รากเหง้าวิกฤติกระบวนการยุติธรรม มีสาเหตุจากการเรียนการสอนวิชากฎหมายจริงหรือ?
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2564 สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.)ได้จัดเสวนาออนไลน์ เพื่อระดมความคิดผ่านระบบ Zoom ครั้งที่ 1 ในหัวข้อเรื่อง “รากเหง้าวิกฤติกระบวนการยุติธรรม มีสาเหตุจากการเรียนการสอนวิชากฎหมายหรือไม่?” โดยการเสวนาครั้งนี้มีคณบดีคณะนิติศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย รวมถึงบุคลากรด้านกฎหมายเข้าร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และประธานสป.ยธ. สัณหวรรณ ศรีสด ที่ปรึกษากฎหมายคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ผศ.ดร.ธานี วรภัทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีศาลแขวง จ.สุพรรณบุรี และผอ.สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนฯ สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ และเลขาธิการสป.ยธ. ผศ.กิตติบดี ใยพลู คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อ.ขรรค์เพชร ชายทวีป คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผศ.สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผศ.ดร.กิตติ ชยางคกูล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ธีทัต ชวิศจินดา คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) อ.ณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ดำเนินรายการโดย บัณฑิต ลุนทา ผู้จัดรายการไทยพีบีเอส
การเสวนาครั้งนี้เปิดเวทีคำถามไปยังแกนนำคนสำคัญจาก iLaw ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับนิติปรัชญาของนักศึกษากฎหมายว่าการเรียนกฎหมายแบบที่เราเรียนจนมาถึงปัจจุบัน มันเป็นต้นธารในการสร้างปัญหาหรือไม่ ซึ่งยิ่งชีพให้ความคิดเห็นไว้ว่า อำนาจทางการเมืองได้มีอิทธิพลกับกำหมาย ทำให้เราได้เห็นปรากฏการณ์เช่นปัจจุบัน แต่ในปัจจุบันหลายมหาวิทยาลัยที่พยายามมปรับหลักสูตรให้เข้ากับยุคสมัย มีการเรียนนอกห้องเรียน การลงพื้นที่ รวมถึงองค์ความรู้ที่มีช่องทางการสื่อสารที่หลากหลาย ในขณะระหว่างที่เราเรียนกฎหมายเราตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมน้อยมาก แต่เราจำตำราเยอะมาก คนที่ใช้กฎหมายเป็นอย่างไร และไม่ค่อยถามว่าคนที่ถูกบังคับใช้กฎหมายเขามีความรู้สึก ความเห็นเป็นเช่นไร มันยุติธรรมจริงหรือไม่
ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง ได้เห็นว่าจากการเรียนการสอนของหลากหลายมหาวิทยาลัยนั้น วิชาชีพกฎหมายนั้นถือว่าเป็น Conservative ที่สุด มหาวิทยาลัยไม่ควรตั้งเป้าหมายว่าตลาดวิชากฎหมายควรมีอะไร แต่ควรตั้งคำถามว่าตลาดวิชากฎหมายต้องการอะไร เพื่อเป็นผู้นำตลาดได้ ปัจจุบัน Positive Law (สำนักกฎหมายบ้านเมืองหรือปฏิธานนิยม) ใช้ hard skill แต่ละเลยที่จะใช้ soft skill จนลืมความเห็นอกเห็นใจหรือ Empathy
