อัยการสระบุรีตรวจที่เกิดเหตุบันทึกพยานหลักฐาน ‘โลกทัศน์ใหม่อัยการไทย’ ทุกจังหวัดทำได้ใน’คดีสำคัญ’

ยุติธรรมวิวัฒน์

อัยการสระบุรีตรวจที่เกิดเหตุบันทึกพยานหลักฐาน“โลกทัศน์ใหม่อัยการไทย”ทุกจังหวัดทำได้ใน“คดีสำคัญ”

 

                                                              พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร

สถานการณ์ทั้งการเมือง เศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งความยุติธรรมของประเทศไทยในวันนี้

คนที่บอกว่าเรายังดีกว่าอีกหลายประเทศมากมาย ก็ล้วนแต่เป็น คนส่วนน้อยที่ได้เปรียบในสังคมแทบทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น นักการเมืองฝ่ายรัฐบาล “นายพลตำรวจและทหารที่ทุจริตฉ้อฉล” รวมทั้งคนร่ำรวยหรือมีอำนาจในระบบราชการ

ในขณะที่คนส่วนใหญ่ที่ยากจน  โดยเฉพาะหนุ่มสาวและเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่างรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาพสังคมไทยที่ “ไร้อนาคต” 

ซ้ำยังถูกผู้มีอำนาจฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงใหญ่เอาไว้ 

ไม่ยอมปรับตัวหรือปฏิรูปประเทศอะไรให้เกิดประสิทธิภาพและความยุติธรรมสอดคล้องกับสังคมโลกที่เจริญก้าวหน้า ผู้คนโหยหา “สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค” รวมทั้ง “อำนาจการปกครองตนเอง” มากขึ้นทุกวัน

ความขัดแย้งและความคุกรุ่นรุนแรงในจิตใจจึงแฝงเร้นอยู่ทั่วไป

โดยส่วนหนึ่งได้แสดงออกด้วยการรวมตัวชุมนุมของหนุ่มสาววัยรุ่นที่เป็นคนยากจนตามท้องถนน รวมทั้งผ่านสื่อออนไลน์ทั้งถูกและผิดกฎหมายในสารพัดรูปแบบ

สะสมพลัง รอวันปะทุ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด และนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตเลือดเนื้อของพี่น้องไทยอีกมากน้อยเท่าใด?

เรื่องหนึ่งซึ่งคนมีอำนาจส่วนใหญ่ในสังคมไทยมักมองไม่เห็นว่าเป็นปัญหาสำหรับตนเองและครอบครัวที่ต้องแก้ไขหรือปฏิรูปอะไรก็คือ ความยุติธรรมทางอาญา

ปัจจุบันประชาชนคนยากจนหรือผู้คนในประเทศไทยที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ได้ถูกตำรวจออก “หมายเรียกเป็นผู้ต้องหา” หรือ “ศาลออกหมายจับ” กันแสนง่ายด้วยข้อหาสารพัดทั้งหญิงชายถูกตำรวจไล่ตะครุบตัวกันตามถนนหนทางอย่างไม่รู้ตัวมากมาย!

ไม่ว่าบุคคลนั้นจะได้กระทำผิดจริงตามที่มีผู้กล่าวหามีหลักฐานที่ชัดเจนแน่นหนาสามารถแสดงต่อศาลให้พิพากษาลงโทษได้หรือไม่ก็ตาม?

อัยการไทยส่วนใหญ่ เมื่อได้รับสำนวนการสอบสวนจากตำรวจก็มักจะ สั่งฟ้อง ตามน้ำ ตามแบบแผนที่เคยปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นหลัก!

เนื่องจากถือว่า ในชั้นนี้ไม่ใช่หน้าที่ในการค้นหาหรือพิสูจน์ความจริงอะไรในชั้นอัยการ?

การสั่งไม่ฟ้องกลับกลายเป็นเรื่องที่ต้องคิดมากและตัดสินใจยากกว่าการสั่งฟ้อง!

เนื่องจาก ป.วิ อาญา บัญญัติว่าต้องส่งสำนวนให้ ผบ.ตร พิจารณาว่าจะแย้งหรือไม่สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร

และส่วนภูมิภาค ซึ่งอัยการเคยเสนอให้ผู้ว่าฯ ตรวจสอบและอธิบายกันง่ายๆ ในจังหวัดถือปฏิบัติกันมาเกือบร้อยปี

ก็ถูก คำสั่งเผด็จการ คสช.ที่ 115/57 แก้ไขในเวลาชั่วข้ามคืนให้เป็นอำนาจของกองบัญชาการตำรวจภาค ซึ่งรัฐจัดตั้งขึ้นมากมายโดยไม่จำเป็น

และ ผบช.ก็ จ้องจะแย้ง โดยหวัง สร้างสถิติผลงาน  การเสนออัยการสูงสุดวินิจฉัยให้มากกว่าการปฏิบัติของผู้ว่าราชการจังหวัด

ถือเป็นความคิดที่สุดวิปริต!

ซ้ำเมื่อบางคดีแย้งไม่ได้ ก็ยังพยายาม ตะแบง เสนอให้อสส. สั่งสอบเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีอยู่ใน ป.วิ อาญา มาตราใด ให้มีอำนาจเสนอบ้าๆ บอๆ เช่นนั้นกันแต่อย่างใด!

