ให้นายพลตร.ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ สุดท้ายได้ ‘ปฏิลวง’ ขัดรัฐธรรมนูญ!
ให้นายพล ตร.ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ สุดท้ายได้ “ปฏิลวง” ขัดรัฐธรรมนูญ!
พันตำรวจเอกวิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร
ปัญหา ความเน่าเฟะ ในวงการตำรวจที่สร้างความเดือดร้อนทั้งต่อ ตำรวจผู้น้อย และ ประชาชนโดยเฉพาะคนยากจน เป็นการทำร้ายและทำลายสังคมไทยในหลายรูปแบบอย่างย่อยยับ มาอย่างยาวนาน!
เพียงแต่ได้ปรากฏ เป็นข่าวเน่าเหม็นขึ้นมาเป็นระยะถี่ๆ ขณะนี้ ก็เนื่องจากได้มีการตรวจสอบจากองค์กรอื่นหลายฝ่ายอย่างจริงจังมากขึ้นเป็นสำคัญ
ปัญหาเริ่มตั้งแต่ ตำรวจผู้ใหญ่ชั้นนายพล รู้เห็นเป็นใจให้มีการเปิด บ่อนการพนัน และ ตู้ม้า ล่าเงินเด็กและคนยากจน เพื่อไป ส่งส่วยสินบนให้ตน ขึ้นทั่วบ้านทั่วเมือง
ในขณะที่ปากก็ ทั้งพูดและโฆษณา ว่าตนเป็นคน รักเด็ก และ ขยันจัดกิจกรรมงานวันเด็กและเทศกาลต่างๆ สารพัด แจกของขวัญของกำนัลที่รีดมาจาก พวกธุรกิจสีเทาเจ้าประจำ แทบทุกปี!
เฉพาะตู้ม้าที่ตั้ง วางไว้ในที่ต่างๆ เพื่อล่าค่าอาหารเด็ก “มานานหลายปี” ประมาณกันว่าทั่วไทยไม่น่าจะน้อยกว่าสองถึงสามหมื่นตู้!
แต่หลังจากสถานการณ์โควิดรอบสอง ทำให้ถูก ฝ่ายสาธารณสุขชี้หน้าว่า บ่อนพนันหลายแห่งคือตัวการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่ส่งผลทำให้รัฐบาลต้องปิดเมืองและกิจการหลายประเภท เศรษฐกิจของประเทศต้องทรุดตัวย่ำแย่ไปอีกยาว ชาวบ้านด่าทั้งผู้นำตำรวจและตัวนายกฯ กันระงม
น่าจะทำให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เริ่มตื่นจากภวังค์!
หลังเกิดอาการงุนงงมาแสนนานด้วย “คำเท็จสารพัด” ของตำรวจผู้ใหญ่หลายระดับ
“คำเท็จ” เหล่านี้ก็เช่น ตัวชี้วัดการทำงานของตำรวจทุกหน่วย บรรลุเป้าทุกมิติ!
ตำรวจไทยมีปัญหาเงินเดือนน้อย แก้ยาก เครื่องมือและงบประมาณขาด บางแห่งจึงจำเป็นต้องปล่อยให้มีบ่อนอบายมุขเพื่อให้ตำรวจผู้น้อยหาเงินมาทำราชการ ฯลฯ!
แต่เมื่อเริ่มหายงงแล้ว นายกฯ จึงได้เริ่ม สั่งการให้ ผบ.ตร. ดำเนินการกวาดล้างปัญหาแหล่งอบายมุขต่างๆ อย่างจริงจัง
โดยดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการสั่งให้ ผบก.และ ผบช.ตร. ผู้รับผิดชอบไปปฏิบัติราชการใน สุสานตำรวจ หรือที่เรียกว่า ศปก.ต่างๆ
ส่งผลทำให้ปัจจุบันบ่อนการพนันทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ ส่งสัญญาณปิดเทอมใหญ่ กันเป็นแถว
ขณะนี้ แม้กระทั่ง หวยปิงปองและจับยี่กี ที่เคยมีอยู่เกลื่อนกลาดตามตรอกซอกซอยโดยเฉพาะย่านฝั่งธนบุรี ก็ยังไม่มีโต๊ะและกระดานให้เห็นเช่นเดิม!
ก็ไหนใครว่า การเล่นพนันเป็นนิสัยสันดานดั้งเดิมของคนไทย ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติไหนก็แก้ไม่ได้มิใช่หรือ?
แล้วเหตุใดช่วงนี้จึงหายวับไปได้ในเวลาชั่วข้ามคืนเท่านั้นเล่า!
ความเน่าเหม็นสุดอับอาย ก็ในกรณีที่มี ผกก.หัวหน้าสถานี จังหวัดนครราชสีมาพร้อมพวกตำรวจอีกห้าหกคน ปล่อยให้ รถขนตู้ม้าสี่คัน รวมกว่า 416 ตู้ ที่รวมจากพื้นที่ตำรวจภูธรภาค 2 เดินทางออกไปจากปั๊มน้ำมันใหญ่ในจังหวัด
โดยมีตำรวจคนหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นผู้ได้รับมอบหมายหรือ คำสั่งจากใคร ให้ขับรถนำขบวนพาสิ่งผิดกฎหมายจำนวนมากเหล่านี้ไปแอบซ่อนไว้ในโกดังลับที่จังหวัดขอนแก่น!
ผบก.ตชด.เขตอีกคน ก็ไม่น้อยหน้า หลังจากไปรับตำแหน่งใหม่ได้ไม่กี่วัน ก็เรียกประชุมประจำเดือน ผบ.ร้อย และ ผกก. ขอส่วยรายเดือน หน่วยละ 10,000–50,000 บาท เพื่อให้ทัดเทียมหน่วยอื่นบ้าง!