นอกจากนี้ ดร.น้ำแท้ ยังวิพากษ์วิจารณ์การเรียนการสอนวิชากฎหมายว่าต้องการความหลากหลายจากประสบการณ์ตรงของผู้สอน แต่ด้วยความเป็นนักวิชาการทำให้ผู้สอนกฎหมายไม่มีประสบการณ์ตรงจึงพยายามจะ outsource บุคคลภายนอกมาบรรยาย ซึ่งปัญหาที่พบก็คือการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากตำแหน่ง โดยไม่ได้วิเคราะห์สายอาชีพ บางคนตำแหน่งสูงเพราะมีความอาวุโส สุดท้ายก็ได้ทั้งคนที่ไม่มีองค์ความรู้และประสบการณ์มาบรรยาย ปัญหาอีกอย่างในสายปฏิบัติ ถ้าเป็นสายปฏิบัติ ก็จะขาดองค์ความรู้รากฐานปรัชญา ทฤษฎี วิธีคิดจากต่างประเทศ สุดท้ายการเรียนกฎหมาย เราก็ไม่ได้ถึงพร้อมทั้งประสบการณ์ ทฤษฎี วิชาการ มันจึงไม่ตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัย ประเด็นต่อมา อาจารย์ที่มาสอนมักจะสร้างภาพสวยหรู ก็ไม่ได้พูดความจริง ว่าทางปฏิบัติมันมีความเหลวแหลกอย่างไร เด็ก ๆ มหาวิทยาลัย ควรจะมี soft skill เพราะฉะนั้นควรจะให้ผู้ที่ถูกกระทำ จำเลย มาเป็นกรณีศึกษาให้นักศึกษาได้เห็นรูรั่วทางกฎหมายให้เห็นรูรั่วทางกฎหมาย
สายวิชาชีพกฎหมายไม่ได้มีวัตถุประสงค์ตรงกันคือสร้างความเป็นธรรม พอเราไปสร้างบางสายวิชาชีพบางคนว่าโจรแท้ ๆ เราไปหาช่องในการช่วยให้โจรหลุดจากเงื้อมมือของกฎหมาย มันเป็นธรรมไหมยิ่งท่านผลิตนกแก้วนกขุนทองมากเท่าไหร่ เรายิ่งสร้างความเสียหายให้สังคมมากเท่านั้น ก่อให้เกิดการทำงานของสายกฎหมายที่ไม่ได้ใช้กฎหมายหรือร่างกฎหมาย ที่ไม่คำนึงถึงหลักการสากล มนุษยธรรม หรือ หลักการวิชาการ
ด้าน ผศ.กิตติบดี ใยพูล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้ความคิดเห็นว่า ควรคำนึงถึงการทำให้กระบวนการเรียนรู้สร้าง Future Citizen ที่ปรับตัวเข้ากับยุคดิจิตอลได้ และมองถึงสาเหตุรากเหง้าของปัญหา ซึ่งหากตอบเชิงปรัชญาอาจจะมาจากมนุษย์ เพราะมนุษย์มีความขัดแย้งเสมอ แต่ถ้าพูดถึงวิกฤติของกระบวนยุติธรรม อาจจะมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างสังคม ค่านิยมของคนไทย ถ้ามองปัญหาที่เกิดขึ้นจากการศึกษา จำเป็นต้องสะท้อนหลักสูตร ความเชื่อ และปรัชญาของคณะนิติศาสตร์
สาเหตุหรือรากเหง้าของปัญหามันอยู่ตรงไหน ถ้าตอบจากปรัชญาจริง ๆ อาจจะมาจากมนุษย์ก็ได้ เพราะมนุษย์มันมีความขัดแย้งต่าง ๆ นานา วิชานิติปรัชญา เป็นวิชาคิดเฉพาะนักกฎหมาย ที่นำเสนอสำนักคิดที่มาสนับสนุนวิชากฎหมาย ซึ่งการเรียนกฎหมายในยุคที่ผ่านมา เรามองในมุมของตัวกฎหมาย เอากฎหมายไปมองผู้คนและสังคม แต่ปัจจุบันเราต้องปรับเอาสายตาของผู้คนและสายตาของสังคมมองมาที่ตัวบทกฎหมาย เพื่อเข้าใจในเชิงมานุษยวิทยา และสังคมวิทยา คนในกระบวนการยุติธรรมเขาอาจจะไม่ได้คิดว่าเขาไปสร้างปัญหาให้กับสังคม เพราะเขาคิดว่าเขาทำงานและพิจารณาตามกฎหมาย เพราะ approach มุมมองของกฎหมาย แต่เราจะสร้างคนในศตวรรษที่ 21 อย่างไร เราต้องตั้งคำถามกับการศึกษานิติศาสตร์ว่าแต่เดิมเราใช้กฎหมายนำ วิธีการนี้มันยังมีความจำเป็นหรือไม่ แค่ไหน อย่างไร
