ลุงพล ‘ฆ่า’ น้องชมพู่ จริงหรือไม่? -พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ลุงพล ‘ฆ่า’ น้องชมพู่จริงหรือไม่?
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
กรณีน้องชมพู่ เด็กหญิงอายุ 3 ขวบเศษ ได้หายไปจากบ้านพักอาศัยในหมู่บ้านกกกอก ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 63 และพบเป็นศพนอนตายอยู่บนภูหินเหล็กไฟในช่วงหัวค่ำของวันที่ 14 เดือนเดียวกัน ห่างจากบ้านไปประมาณ 5 กม.
ซึ่งถือเป็นกรณีที่ ท้าทายประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมอาญาไทย อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนนั้น
จากสภาพศพซึ่งพบว่า เสื้อผ้าได้ถูกถอดออกทั้งหมด! ได้ทำให้ผู้คนและตำรวจทุกคนที่ช่วยกันเดินค้นหา คิดและเข้าใจในทันทีว่า
น่าจะถูกคนร้ายใจอำมหิตพาขึ้นมาละเมิดทางเพศแล้วทำให้ตายในลักษณะหนึ่งลักษณะใด ทิ้งศพอำพรางไว้บนเขาหินเหล็กไฟ ณ จุดนั้น
ถือเป็นคดีสะเทือนขวัญประชาชน โดยได้มี ตำรวจผู้ใหญ่หลายคนแม้กระทั่งจากกรุงเทพฯ ไปตรวจที่เกิดเหตุ
พร้อมประกาศก้องว่า จะต้องจับตัวคนร้ายให้ได้! ไม่งั้นไม่กลับ
แต่หลังการตรวจชันสูตรศพของโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี กลับรายงานว่า
ไม่ปรากฏร่องรอยของการถูกทำร้ายหรือมีผู้กระทำให้ตายแต่อย่างใด? ส่วนข้อสันนิษฐานสาเหตุการตายก็คือ “น่าจะเกิดจากการขาดน้ำ”
แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากสภาพศพได้เริ่มเน่าและเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว
ส่งผลทำให้ การสอบสวนคดีอุกฉกรรจ์ฆ่าคนตาย เดินต่อไปไม่ได้!
เกิดปัญหาเรื่องตำรวจผู้ใหญ่หลายคนประกาศไปแล้วว่า “ต้องจับคนร้ายให้ได้” จะสรุปสำนวนการสอบสวนคดีที่มีผู้คนสนใจกันมากมายนี้อย่างไร?
นำไปสู่การตั้งข้อสงสัยว่า การตรวจของโรงพยาบาลศูนย์จังหวัดอุบลราชธานี น่าจะมีปัญหา! ไม่น่าเชื่อถือ?
เป็นเหตุให้มีการส่งศพไป ตรวจพิสูจน์ใหม่ที่สถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ
ผลการตรวจครั้งนี้ กลับมีการรายงานว่า “พบบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ”!
เป็นรายงานสำคัญที่ทำให้ผู้คนทั้งประเทศรวมทั้งพ่อแม่ของน้องชมพู่เข้าใจว่า น้องถูกคนร้ายล่วงละเมิดแล้วนำขึ้นไปปล่อยทิ้งไว้ให้ตายบนภูเขานั้นอย่างแน่นอน
หลังจากที่ก่อนนั้นไม่แน่ใจว่าจะเป็นการเดินตามสุนัขขึ้นไปเองหรือไม่?
ปัญหาว่าใครคือคนร้ายที่อาจเรียกได้ว่า “บ้ากาม” คนนั้น เป็นอันตรายต่อผู้คนทั้งในและนอกหมู่บ้านอย่างยิ่ง
ได้มีการตั้งข้อสงสัยไปยังคนนั้นคนนี้ ญาติพี่น้องลุงป้าน้าอาหรือแม้แต่พ่อแม่ของน้องชมพู่เอง!
