครอบครัวไปแสนไกล ต้องขับรถหรือนั่งเครื่องบินไปกลับทุกเดือนหรือทุกอาทิตย์

ชีวิตของตำรวจกลุ่มนี้แทบจะสิ้นหวัง!

และเห็นว่า ถ้ายังขืนรับราชการต่อไปอาจส่งผลทำให้ครอบครัวพังทลายลงด้วย

บางคนที่พอมีลู่ทางทำมาหากิน จึงได้ตัดสินใจยื่นใบ ลาออก

เข้าทางของผู้มีอำนาจทำให้มีโอกาสแต่งตั้งตำรวจผู้ที่อ้างว่ามีความรู้และความสามารถเพิ่มได้อีกหลายตำแหน่ง!

ถือเป็นระบบการแต่งตั้งตำรวจแบบ “อำมหิต” ที่ นายกรัฐมนตรีผู้มีหน้าที่กำกับควบคุมหน่วยตำรวจทั้งประเทศ ไม่เข้า ใจอย่างสิ้นเชิง!

เพราะมัวแต่หลงไปกับ คำเท็จของตำรวจผู้ใหญ่ ที่พูดบอกกรอกหูผ่านสื่ออยู่ทุกวันว่า

“เป็นตำรวจถูกแต่งตั้งให้ไปอยู่ที่ไหนหรือทำงานตำแหน่งใด ก็ต้องทำได้” ไม่ควรร้องเรียนหรือเอะอะโวยวายอะไรให้มากเรื่องมากความ

ซ้ำ “ตำรวจมือดำชั้นนายพล” หลายคนยังชอบพูดอีกว่า สมัยผมก็เคยโดนกลั่นแกล้งอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไรและไม่เคยโวยวายด้วย

ความคิดบ้องตื้น เช่นนี้ ถ้าเป็นกรณีการเลื่อนตำแหน่งหรือโยกย้ายตำรวจระดับผู้บังคับการขึ้นไปยศนายพล

ถือเป็นคนละเรื่องกับตำรวจระดับต่ำกว่าผู้กำกับลงมาที่ ปฏิบัติหน้าที่ประจำสถานีโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค อย่างสิ้นเชิง

เพราะตำรวจยศนายพลแต่ละคน นอกจากมีอัตราเงินเดือนสูงที่ต่างกับตำรวจผู้น้อยนับสิบเท่าแล้ว ยังมีรายได้ เฉพาะที่ชอบด้วยกฎหมาย จากหลายทาง รวมกว่าแสนบาท ด้วยกันทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 25,000 มีบ้านพักราชการ ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิงราชการ ค่าเบี้ยเลี้ยง และการเดินทางไปราชการ

ถ้าเป็นผู้บังคับการตำรวจจังหวัด ก็ยัง มั่วเป็นประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ จัดสรรค่าตอบแทนและโบนัสให้ตัวเองและกรรมการกัน ปีละหนึ่งถึงสองล้านบาทอีกด้วย!

และหากนับรวม “ส่วยสินบน” ที่พ่อค้าหัวหน้าสถานีและตำรวจหัวหน้างานผู้ผ่านมาประชุมและ ส่งซองให้ตัวเองหรือตำรวจหน้าห้องในแต่ละเดือน ก็ไม่รู้ว่ามีจำนวนรวมทั้งหมดเท่าไร?

นอกจากนั้น ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดไหน ตำรวจพวกนี้จะทำ เรื่องเดินทางไปราชการหรือนั่งเครื่องบินฟรีกลับกรุงเทพฯ อาทิตย์ละกี่เที่ยวก็ได้

ต่างจากตำรวจระดับต่ำกว่า ผกก.ลงมาที่ถูกย้ายไปนอกจังหวัดหรือภูมิภาคโดยไม่สมัครใจ ซึ่งสร้างปัญหาผู้ได้รับการแต่งตั้งที่เลวทรามเช่นนี้อย่างแสนสาหัส!

เช่น การย้าย พ.ต.ท.สุระศักดิ์ ปัตตานัง สว.กก.ส.ภ.จ. ฉะเชิงเทรา ไปเป็น สว.อก. สภ.ต.น้ำเพียงดิน จ.แม่ฮ่อนสอน โดยไม่ได้ร้องขอหรือสมัครใจอะไร

เป็นการย้ายจากพื้นที่ด้านใต้ไปทิศเหนือ ซ้ำยังออกนอกสายงานที่ปฏิบัติ

ซึ่งก็ไม่ทราบว่า สุดท้าย พ.ต.ท.สุระศักดิ์ จะตัดสินใจเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่หรือว่าตัดสินใจลาออกไปอีกราย?

นอกจากนั้นคนที่บอกว่า ถ้าใครคิดว่าไม่ได้รับความยุติ ธรรมก็สามารถร้องเรียนหรือร้องทุกข์ต่อ ก.ตร.ให้แก้ไขได้

แต่แท้จริง ก.ตร.แทบไม่ได้ช่วยตำรวจที่ถูกกลั่นแกล้งแต่งตั้งอย่างชั่วร้ายแบบนี้ได้เลย

เนื่องจากเมื่อยื่นหนังสือร้องไป อนุกรรมการ ก.ตร.ด้านการร้องทุกข์จะวินิจฉัยตามหลักเกณฑ์การแต่งตั้งที่ ก.ตร.กำหนดไว้

เช่น คุณสมบัติและระยะเวลาครองตำแหน่งเดิมครบตามที่กำหนดหรือไม่

ถ้าครบก็ถือว่าเป็นดุลยพินิจของผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ตอบมาว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและกฎ ก.ตร.ทุกประ การ ถ้าไม่เห็นด้วย หรือไม่พอใจ ก็สามารถไปใช้สิทธิฟ้องต่อศาลปกครองได้

แต่สุดท้ายก็ได้ผลไม่ต่างกัน เพราะศาลถือว่าเป็นดุลย พินิจของผู้บังคับบัญชาที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย

ซ้ำยังถูกผู้บังคับบัญชามองว่า เป็นตำรวจที่มีปัญหา อนาคตจะดับวูบลงยิ่งกว่าเดิมทันที

ฉะนั้น การแต่งตั้งตำรวจ รวมทั้งการโยกย้าย ไม่ว่าจะเต็มไปด้วยความชั่วร้ายมากเพียงใด ก็ไม่มีตำรวจคนใดคิดจะลุกขึ้นต่อสู้อย่างจริงจังแต่อย่างใด

บางคนจึงใช้วิธียื่นใบลาออก แล้วออกมาโพสต์ด่าระบายผ่านสื่อออนไลน์ว่า

ไม่รู้ว่าอาชีพ “ส้นตีน” อะไรกัน คนทำงานไม่เจริญ คนเจริญไม่ทำงาน!.

ย้ายตำรวจแบบทำลายชีวิต

เครดิตภาพ:เดลินิวส์

ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ :  ฉบับวันที่ 13 ธ.ค. 2564

About The Author