ผศ.ดร.กิตติ ชยางคกูล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นว่า การสร้างกฎหมายมาใช้ในสังคมโดยระบบกฎหมายอย่างเดียวไม่เพียงพอ เราต้องสร้างคนที่สามรถนำกฎหมายไปใช้ได้จริง การจะเรียนกฎหมายให้ประสบความสำเร็จ การรับฟัง การมีส่วนร่วมของภาคปฏิบัติ จึงเป็นส่วนจำเป็น
ผศ.ดร.กิตติ ยังสนับสนุนแนวคิดการเรียนการสอนกฎหมายโดยการเชิญเหยื่อและผู้ดำเนินงานด้านกฎหมายเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนการสอน รวมถึงภาคประชาสังคมที่เข้ามามีส่วนในการวิเคราะห์เพื่อสะท้อนว่าการปรับใช้กฎหมายในสังคมในประเด็นต่าง ๆ นั้นสอดพ้องกับวิถีผู้คนหรือไม่ ซึ่งในบางประเด็นนักกฎหมายเองอาจจะมองไม่เห็นเวลาที่ปรับใช้กฎหมายหลายตัวในข้อเท็จจริงเดียวกัน และต้องเข้าใจบริบทสังคมที่เขานำไปปรับใช้ด้วย เพราะฉะนั้นบทบาทของภาคประชาสังคมก็เป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งหนึ่งที่ทำให้เด็กเข้าใจการปรับใช้กฎหมายได้ดีขึ้น และได้ยกตัวอย่างการเรียนกฎหมายที่สวีเดน ที่น่าสนใจ คือการมีส่วนร่วม คือ การเข้ามาร่วมและมานั่งเรียน และแยกห้องย่อย และนำมาถกเถียงเพื่อเกิดการระดมความคิด รวมถึงเป็นการประมวลผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายวิชา
อ.ณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช จากคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ได้ให้ความเห็นว่า การสอนกฎหมายเก่า ๆ ก็เป็นการสอนแบบนกแก้วนกขุนทอง ไม่ได้เรียนบทผลที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย มันทำให้เกิดความคับแคบของผู้เรียน ปกติการใช้กฎหมายบางประเด็นมีหลายเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้อง บางกรณี ที่มีการทรมานผู้ปัญหา ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องใช้หลักการสากลของกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาร่วมพิจารณา มันก็เกิดมุมมองว่าการนำมาใช้ของไทย มันมีความสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ส่วนใหญ่เราได้ตระหนักถึงจุดนี้ไหมอีกปัญหาหนึ่งของไทย คือ ใช้คะแนนสอบมาเป็นตัวกำหนดการศึกษา นิสิต นักศึกษา เน้นการคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปใช้กับข้อเท็จจริง จนขาดทักษะในการคิดสร้างสรรค์ การตั้งคำถามใหม่ ๆ
ณัฐวัฒน์ ยังชี้อีกว่า นักนิติศาสตร์จะมองเฉพาะมุมมองเชิงกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรับฟังจากศาสตร์อื่น ไม่ว่าจะเป็นสายรัฐศาสตร์ สังคมและมานุษยวิทยา แพทย์ หรืออื่น ๆ เพราะจริยธรรมมันแทรกอยู่ในทุกศาสตร์ สุดท้ายจริยธรรมมันก็มีจุดกำเนิดมาจากปรัชญา