ปัจจุบันผู้ถูกดำเนินคดีอาญาประเทศไทย แม้ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอในการฟ้องต่อศาลให้พิพากษาลงโทษได้ จึงไม่จบลงง่ายๆ ในชั้นการสอบสวน!

และอาจกล่าวได้ว่า กว่าร้อยละ 95 จะถูกอัยการสั่งฟ้อง  เนื่องจากไม่ต้องการให้ตำรวจภาคทำความเห็นแย้งเสนอให้ อสส.พิจารณาดังที่กล่าวมา

ปัญหาคือ เหตุใดในการค้นหาความจริงเกี่ยวกับความผิดอาญา จึงไม่ได้กระทำให้ “สิ้นกระแสความ” ด้วยความรวดเร็วเพื่อให้เกิดความยุติธรรมเสียในชั้นสอบสวนทั้งของตำรวจและอัยการ?

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ได้มีการบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาขึ้นตามหลักคิดของกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ในปี 2478

มี มาตรา 227 เป็นหลักให้ศาลยึดถือในการพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยว่า

“ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น

เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย”

เป็น “หมุดหมาย” ที่สังคมปักไว้ ให้ศาลทุกชั้นยึดถือกันในการพิพากษาลงโทษจำเลยทุกคนในทุกคดี

แต่ปัญหาใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมอาญาไทยก็คือเมื่ออัยการอ่าน การสอบสวนส่วนใหญ่จบแล้ว ก็ไม่มั่นใจว่า ผู้ต้องหาได้กระทำความผิดตามที่มีการกล่าวหาหรือไม่?

หรือแม้แต่การกระทำผิดอาญาได้เกิดขึ้นจริง!

เช่น คดีลุงพล มีใครยืนยันได้หรือไม่ว่า ความตายของน้องชมพู่เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญา น้องไม่สามารถเดินพลัดขึ้นไปเองจนเสียชีวิตบนภูหินเหล็กไฟนั้นได้อย่างแน่แท้

แต่อัยการก็ได้สั่งฟ้องลุงพลต่อศาลในคดีนี้! 

โดยไม่ได้มีการอธิบายให้ผู้คนส่วนใหญ่ได้ทราบและเข้าใจว่า การสอบสวนมีพยานหลักฐานอะไรยืนยันการกระทำผิดของลุงพลตามที่มีการกล่าวหาว่าเป็นผู้ฆ่า! และมีเหตุจูงใจเพื่ออะไร? สมเหตุสมผลวิญญูชนรับฟังได้หรือไม่?

การ ได้เห็นที่เกิดเหตุ จึงนับว่ามีความสำคัญในการสั่งคดี ฟ้อง หรือ ไม่ฟ้อง ของอัยการเป็นอย่างมาก

สอดคล้องกับคติไทยโบราณ สิบปากว่าไม่เท่าหนึ่งตาเห็น

โดยอัยการทั่วโลก แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน อัยการก็ล้วนมีอำนาจเข้าตรวจที่เกิดเหตุและสั่งคดีเมื่อมีการกระทำอาญาสำคัญเกิดขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น

ปัญหาอัยการสั่งฟ้องแล้วศาลพิพากษายกฟ้องในทุกประเทศจึงเกิดขึ้นน้อยมาก

ต่างไปจากอัยการไทย ที่ศาลยกฟ้องประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับคดีที่จำเลยปฏิเสธ สร้างความเดือดร้อนทั้งต่อผู้ต้องหาและผู้เสียหายเจ็บช้ำน้ำใจกันมากมาย เหลือคณานับ!

ฉะนั้น การที่ นางจตุพร  อาจคงหาญ อัยการจังหวัดสระบุรี และคณะ ได้ไปตรวจที่เกิดเหตุคดีพ่อเลี้ยงฆ่าลูกเลี้ยงในอำเภอหนองแค โดยนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุมแนะนำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

จึงถือได้ว่าเป็น ความกล้าหาญ และ มิติใหม่ ของอัยการไทยที่สามารถทำได้ในลักษณะของ “ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการค้นหาความจริง” เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตามอำนาจหน้าที่ของทุกฝ่าย

โดยไม่จำเป็นต้องรอการแก้ไข ป.วิ อาญา ที่ให้อัยการมีอำนาจ “ตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญหรือเมื่อมีการร้องเรียน” ซึ่งค้างคาอยู่ในสภา จนกระทั่งป่านนี้แต่อย่างใด?

และยิ่งถ้า อัยการสูงสุด หรือแม้แต่ อธิบดีอัยการผู้รักความยุติธรรมทุกภาค จะออกหนังสือเวียนแจ้งให้อัยการจังหวัดในสังกัดถือเป็นแนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับอัยการจังหวัดสระบุรี

แทนการปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยเพียง จินตนาการ ผ่านการอ่านสำนวน หรือแม้กระทั่ง นิยายสอบสวน แล้ว สั่งคดีฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี เช่นที่ผ่านมา

ก็จะเป็นการช่วยลดความเดือดร้อนของประชาชนจากระบบงานสอบสวนที่มีปัญหา รวมทั้งเป็นการพัฒนากระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่ล้าหลังของชาติได้อย่างมาก.

 อัยการสระบุรี

About The Author