ในวงการตำรวจภูธรและนครบาลเขาซาบซึ้งปัญหานี้มานานแล้ว ต่างเรียก การประชุมประจำเดือน ของหน่วยตำรวจหลายแห่งว่า ประชุมรอซอง!
ขอย้ำอีกครั้งว่าเหตุผลหนึ่งซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. สั่งกำลังทหารเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลขณะนั้นเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 นอกจากบอกว่าเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น และทำให้การบริหารแผ่นดินสามารถได้เดินต่อไปแล้ว
ก็บอกอีกว่า จะปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะเรื่องตำรวจ ที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเลยก็ว่าได้
เริ่มตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้มีการจัดตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ขึ้นดำเนินการ
สุดท้าย ศาสตราจารย์ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ ในฐานะ ประธาน สปช. ได้จัดทำรายงานการปฏิรูปตำรวจเมื่อประมาณ ต้นเดือนตุลาคม 2558 เสนอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการ
มีสาระสำคัญให้โอนตำรวจเฉพาะทาง 12 หน่วย ได้แก่ ตำรวจทางหลวง ตำรวจจราจร ตำรวจน้ำ ตำรวจป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ ตำรวจคุ้มครองผู้บริโภค ตำรวจเศรษฐกิจ ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตำรวจปราบปรามการค้ามนุษย์ ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจรถไฟ ฯลฯ ไปให้กระทรวงทบวงกรมที่รับผิดชอบ
ทำให้ตำรวจบางส่วน เป็นระบบพลเรือน ไม่มียศแบบทหาร กระจายไปทำหน้าที่ในทุกหน่วยงานภายใต้การบังคับบัญชาของหัวหน้าหน่วยนั้นตามหลักสากลเช่นเดียวกันกับประเทศที่เจริญทั่วโลก
ประหยัดงบประมาณในการบริหารและการอบรม รวมทั้งลดสายการบังคับบัญชา
เป็นตำรวจผู้รักษากฎหมาย ไม่ต้องไป ฝึกกระโดดร่ม อะไรโดยไม่จำเป็น เสียทั้งงบประมาณและเวลา
รวมทั้ง ตำรวจไม่มียศก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มากกว่า!
นายกรัฐมนตรีก็ได้รีบนำรายงานนั้นเข้า ครม.พิจารณา ให้ความเห็นชอบแทบจะในวันรุ่งขึ้นทันที
และต่อมาเลขาธิการ ครม.ก็ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ส่งให้ ผบ.ตร.รวมทั้งกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินการ กำชับไว้ ให้รายงานผลความคืบหน้าโดยเร็ว
แต่จนกระทั่งบัดนี้ เวลาผ่านมากว่าห้าปี ก็ยังไม่มีใครได้ยินความเคลื่อนไหวของหน่วยตำรวจในการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีนั้นกันแต่อย่างใด?
อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปตำรวจก็จำเป็นต้องเกิดขึ้นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้ทำเป็นกฎหมายเสร็จภายในหนึ่งปี
เงื่อนไขที่สำคัญก็คือ การแต่งตั้งและโยกย้ายตำรวจทุกตำแหน่ง ต้องคำนึงถึงอาวุโส
ปรากฏความอยู่ใน มาตรา 258 ง. การปฏิรูปด้านกระบวนการยุติธรรม (4) ดังนี้
“ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่า ข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน
ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้าย ต้องคำนึงถึงอาวุโส และความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
อันที่จริง ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฉบับมีชัยตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ยังไม่ได้ถือว่ามีการปฏิรูปอะไรให้สอดคล้องกับระบบตำรวจเช่นเดียวนานาอารยประเทศ ที่ล้วนเป็นหน่วยงานสังกัดจังหวัดแต่อย่างใด
แต่แค่ร่างฉบับมีชัยก็ยังทำให้พวกนายพลตำรวจรับไม่ได้ ไม่เห็นด้วยในแทบทุกประเด็น
ซ้ำได้มีการฉบับใหม่ขึ้น เสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยที่ได้ตัดหัวใจสำคัญของการปฏิรูปออกแทบหมดสิ้น
ไม่ว่าจะเป็น การยุติบทบาทตำรวจรับใช้นายพล ตร.ผู้ใหญ่ไปจนตาย!
การแบ่งระดับสถานีที่กำหนดไว้ สี่ระดับ ก็ทำแค่ สามระดับ เพื่อ ตำรวจในเครือข่ายอุปถัมภ์และลูกหลานนายพล จะได้มีเส้นทางเติบโตที่สั้นลง
การ แยกสายงานสอบสวนให้เป็นอิสระจากหัวหน้าสถานี ก็หายไป
ยังคงไว้ เพื่อให้อยู่ในสภาพ ทาสสอบสวน เช่นเดิม
เป็นการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริงหรือไม่?
ซึ่งถ้า ทั้งสองสภา เห็นชอบให้ผ่านไปทั้งในวาระแรกวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 นี้
และที่จะเดินในวาระต่อไปวันอื่นๆ
ก็จะได้แค่ ปฏิลวง
เป็นทั้ง การถ่วงเวลา และ ฆ่าตัดตอน ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจฉบับมีชัยตามรัฐธรรมนูญ!.
ที่มา: นสพ.ไทยโพสต์ คอลัมน์ เสียงประชาชนปฏิรูปตำรวจ: ฉบับวันที่ 8 ก.พ. 2564