สัณหวรรณ ศรีสด (ICJ) ได้เสนอแนวความคิดว่าจากการเรียนกฎหมายทั้งในไทยและต่างประเทศ ประเด็นที่เป็นปัญหา คือ กฎหมายระหว่างประเทศที่เรียนไม่ค่อยได้ใช้ แต่กฎหมายสิทธิมนุษยชนที่ไม่ได้เรียน แต่จำเป็นต้องใช้ ตอนเรียนไม่ค่อยเห็นความเชื่อมโยงของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทยมันสอดพ้องกันมากขนาดไหน แต่พอมาดูจริง ๆ กฎหมายไทยได้รับในส่วนของอำนาจมาใช้ นำมาจุดประกาย แต่กลับไม่ได้รับส่วนที่เป็นการคุ้มครองมาด้วย นอกจากนี้กฎหมายระหว่างประเทศมีการพัฒนาฎีกาอยู่ตลอด ถ้าเป็นการร่างกฎหมายระหว่างประเทศ การตีความของเขามีการเปิดกว้างให้ทุก ๆ กลุ่ม เพื่อสะท้อนและพัฒนากฎหมาย การมองกฎหมายเหล่านี้ของประชาคมโลกจึงก้าวไกล
สัณหวรรณ ได้สะท้อนในส่วนของมหาวิทยาลัยไทยว่าหลาย ๆ สถาบันในปัจจุบันมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาข้อนี้ เช่น ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการสร้างกลุ่มที่เกี่ยวข้อง human right แบบต่างประเทศ เพื่อให้นักศึกษาได้มีการถกเถียงเรียนรู้และเกิดการพัฒนา
ดร.ธานี วรภัทร์ คณะนิติศาสตร์ ม.รังสิต ได้สะท้อนว่า การเรียนการสอนในหลักสูตรปริญญาตรี เราถูกควบคุมโดยเนติบัณฑิต และสภาทนายต้องมาตรวจ ซึ่งเป็นสายวิชาชีพ กฎหมายมันเป็นวิชาชีพจริงแต่มันต่างจากบัญชีหรือวิชาชีพอื่น ๆ ซึ่งมันเป็นปัญหาเพราะหลักสูตรจะต้องให้ความคาดหวังต่อนักศึกษา คนที่มาเรียนตั้งหวังว่าพอเรียนจบต้องไปเป็นอัยการ ผู้พิพากษาถึงจะสำเร็จในวิชาชีพ และถ้าคณะของมหาวิทยาลัยสอบตำแหน่งนี้ได้เยอะ ก็จะทำให้มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง การสร้างนักกฎหมายในอุดมคติเพื่อตอบโจทย์สังคมจึงถูกครอบด้วยระบบคิดเช่นนี้
ตอนนี้ที่รังสิตเราก็พยายามจะพานักศึกษาไปคุก ไปเรียนรู้ว่าความผิดพลาดจากกระบวนการยุติธรรมที่เขาเจอ มันเป็นอย่างไร ในส่วนของการแก้ไขอาจารย์เสนอว่า การออกข้อสอบกฎหมาย ถ้าไม่มีธงจะดีมาก เพราะมันต้องสอนให้ใช้เหตุผลและเอากฎหมายไป apply
ดร.ธีทัต ชวิศจินดา (นิด้า) ได้นำเสนอว่า การตอบโจทย์คำถามว่าการเรียนการสอนมันเป็นปัญหาหรือเปล่า มันก็เป็นปัจจัยที่เกี่ยวพันกัน วิธีการสอนที่ไม่ดีก็เป็นส่วนหนึ่ง “ผมจะเสริมประเด็นของนิด้า ตอนตั้งคณะขึ้นมา ปรัชญาของนิติศาสตร์นิด้า เราจะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของการพัฒนา การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการพัฒนา หลังจากเรียนจบกลับมา วิธีคิดของนักศึกษา ความต้องการของตลาด ปรัชญา มันไม่เชื่อมต่อกัน มันทำให้ไม่ได้เกิดภาพของตัวปรัชญาจริง ความท้าทายของการเรียนการสอน อันที่สอง การวิจัยการเรียนนิติศาสตร์ อาจจะมีวิธีการที่เก่า เห็นคนไม่เห็นความ บางครั้งเราฝึกให้นักกฎหมายเห็นตัวบทกฎหมาย แต่ไม่เห็นคน ส่วนอันที่สามก็คือวิธีวิจัย เวลาที่ต้องทำวิจัย