กระบวนการยุติธรรมวิปริต ไม่ผิด ก็ติดคุก หรือถูกปรับได้!-พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
กระบวนการยุติธรรมวิปริตไม่ผิด ก็ติดคุก หรือถูกปรับได้!
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
สถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ของไทยในรอบที่สองหรือสาม ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจาก การทุจริตและไร้ประสิทธิภาพของระบบตำรวจ หรืองานรักษากฎหมายของชาติ จนทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องสิ้นเนื้อประดาตัว และบางคนก็เจ็บป่วยหรือล้มตายกันเป็นใบไม้ร่วงในครั้งนี้
อาจเป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะได้ กดดันต่อผู้มีอำนาจ ให้เร่งกวาดล้างสิ่งสกปรกโสมมที่สะสมอยู่ในองค์กรตำรวจมาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ เสียที
ไม่มีผู้มีอำนาจหรือใครมีเหตุผลที่จะพูดโน่นนี่เพื่อหน่วงรั้งการเปลี่ยนแปลง หรือปฏิรูประบบตำรวจที่เต็มไปด้วยการทุจริตและความไร้ประสิทธิภาพ ฉ้อฉล อีกทั้งสิ้นเปลืองเงินภาษีของประชาชนมากมายไว้เช่นเดิมอีกต่อไป
ตำรวจหน่วยใดที่ไม่มีประโยชน์หรือไม่จำเป็น เช่น ตำรวจภาค และหน่วยพิเศษที่ทำงานซ้ำซ้อนกับพื้นที่อีกมากมาย ในอนาคตต้องยุบลง!
การปฏิรูปคงไม่ใช่เพียงแค่กำหนดหลักเกณฑ์การแต่งตั้งและโยกย้ายป้องกันมิให้มีการซื้อขายตำแหน่ง หรือแต่งตั้งคณะกรรมการรับเรื่องร้องทุกข์จากตำรวจ และรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเช่นที่กำลังทำอยู่ขณะนี้เท่านั้น
ระบบงานสอบสวนก็ต้องได้รับการปฏิรูปกันครั้งใหญ่ สร้างสายงานให้ผู้ปฏิบัติมีความเจริญก้าวหน้าเฉพาะในสาย สร้างหลักประกันมิให้ถูกกลั่นแกล้งแต่งตั้งโยกย้ายโดยไม่สมัครใจ เพื่อให้มีอิสระในการรวบรวมพยานหลักฐานและการใช้ดุลยพินิจทางคดีตามกฎหมายในมาตรฐานที่กำหนดและตรวจสอบได้
อัยการและนายอำเภอฝ่ายปกครองก็ต้องได้รับรายงานเหตุร้ายในคดีฆ่าคนตาย พร้อมกับตำรวจและเจ้าพนักงานนิติเวช ทั้งสี่ฝ่ายร่วมตรวจสถานที่เกิดเหตุรู้เห็นการรวบรวมพยานหลักฐานพร้อมกัน
กำหนดให้มี ระบบบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำบุคคลทั้งผู้กล่าวหา ผู้ต้องหา และพยาน
ป้องกัน “การสอบสวนทำลายพยานหลักฐาน” ไม่ว่าจะเป็นการกระทำด้วยตนเองหรือ “ถูกสั่งให้ทำ”!รวมทั้งแก้ปัญหา “ที่ผู้ต้องหาและพยานอยากพูด แต่ไม่ถาม”
หรือ “ที่พูดไม่จด ที่จดไม่ได้พูด” ส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรมเช่นปัจจุบัน
ขณะนี้มีผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ “ศาล” กันอย่างเสียหายมากมาย ในกรณีที่ ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาคดีอาญา ที่ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวเยาวชนและนักศึกษาจำนวนหนึ่งซึ่งเกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง
เกือบทั้งหมดเป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากชุมนุมเรียกร้องให้มี การเลือกตั้ง ส.ส.ร.เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อทำให้ประเทศได้มีความเจริญก้าวหน้าเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมครั้งใหญ่ ให้เกิดความยุติธรรมต่อประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนอย่างแท้จริง
แต่การชุมนุมโดยสงบและเรียกร้องต่างๆ ของผู้คนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ “เปิดช่องระบาย” ไว้ในสังคมไทย ปัจจุบันได้กลับกลายเป็นความผิดทางอาญาสารพัด!
ถูกตำรวจกล่าวหาแบบมั่วๆ “ออกหมายเรียก” ให้ไปพบเพื่อดำเนินคดี หรือมีการ “เสนอศาลออกหมายจับ” ตามกฎหมายหลายฉบับมากมาย
แต่ละคนถูก “ตำรวจไม่แต่งเครื่องแบบ” ถือหมาย “ไล่จับไล่ตะครุบตัว” อย่างป่าเถื่อนทั้งหญิงและชาย ณ ที่พักอาศัยรวมทั้งในที่สาธารณะต่างๆ
ขึ้นรถลึกลับรีบขับหนีญาติพี่น้องนำตัวไปคุมขังยังสถานที่ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ!