ปัญหาเรื่องที่ว่า เหตุใดการตรวจของโรงพยาบาลจังหวัดอุบลฯ ครั้งแรกจึงไม่พบบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศเช่นการตรวจของแพทย์สถาบันนิติเวชตำรวจ
ทำให้ได้มีการเชิญทั้งสองสถาบันมาชี้แจงข้อเท็จจริงในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมฯ สภาผู้แทนราษฎรในเวลาต่อมา
ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเป็น หัวหน้างานนิติเวช โรงพยาบาลจังหวัดอุบลราชธานี ชี้แจงว่า ได้ทำการตรวจตามหลักวิชาการแพทย์อย่างละเอียดถี่ถ้วน และยืนยันผลการตรวจเป็นไปตามรายงานนั้นอย่างแน่นอน
แต่เมื่อหันไปถาม แพทย์นิติเวชตำรวจ ผู้ทำหน้าที่ผ่าตรวจพิสูจน์ครั้งที่สองว่า
เหตุใดจึงรายงานว่า “พบบาดแผลบริเวณอวัยวะเพศ” พบอะไร มีความหมายอย่างไร?
แพทย์ตำรวจยศร้อยตำรวจเอกคนนั้น กลับ ชี้แจงอย่างละล่ำละลัก ว่า ไม่ได้หมายถึงบาดแผลจากการถูกกระทำล่วงละเมิดแต่อย่างใด!
หากแต่ “เป็นแผลที่เกิดจากการผ่าตรวจพิสูจน์ครั้งแรก!” ต่างหาก
ทำเอาทุกคนที่ได้ยินได้ฟังในที่ประชุม กมธ.กฎหมายฯ นั้นหงายเงิบไปตามๆ กัน!
แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ ผู้คนส่วนใหญ่ได้เชื่อว่าน้องชมพู่ถูกละเมิดทางเพศและนำไปปล่อยทิ้งไว้ให้ตายบนเขาหินเหล็กไฟไปแล้ว แต่ตำรวจกลับหาพยานหลักฐานที่จะนำไปสู่การแจ้งข้อหาฆ่าคนตายจับใครมาดำเนินคดีไม่ได้
วิธีสุดท้ายในการจำหน่ายคดีสำคัญที่ค้างคาอยู่นานนับปีนี้ออกจากสารบบก็คือ
จับใครเป็นผู้ต้องหาสักคนด้วยข้อหาอะไรก็ได้!
“ลุงพล” คือ “ผู้ต้องสงสัยคนสำคัญ” ในหมู่บ้านนั้นตามคำให้การของคนที่มีปัญหากับเขาหลายคน
การสืบสอบหาตัวคนร้ายที่เชื่อว่าเกี่ยวข้องกับการตายของน้องชมพู่คดีนี้ ได้มีการใช้ตำรวจจากหลายหน่วยและเทคนิควิทยาการสมัยใหม่สารพัดมากมาย รวมไปถึงการเข้าไปค้นบ้านเขาโดยไม่มีหมายค้นซึ่งลุงพลเคยบ่นเรื่องนี้ให้คนใกล้ชิดฟังด้วย!
แต่ก็ไม่สามารถหาพยานหลักฐานอะไรมายืนยันไปถึงใครได้ว่า เป็นผู้พาน้องชมพู่ขึ้นไปบนภูเขาและปล่อยทิ้งไว้ให้ตาย
ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นการกระทำความผิดข้อหา “ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา” ไม่ว่าจะเป็นการประสงค์ต่อผลหรือ “ย่อมเล็งเห็นผล” ก็ตาม
แต่น่าประหลาดที่ผลสุดท้ายที่ได้มีการเสนอศาลออกหมายจับลุงพล กลับมีข้อหาเพียง “พรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง” ตามกฎหมายอาญามาตรา 317
คือ “พาน้องไปเที่ยวป่าละเมาะใกล้บ้าน” โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพ่อแม่เท่านั้น
ปัญหาก็คือ ตามคำร้องขอฝากขังของตำรวจที่ระบุว่า ลุงพลมาพาน้องจากบ้านพักไปในตอนเช้าเวลา ประมาณ 09.00 น. แล้ว เอาตัวไปซ่อนไว้ชายป่าริมหมู่บ้าน!