เขาไม่ได้ทำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จริง ๆ ทำให้เด็กไม่สามารถเห็นจุดบอดการบังคับใช้กฎหมายในสังคมเราจริง ๆ การพยายามดีไซน์หลักสูตร แต่ไม่มีการคำนึงว่าจะสอนนิติศาสตร์อย่างไรให้สอดพ้องกับสังคม หรือแม้แต่การเอาเหยื่อ CSO มาคุย ยังไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวหลักสูตร รวมถึงการทำวิจัยเชิงบูรณาการที่มีเครื่องมือวิจัยหลากหลาย”
ด้าน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ผู้มีประสบการณ์ตรงในสายงานตำรวจ ได้กล่าวถึง การเป็นนักกฎหมายที่เข้าไปทำงานในสายงานของตำรวจ จากที่เคยภูมิใจกับวิชานิติศาสตร์ โดยเฉพาะปรัชญา เช่น จงประสาทความยุติธรรมแม้ฟ้าจะถล่ม การพิสูจน์ความผิดทางอาญาต้องกระจ่างแจ้งดั่งแสงตะวัน นั้น พอได้ทำงานเป็นตำรวจแล้วกลับมองเห็นสิ่งที่มันตรงกันข้าม เพราะตำรวจอยู่ภายใต้อำนาจที่เป็นระบบเผด็จการ เพราะตำรวจไทยมีชั้นยศแบบทหาร มีบังคับบัญชา แบบเดียวกับกองทัพบก ทำตามคำสั่งนาย ตามบังคับบัญชา
เพราะระบบตำรวจเป็นระบบที่ปกครองตามสายชั้นยศ กระบวนการทางกฎหมายและอาญาที่สำคัญ ทุกคนก็มองไปที่ศาล อัยการ แต่สำคัญที่สุดคือกระบวนการสอบสวน ศาลและอัยการในทัศนะ พ.ต.อ.วิรุตม์ เป็นเพียงเครื่องมือในการเอาคนจนเข้าคุก
อ.ขรรค์เพชร ชายทวีป คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวทางการสร้างนักศึกษาวิชากฎหมายให้เป็นนักกฎหมายที่ดีว่า ต้องมีกระบวนการในการปฏิรูปการเรียนการสอนกฎหมาย คือ อาจารย์ก็จำว่าก่อนหน้านี้เขาสอนอะไร เพื่อพัฒนาหาจุดอ่อน จุดแข็ง ในการพัฒนาอาจจะต้องปรับตัวากการเป็นครูผู้สอนมาเป็น facilitator ชวนคิด ชวนคุย ผมคิดว่าเราควรจะกลับมาดูวิชานิติศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนกฎหมาย วิชาหนึ่งที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้บรรจุอยู่ในหลักสูตรคือการศึกษากฎหมายเชิงคลินิก โดยให้นักศึกษาไปเจอเคสจริง เพื่อมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในวิชานี้มันไม่ได้ถูกพัฒนาให้มันเป็นการเรียนการสอน
หลังจากเสร็จสิ้นการนำเสนอเพื่อระดมความคิด ผศ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ในฐานะกล่าวทิ้งท้ายโดยสรุปว่า “วันนี้ได้ประโยชน์มาก เพราะเป็นครั้งแรกที่คณบดีนิติศาสตร์จำนวนมากเข้ามาคุยกัน รวมทั้งคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง ซึ่งผมก็เข้าใจ ว่าโจทย์เราถามว่าสาเหตุจากการเรียนการสอนมากจากวิชากฎหมายหรือไม่ จริง ๆ สาเหตุน่าจะไม่ใช่การเรียนการสอนจากมหาวิทยาลัย หรือมันเป็นเพียงส่วนหนึ่ง วันนี้เราได้เห็นนวัตกรรม การเรียนการสอนใหม่ จากคณะนิติศาสตร์ และก็เป็นความหวังว่า มันจะทำให้สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองสิทธิของประชาชน มันเกิดขึ้นในแง่การเมืองการปกครอง และกระบวนการยุติธรรม”