พงส.ผูกคอตายอีกราย หลังรองผกก.สอบสวนสภ.ช้างกลาง พึ่งยิงตัวเอง เหตุเบื่อสอบสวน
เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2564 เวลาประมาณ 12.15 พ.ต.ต.ธราเทพ จันทดิษฐ์พนักงานสอบสวนเวร ได้รับแจ้งเหตุมีตำรวจผูกคอตายที่บ้านพักหลัง สภ.เมือง ต.แม่กลอง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม จึงเดินทางไปตรวจที่เกิดเหตุ พบศพ ร.ต.ท.เด่น ปรักเอโก อายุ 47 ปี รอง สว.สอบสวน สภ.เมืองสมุทรสงคราม ในสภาพผูกคอตายอยู่ในบ้านพัก โดยใช้ผ้าเช็ดตัวผูกที่ใต้บันได จึงร่วมกับแพทย์และพิสูจน์หลักฐานจังหวัดสมุทรสงคราม ทำการชันสูตรพลิกศพต่อไป!
ผู้ใกล้ชิดให้ข้อมูลว่า ร.ต.ท.เด่นฯ เดิมเป็นตำรวจที่ อ.นางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และพึ่งสอบเป็นตำรวจชั้นสัญญาบัตรถูกบรรจุแต่งตั้งในตำแหน่ง รอง สว.สอบสวน ที่ สภ.อ. เมืองสมุทรสงครามเมื่อสามสี่เดือนที่ผ่านมา โดยไม่เคยรับราชการในพื้นที่ละแวกนี้มาก่อนเลย ทำให้ไม่รู้จักใครและอยู่เพียงลำพัง ภรรยาและครอบครัวไม่ได้ตามมาอยู่ด้วย ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อการดำรงชีวิตสร้างความเครียดให้ ร.ต.ท.เด่นฯ เป็นอย่างมาก
ส่วนสาเหตุการฆ่าตัวตายนั้น คาดว่านอกจากการถูกบรรจุแต่งตั้งในพื้นที่ห่างไกลภูมิลำเนาเดิมอย่างมาก ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตครอบครัวแล้ว ร.ต.ท.เด่นฯ ยังประสบปัญหาความไม่ถนัดในการทำงานสอบสวนที่ตนไม่เคยทำมาก่อน และพึ่งรู้ว่าไม่เหมาะกับตัวเองเมื่อได้รับการแต่งตั้ง ซึ่งเกรงว่าอาจก่อให้เกิดปัญหาความผิดพลาดเสียหายขึ้นได้มากมาย ทำให้มองไม่เห็นอนาคตและความเจริญก้าวหน้าในชีวิตราชการ เพราะรู้ดีว่า การจะขอเปลี่ยนสายงานหรือขอย้ายกลับภูมิลำเนาไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ง่ายๆ ทำให้ร.ต.ท.เด่น ตัดสินใจผูกคอตายในที่สุด
ก่อนหน้านั้นวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา พ.ต.ท.วีรพล บุญยัง รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช อายุ 54 ปี ก็ได้พยายามฆ่าตัวตายโดยใช้อาวุธปืนยิงบริเวณขมับในสวนผลไม้หลังบ้านเลขที่ 3 หมู่ 1 ต.นาเขลียง อ.ฉวาง จว.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นบ้านพักของ พ.ต.ท.วีรพลฯ เอง อาการโคม่า อยู่ได้โดยใช้เครื่องช่วยหายใจที่ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก “ความเบื่อหน่ายต่อระบบงานสอบสวน” เช่นกัน
ทั้งนี้ทุกครั้งทีพนักงานสอบสวนฆ่าตัวตาย ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติมักจะอ้างว่ามาจากสาเหตุส่วนตัวหรือปัญหาภายในครอบครัว
ที่ผ่านมาได้เกิดเหตุพนักงานสอบสวนระดับต่างๆ ฆ่าตัวตายกันเป็นจำนวนมาก นับได้กว่าสิบคนแค่ในช่วงเวลาเพียง5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีความประพฤติดีเป็นที่รักใคร่ชื่นชมของประชาชนด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา “หัวหน้าคณะปฏิวัติ” หรือ คสช. ได้ออกคำสั่งที่ 7/2559 ยุบสายงานและตำแหน่งพนักงานสอบสวนทั่วประเทศลงทั้งหมด “ตามการเสนอของ ผบ.ตร.” ขณะนั้น ส่งผลนอกจากจะทำให้ความเจริญก้าวหน้าของตำรวจในสายงานสอบสวนที่มีอยู่ระดับหนึ่งได้หายไปในเวลาชั่วข้ามคืนแล้ว ยังทำให้ประสบปัญหาขาดความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายยิ่งกว่าเดิมด้วย
แต่ละคนอยู่ในสภาพต้องจำใจต้องสอบสวนโดยขัดต่อมโนธรรมของตน ต้องสอบปากคำหรือรวบรวมพยานหลักฐานตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มียศสูงกว่า ซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธี “สั่งด้วยวาจา” เพื่อไม่ให้ปรากฎหลักฐานความรับผิดชอบใดๆ ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม!
ตัวอย่างเช่น การสอบสวนที่มิชอบใน ‘คดีบอส’ และคดีอื่นๆ อีกมากมาย
รวมทั้งการสั่งไม่ให้รับคำร้องทุกข์จากประชาชน “ออกเลขคดีอาญาบันทึกเข้าสารบบ” โดยง่าย เพื่อลดสถิติคดีอาชญากรรมในหน่วยตำรวจทุกระดับ ทำให้เห็นว่า หัวหน้าสถานีและหัวหน้าหน่วยทุกระดับทำงานป้องกันอาชญากรรมได้ผลตามตัวชี้วัดที่รัฐบาลกำหนด! โดยตัวพนักงานสอบสวนเองต้องรับความเสี่ยงต่อความผิดอาญาข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ ป.ป.ช.เคยวินิจฉัยไว้ และมีบางคนก็ถูกศาลพิพากษาจำคุกไปแล้ว! สร้างความเครียดให้เกิดขึ้นต่อพนักงานสอบสวนโดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้า “เข้าเวร” ประจำสถานีมากขึ้นทุกวัน
ซึ่งปัญหาสำคัญที่กระทบต่อระบบความยุติธรรมของประเทศอย่างร้ายแรงนี้ ทั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐสภาไม่ว่าจะเป็นสส. สว. หรือกรรมาธิการคณะใดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กมธ.ตำรวจ รวมทั้ง กมธ.กฎหมายและการยุติธรรม ก็ยังไม่ได้มีความคิดหรือความเคลื่อนไหวในการแก้ไขและปฏิรูปอย่างจริงจังแต่อย่างใด?