หลังจากนั้น ช่วงบ่ายประมาณ 14.00 น. เมื่อขับรถกลับจากรับพระแล้ว ก็กลับมาพาหรือ อุ้มน้องซึ่งอาจหมดสติ หรือ “นั่งตากแดดรออยู่” ขึ้นไปทิ้งไว้บนเขาหินเหล็กไฟจนถึงแก่ความตายด้วยอาการขาดน้ำในอีกสามวันต่อมา
ในขณะที่ “ตาชาญ” ตาแท้ๆ คือ พ่อของแม่น้องชมพู่ก็พูดออกสื่อเป็นหลักฐาน ชัดเจนว่า
ตอนเช้า ขณะที่ตนและทุกคนแม้กระทั่งแม่ชมพู่รวมทั้ง “ลุงพล” กำลังกรีดยางอยู่ในสวนใกล้บ้าน
“สดิ้ง” หรือพี่สาว โทรศัพท์ไปบอกว่า “น้องได้หายไป” ทุกคนจึงได้รีบกลับมาอาบน้ำและช่วยกันไปเดินค้นหา
“ตาชาญ” จึงถือเป็น “ประจักษ์พยาน” สำคัญในการยืนยันที่อยู่ของ “ลุงพล” ขณะที่น้องชมพู่หาย
ตาจึงไม่เข้าใจว่า ตำรวจกล่าวหาและไปเสนอศาลออกหมายจับลุงพลด้วยข้อหา “พรากเด็ก” ด้วยพยานหลักฐานอะไร?
อีกทั้ง เมื่อลุงพลพยายามจะมอบตัวกับตำรวจไม่ว่าระดับใด “เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ” จะได้ไม่ถูกกล่าวหาว่าหนี มีการจับตัวใส่กุญแจมือให้สื่อถ่ายภาพทำข่าวกันเอิกเกริก!
และจะทำให้ตำรวจไม่มีอำนาจควบคุมตัวไว้ ต้องปล่อยไปทันทีที่การสอบปากคำเสร็จสิ้น ก็ไม่สามารถทำได้
แม้กระทั่งการยอมอดหลับอดนอนเดินทางค้างคืนในรถไปปรากฏตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ!
ตำรวจผู้ใหญ่ได้แต่อ้างว่า ถ้ามีหมายจับแล้ว ต้องจับตัวใส่กุญแจมืออย่างเดียว ไม่สามารถรับมอบตัวได้ ไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น!
จริงหรือไม่?
การกระทำอย่างป่าเถื่อน ที่เป็นเหตุให้ลุงพลได้รับความเสียหายทั้งร่างกายและจิตใจอย่างร้ายแรงเช่นนี้ เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำตามหลักการกระบวนการยุติธรรมสากลหรือไม่?
และเหตุใด ถ้ามีหลักฐานชัดว่าลุงพลเป็นผู้เดินนำหรืออุ้มน้องขึ้นไปปล่อยทิ้งไว้ให้ตาย แล้วหลังจากนั้นก็ยังได้ไปตัดผมน้องแก้เคล็ด ถือเป็น “หลักฐานเด็ด” ของตำรวจอีกชิ้นหนึ่ง
แล้วทำไม ตำรวจผู้ใหญ่ซึ่งเป็น “พนักงานสอบสวนผู้ไม่รับผิดชอบ” จึงไม่สั่งให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบแจ้งข้อหา “ฆ่าคนตายโดยเจตนา” ให้ตรงข้อเท็จจริงแห่งการกระทำนั้น?
จะได้หมดปัญหาที่ประชาชนสงสัยข้องใจว่า “ลุงพล” เป็นคนฆ่าน้องชมพู่จริงหรือไม่ และช่วยอธิบายด้วยว่า มีมูลเหตุจูงใจเพื่ออะไร?