ข้อหามาตรฐานก็คือ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่ออกโดย สนช. หรือ สภาแต่งตั้ง หลังการปฏิวัติยึดอำนาจ พ.ร.บ.โบราณสถาน พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งข้อห้ามตามข้อกำหนดที่ออกโดย พ.ร.บ.โรคติดต่อในสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
ประชาชนทุกคนที่ถูกตำรวจจับกุม ไม่ว่าจะเป็นการกระทำผิดซึ่งหน้าข้อหาใด หรือเป็นการจับตามหมายที่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาล
ตามหลักกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ของไทยที่ได้ถูกปฏิรูปจาก “ระบบจารีตนครบาล” ที่ให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาคือผู้กระทำผิด!
ทุกคนต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองด้วยการ “ดำน้ำ” หรือ “ลุยไฟ” ให้ได้ตามมาตรฐานที่ทางราชการกำหนด!
ส่งผลให้ประชาชนในสมัยนั้นที่เป็นชนชั้นไพร่และทาสหลายคน ฝึกดำน้ำและลุยไฟเป็นการใหญ่ ซ้อมไว้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองหากมีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ถูกปฏิรูปให้สอดคล้องกับหลักคิดของกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่เป็น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ประชาชนทุกคนคือผู้บริสุทธิ์ หรือ Presumption of Innocence จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำผิด
หลังจากนั้น รัฐจึงมีสิทธิและอำนาจนำตัวประชาชนผู้กระทำผิดไปจองจำตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา
แต่ว่าระหว่างการถูกกล่าวหา ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการประกันตัวไปใช้ชีวิตเช่นคนปกติด้วยกันทั้งสิ้น
เว้นแต่จะมีเหตุที่หากปล่อยไปแล้วจะเกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดี หรือมีอันตรายต่อบุคคลอย่างหนึ่งอย่างใด
การไม่ปล่อยตัวชั่วคราวจึงถือเป็นข้อยกเว้นด้วยเหตุจำเป็นดังกล่าว ต่อมาหลังการปฏิวัติประชาธิปไตยในปี พ.ศ.๒๔๗๗ ได้มีการตราประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติในมาตรา ๑๐๘/๑ ว่า
ถ้าบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือถูกจับนั้นไม่มี ๑.พฤติการณ์จะหลบหนี หรือ ๒.จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือ ๓.จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรือ ๔.จะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือการดำเนินคดีในศาล
พนักงานสอบสวนและศาลต้องอนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวบุคคลนั้น ทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้นหรือเหตุผลอื่นใดให้นำมาอ้างทั้งสิ้น
ปัญหาการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวกลุ่มประชาชนและนักศึกษาที่ต่อสู้เรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยให้แก่ชาติและประชาชนทุกคน
ปัจจุบันศาลได้อ้าง เหตุผลที่สุดคลุมเครือ ว่า “จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น”?
ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “อันตราย” หมายถึง “เหตุที่อาจทำให้ถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บ” ได้ หากปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยคนใดไปแล้วจะไปทำให้ใครถึงตายหรือบาดเจ็บได้ นั่นคือความหมายแท้จริงของคำว่า “อันตราย”
คงไม่ได้หมายรวมถึง การที่คิดว่าบุคคลนั้นจะไปกระทำผิดหรือแสดงพฤติกรรมแบบเดิมอีก ซ้ำไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของบุคคลแต่อย่างใด?
การไม่อนุญาตให้ประกันไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวนหรือศาล โดยไม่มีเหตุชัดเจนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
ทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยคนนั้นต้อง “ติดคุกล่วงหน้า” โดยเฉพาะข้อหาค้ายาเสพติด ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอย่างไม่เป็นธรรมกันมากมายหลายหมื่นคน!
และในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
ก็ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าพนักงานของรัฐคนใดไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ หรือศาล ต้องรับผิดชอบอะไรต่อความเสียหายทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ต้องหาหรือจำเลยคนนั้นกันแต่อย่างใดทั้งสิ้น?
เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ไม่ได้ทำผิด ก็มีสิทธิ์ติดคุกได้”!
รวมทั้งในกรณีที่ผู้ต้องหายอมชำระค่าปรับโดยไม่ได้กระทำผิดก็อีกมากมาย โดยหวังเพื่อให้คดีอาญาจบๆ ไป โดยเฉพาะในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก
แม้กระทั่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา “นายกรัฐมนตรี” ก็ยังรับสารภาพกับตำรวจที่บุกไปถึงทำเนียบฯ เพื่อกล่าวหาว่าไม่สวมหน้ากากอนามัยตามที่ กทม.ออกข้อกำหนดบังคับไว้
โดยยอมชำระค่าปรับ ๖,๐๐๐ บาทแต่โดยดี ทั้งที่ไม่ได้กระทำผิดแต่อย่างใด?
เนื่องจากเป็นข้อกำหนดที่เพิ่งออกใหม่ๆ และนายกรัฐมนตรีก็ไม่รู้ว่าสถานที่นั้นต้องสวมใส่ตลอดเวลาด้วยหรือไม่?
ถือว่า “ขาดเจตนาฝ่าฝืน” อันเป็นหลักพื้นฐานของการกระทำความผิดทางอาญาในทุกข้อหาตามมาตรา ๕๙
คือ “ต้องรู้สำนึกในการกระทำ และประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น”
เว้นแต่เฉพาะที่เป็น “ความผิดลหุโทษ” ตามกฎหมายอาญา หรือว่ามีบทบัญญัติให้ต้องรับผิดแม้กระทำโดยไม่มีเจตนา เช่น การกระทำโดยประมาท เท่านั้น.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 3 พ.ค. 2564