‘แต่งตั้งตำรวจ’ นายกฯ และ ผบ.ตร.จะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นไปอย่างยุติธรรม ไม่มีซื้อขายหรือใช้ทรัพย์สินแลกมา
‘แต่งตั้งตำรวจ’ นายกฯ และ ผบ.ตร.จะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นไปอย่างยุติธรรม ไม่มีซื้อขายหรือใช้ทรัพย์สินแลกมา
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ระยะนี้วงการตำรวจประเทศไทยในระดับ รอง ผบก.ลงไป แทบทุกลมหายใจไม่มีเรื่องใดคุยกันมากและติดปากเท่าเรื่อง“การแต่งตั้งโยกย้าย”
คำสั่งนี้ “ครบหลักเกณฑ์หรือยัง”“จะได้ขี้นใหม ที่ไหน?”
ถ้ายังไม่ครบหรือบอกว่าคงไม่ได้ คำถามต่อไปคือ “แล้วขอย้ายหรือไม่ จะไปไหน” ข้ามกองบัญชาการหรือไม่? ได้ตั๋วใครมาหรือยัง!วิ่งใคร? สายไหน? ชัวร์ใหม? ชนกับใครหรือไม่?มีค่าใช้จ่ายมากน้อยเท่าใด ฯลฯ !
ในแวดวงสื่อมวลชนและประชาชนคนไทยจะได้ยินกลุ่มนายตำรวจที่เรียกกันอย่างหรูหราว่า “ชั้นสัญญาบัตร”คุยกันด้วยคำพูดแบบนี้แทบจะทันทีที่พบหน้ากันโดยเฉพาะช่วงใกล้เวลาการแต่งตั้งมานานกว่ายี่สิบห้าปี!
ส่วนตำรวจกลุ่มที่ถูกเรียกกันอย่างเหยียดหยามว่า “ชั้นประทวน”
รวมทั้งชั้นสัญญาบัตรที่ไร้เส้นสายซึ่งส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาปริญญาสาขาต่างๆ จากมหาวิทยาลัยและไม่อยู่ในสังกัดคอกค่ายหรือเครือข่ายอุปถัมภ์ของผู้บังคับบัญชาที่มีอนาคตรวมทั้งสถาบันและรุ่น นรต.ที่เด่นดังต่างๆ
ก็ได้แต่ก้มหน้าทำงานตามที่ได้รับมอบหมายเพียงเพื่อให้ไม่เกิดข้อบกพร่องเป็นการ “ประคองตัว” พร้อมกับ“นั่งปลงและเฝ้ามอง” การแต่งตั้งในทุกวาระอยู่ห่างๆอย่างเงียบๆ!
ไม่กล้าคิด ไม่กล้าหวังกับใครว่าจะได้เลื่อนตำแหน่งแม้แต่ที่อยู่ตรงหน้าซึ่งตนทำงานเป็นรองหัวหน้าตำรวจ หรือ “พนักงานสอบสวนระดับต่างๆ” และรองสารวัตรในพื้นที่อำเภอและจังหวัดนั้นอย่างมานานนับสิบปี!
แค่ดิ้นรนขอย้ายไปอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อจะได้ทำงานที่ถนัดชำนาญ หรือเพียงเพื่อกลับบ้านซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมได้ดูแลพ่อแม่ที่แก่เฒ่า โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นโรงพักชั้นหนึ่งหรือไม่และตำแหน่งอะไร ก็ยังเป็นไปด้วยความลำบากยากเย็น แต่ละคนรอกันนานหลายปีหรือนับสิบปีก็มี!
ตำแหน่งหัวหน้าสถานีและหัวหน้าหน่วยตำรวจประเทศไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะโรงพักหรือหน่วยที่เรียกกันว่า “ชั้นหนึ่ง”
หรือที่ประชาชนและ “สื่อมวลชนผู้คุ้นเคยกับตำรวจผู้ใหญ่” เรียกกันติดปากว่า “ทำเลทอง”
ได้กลายเป็นทรัพย์สมบัติของตำรวจบางกลุ่มที่สามารถ “จับจองเป็นมรดก” ส่งทอดตำแหน่งกัน “จากรุ่นสู่รุ่น”ได้
สร้างความมั่งคั่งให้ตนเองและครอบครัวรวมทั้งผู้บังคับบัญชาผู้แต่งตั้งตลอดมา
รวมทั้ง “ผู้มีอิทธิพลที่อยู่เบื้องหลัง”ทั้งหญิงชายโดยไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับตำรวจและประชาชนเคยทำงานในหน่วยตำรวจหรือสถานีนั้นกันมาก่อนเลยแต่อย่างใด
เป็นการแต่งตั้งที่ทำลายขวัญและกำลังใจของตำรวจส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมลงอย่างย่อยยับตลอดมา!
และนับแต่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก้าวเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นช่วงที่มาจากการปฏิวัติยึดอำนาจรวมทั้งหลังการเลือกตั้งถึงปัจจุบันก็รวมกว่า ๘ ปี
ก็ยังไม่เคยมีใครได้ยินการพูดจาว่า ท่านจะแก้ปัญหาการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งและโยกย้ายให้เกิดความเป็นธรรมต่อตำรวจส่วนใหญ่ที่ไร้เส้นสายสร้างขวัญและกำลังใจให้พวกเขาโดยไม่ต้อง “พร่ำ” แต่เรื่องการเพิ่มเงินเดือนและค่าตอบแทนสารพัดแต่อย่างไร?
ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร.ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีวาระเพื่อทราบการไล่ตำรวจผู้น้อยที่เรียกกันว่า “ชั้นประทวน” ออกจากราชการ เดือนละเท่านั้นเท่านี้คน
ที่ถือกันว่า เป็นผลงานการบริหารสำคัญของนายกรัฐมนตรีเรื่องหนึ่งนั้น!
แท้จริง ตำรวจที่ถูกไล่ออกหรือปลดออกเหล่านี้ล้วนเพราะได้มีการกระทำผิดอาญาในเรื่องต่างๆ จนศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ผู้บังคับบัญชาหมดปัญญาที่จะปกป้องหรือดำเนินการเป็นอื่นได้แล้วแทบทั้งสิ้น!
หรือไม่ก็เป็นพวกตำรวจจบใหม่ที่เบื่อหน่ายการบริหารที่“ไร้ความเป็นธรรม”และทำให้พวกเขาอยู่ในสภาพ “ไร้อนาคต”ได้ละทิ้งหน้าที่ราชการเกินกว่าสิบห้าวันกันเป็นส่วนใหญ่
ส่วนพวก “ทุจริตต่อหน้าที่” อย่างเป็นระบบ เช่น “เดินเก็บส่วย” ไปส่งให้เจ้านายหลายระดับเป็นรายเดือน หรืออย่างนายพลตำรวจที่ใช้เครื่องบินตำรวจขนเหล้าเถื่อน ประชาชนยังไม่เคยเห็นเป็นสถิติว่ามีใครถูกไล่ออกปลดออกเลยแม้แต่คนเดียว!
สำหรับปัญหาเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไร้ความเป็นธรรมประชาชนก็ได้ยินแต่คำพูดของนายกฯ แบบแผ่นเสียงตกร่องแทบทุกปีว่า “ห้ามมิให้มีการซื้อขายตำแหน่งอย่างเด็ดขาด”
แต่ในความเป็นจริง ตราบใดที่ตำรวจแห่งชาติยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งที่ “ชัดเจนและเป็นธรรม” สำหรับตำรวจทุกคนในทุกระดับที่มีคุณสมบัติครบเวลาดำรงตำแหน่ง
การวิ่งเต้น รวมไปถึงการซื้อขาย จ่ายเงินหรือทรัพย์สินเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งในกลุ่มที่ผู้บังคับบัญชา “อ้างมั่วๆ” ว่าเป็นพวกมีความรู้ความสามารถ ๖๗ เปอร์เซ็นต์ ก็ยังคง “เป็นไปอย่างเลวร้าย” เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง!
การวิ่งเต้น รวมไปถึงการซื้อขาย ใช้เงินและทรัพย์สินต่างๆ เพื่อให้ได้ตำแหน่งมา
หรือแม้กระทั่งว่า เพื่อให้อยู่ต่อในตำแหน่งเดิมที่ถือว่าเป็น “ทำเลทอง” คือหน่วยตำรวจหรือสถานีมีช่องทาง “เก็บส่วย รับสินบน” จากผู้กระทำผิดกฎหมายสารพัดรูปแบบมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเถื่อนหรือผิดกฎหมาย บ่อนการพนันทั้งออฟไลน์และออนไลน์ แหล่งอบายมุขและผู้ประกอบการรถบรรทุกที่แทบทุกคนต้อง “จ่ายส่วย” และกำลังรวมตัวกันนัดหยุดวิ่งเพื่อประท้วงเรื่องน้ำมันแพง คนต่างด้าวหนีเข้าเมือง ฯลฯ
ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งตำรวจระดับ รอง ผบก.และ ผกก. ที่ทุก บช.ต้องส่งบัญชีให้ ผบ.ตร. ตรวจพิจารณาว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และมีความเป็นธรรมต่อตำรวจส่วนใหญ่หรือไม่ในวาระที่กำลังดำเนินการนั้น
บางตำแหน่งที่เสนอ แค่ ผบ.ตร.ถามผู้บัญชาการที่มาชี้แจงว่า ตำรวจคนที่เสนอแต่งตั้งให้เป็น รอง ผบก.หรือ ผกก.สถานี คนนั้นคนนี้มีอาวุโสเป็นลำดับที่เท่าใด?
และ “เหตุใดจึงไม่แต่งตั้งผู้มีอาวุโสสูงกว่าแม้กระทั่งในสายงานเดียวกันที่อยู่ในจังหวัดหรือแม้แต่สถานีนั้น”
ถ้าเขาตอบหรืออธิบายได้ว่า “ตำรวจในหน่วยหรือจังหวัดง่อยเปลี้ยเสียขา หรือเห็นว่าไม่มีสติปัญญาในการเป็นหัวหน้าหน่วยหัวหน้าสถานีแทบทุกคน”ทำให้ไม่สามารถแต่งตั้งใครดำรงตำแหน่งได้ เกรงว่าจะเกิดความเสียหายต่อชาติและประชาชน จำเป็นต้องแต่งตั้งตำรวจนอกจังหวัดหรือแม้กระทั่งนอกกองบัญชาการแทน
ถ้า ผบช.ตอบเช่นนี้ ตำรวจทุกคนแม้กระทั่งประชาชน ก็คงต้องยอมรับได้
ไม่มีใครคิดหรือติดใจว่า มีการวิ่งเต้น หรือจ่ายเงินและทรัพย์สินเพื่อการแต่งตั้งให้มาอยู่ในหน่วยหรือจังหวัดนั้นกันแต่อย่างใด
ทั้งนายกรัฐมนตรีและ ผบ.ตร. ก็ไม่ต้องพูดแบบแผ่นเสียงตกร่องเป็นครั้งที่ห้าร้อยว่า “อย่าให้มีการซื้อขายตำแหน่งตำรวจอย่างเด็ดขาด”ต่อไป!
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 1 พ.ย. 2564